แสงสว่างปลายอุโมงค์
มหากาพย์แห่งหายนะของบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC เดินมาถึงหัวโค้งสำคัญอีกครั้ง แม้ยังไม่ถึงบทอวสาน
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
มหากาพย์แห่งหายนะของบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC เดินมาถึงหัวโค้งสำคัญอีกครั้ง แม้ยังไม่ถึงบทอวสาน
ก้าวย่างสำคัญบ่ายวานนี้ จากคำสั่งของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ให้ขึ้นเครื่องหมาย SP พักการซื้อขายหุ้น IFEC ตั้งแต่ 1 มิถุนายนต่ออีก จนกว่าจะดำเนินการแต่งตั้งกรรรมการตรวจสอบให้ครบถ้วนภายในเวลาที่กำหนด ใน 3 เดือน โดยระบุว่า หากไม่สามารถตั้งได้ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2560 จะให้ IFEC เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน ตามข้อ 9(3) ของข้อบังคับตลาดฯ
คำสั่งดังกล่าว ถือเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่มีผลให้สถานการณ์ที่ดูสิ้นหวังเริ่มพบทางออกในอนาคตมากขึ้น แม้จะไม่ทั้งหมด
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวที่สำคัญที่ทำให้สถานการณ์ของ IFEC ไร้ทางออกอย่างยิ่ง เมื่อนายทวิช เตชะนาวากุล กรรมการ และผู้ถือหุ้นใหญ่ IFEC แถลงข่าวว่า เปิดเผยว่า ตนเองและกรรมการบริษัท รวมจำนวนทั้งสิ้น 4 ราย ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทของ IFEC ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา พร้อมกับเรียกร้องให้ “หมอวิชัย” หรือ นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ ลาออกจากตำแหน่งพร้อมกัน ด้วยเหตุผลว่าเพื่อ set zero หรือ ล้างไพ่ใหม่
การลาออกและข้อเรียกร้องดังกล่าว สะท้อนให้เห็นภาวะชะงักงัน ในลักษณะ “ชักตื้นติดกึก ชักลึกติดกัก” ของ IFEC อย่างแท้จริง หลังจากมีความพยายามต่อสู้เพื่อแย่งอำนาจการควบคุมบริษัทผ่าน “สงครามบอร์ดรูม” มานานกว่า 6 เดือนแล้ว นับแต่เดือนธันวาคม 2559
การลาออกของกลุ่มกรรมการทั้ง 4 คนของนายทวิช มีความสำคัญอะไรต่อ IFEC บ้าง?
คำตอบท้ายสุดคือ ไม่สำคัญอะไรเลย เพราะกรรมการชุดที่ลาออกนี้ จริงแล้ว ควรจะหมดวาระนานแล้วตั้งแต่มีการคัดเลือกกรรมการบริษัทชุดใหม่ เพียงแต่กรรมการชุดใหม่ ยังไม่ได้รับการรับรองจาก นายทะเบียนของบริษัทตามกฎหมายบริษัทมหาชน คือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เท่านั้นเอง เนื่องจากกระบวนการแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ถูกทักท้วงจากกลุ่มนายทวิชว่า ขัดต่อข้อกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียง ที่ระบุในบริคณห์สนธิของ IFEC เอง
พูดโดยสรุปง่ายๆ คือ เจตนาเพื่อให้บอร์ดของ IFEC อยู่ในสภาพ “เป็ดง่อย” ลงมติอะไรไม่ได้เลยเพราะขาดความชอบธรรม รวมทั้งการรับรองงบการเงิน ที่ยังไม่สามารถส่งงบงวดสิ้นปี 2559 ได้ ซึ่งจะเกิดผลต่อเนื่องถึงงบการเงินไตรมาสแรกและสองของปีนี้โดยปริยาย
การลาออกของกลุ่มนายทวิช ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลเพื่อความชอบธรรมอย่างไร ล้วนมีผลลัพธ์ที่ชัดเจนคือ กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย จะมีอนาคตในลักษณะ “ว่าวสายป่านขาด” ที่เคว้งคว้าง เพราะถูกทิ้งให้เผชิญกับชะตากรรมที่เลื่อนลอยในอนาคต อาจจะ 6 เดือน – 1 ปี โดยได้แต่มองตาปริบๆ เพราะไม่รู้ว่า ความเลวร้ายของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งยอดมูลหนี้สิน 8.5 พันล้านบาท ไปถึงไหนแล้ว
สงครามบอร์ดรูม ระหว่างกลุ่มหมอวิชัย ที่มีหุ้นในมือแค่ 2% แต่นั่งในตำแหน่งกรรมการ กับ กลุ่มผู้ถือหุ้นเกิน 10% (ที่ไม่ใช่รายใหญ่เบ็ดเสร็จ) อย่างนายทวิช ไม่ใช่คำตอบว่าฝ่ายใดจะชนะหรือแพ้ แต่ต้องการความชัดเจนว่าทิศทางในอนาคตของบริษัทมหาชนจดทะเบียน ที่มีนักลงทุนรายย่อยมากกว่า 2.8 หมื่นรายร่วมชะตากรรมนั้นไปสู่หนไหน
หากมองจากปรัชญาทุนนิยมเสรีสุดขั้ว เรื่องนี้จะต้องปล่อยไปตามกลไกธรรมชาติ แต่ภายใต้กติกาของทุนนิยมที่มีการจัดการเพราะมีกติกาที่ออกโดยหน่วยงานรัฐ และกึ่งรัฐ เกี่ยวข้องด้วยอย่างน้อย 3 แห่งคือ 1) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ในฐานะนายทะเบียนบริษัทมหาชน 2) ก.ล.ต. ในฐานะผู้ออกแบบและกำกับดูแลกฎกติกาของตลาด 3) ตลาดหลักทรัพย์ในฐานะผู้ส่งเสริมบรรยากาศของตลาดฯ ปัญหานี้ น่าจะมีหน่วยงานใดหรือทั้งหมดยื่นมือเข้าช่วยเหลือเพื่อให้ความเสียหายบรรเทาลง
ประเด็นสำคัญคือ ทั้ง 3 หน่วยงาน ปฏิเสธที่จะยุ่งเกี่ยวกับ “เผือกร้อน” อย่าง IFEC ทั้งเปิดเผยและทางลับ
นายทะเบียนบริษัทมหาชน ไม่หือไม่อือ รอชี้ขาดโดยไม่มีกำหนดแน่ชัด
ผู้กำกับดูแลกฎกติกา อย่าง เลขาธิการ ก.ล.ต. บอกหน้าตาเฉยว่าไม่มีช่องให้เข้าไปใช้อำนาจแทรกแซง โดยจงใจละเลยกับคำขวัญที่ใน 2 ปีมานี้ ที่ก.ล.ต. มักจะชูเสมอว่า “นักลงทุนมาก่อน” (Putting Investor First) ที่พร่ำบอกในงานเสวนาหลายต่อหลายครั้ง
ส่วนผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ผ่านมา อยู่ในสภาพ น้ำท่วมปาก ถามไปก็ไม่มีคำตอบ
สถานการณ์ที่ไร้อนาคตของIFEC ที่ถือได้ว่า มีจำนวนบริษัทเน่าๆ เพิ่มเติมขึ้นอีกรายหนึ่ง นอกจากส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของตลาดหุ้นแล้ว ยังทำให้สะท้อนเห็นจุดอ่อนของกฎกติกาที่มีอยู่ว่า เมื่อผู้กำกับกับดูแล-ส่งเสริมตลาดหุ้นและบริษัทมหาชนจดทะเบียน ต่างพากันเอาตัวรอดอยู่กับการปกป้องตัวเอง ไม่อยาก “เปลืองตัว”หรือ “เปรอะเปื้อน” ทั้งที่สามารถจะยื่นมือเข้ามาหาทางออกที่ไม่เป็นทางการ หรือ “ปรึกษาหารือเชิงกดดัน” เพื่อให้บรรเทาความเสียหายกับผู้ถือหุ้นได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม
การเคลื่อนไหวล่าสุดของตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงมาถูกที่ และถูกเวลา อย่างน้อยก็จุดประกายความหวังว่า สมควรที่อีก 2 หน่วยงานอย่าง ก.ล.ต. และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าฯ จะเคลื่อนตัวเพื่อให้มีพลังที่รุนแรงจนสามารถฝ่าข้ามทางตันของ IFEC ไปได้
แม้ว่าแสงสว่างปลายอุโมงค์คราวนี้ ยังไม่ชัดเจนมากมาย แต่ก็ถือว่า ดีกว่าปล่อยให้ตลาดเผชิญหน้ากับบรรยากาศแห่งความสิ้นหวังเพราะผู้เกี่ยวข้องกับกฎกติกาเมินเฉยต่อหายนะอย่างเลือดเย็น
อย่าลืมว่า ความยุติธรรมที่มาช้าเกินไป ไม่ใช่ความยุติธรรมฉันใด และ ความเสียหายที่แก้ไขช้าเกิน ก็คงสายเกินเยียวยา