ตลท.สั่งNEWSแจงแตกพาร์อีกครั้ง หลังคำชี้แจงยังไม่โดนใจ
ตลท.สั่ง NEWS แจงแตกพาร์อีกครั้งให้ครบถ้วน หลังเหตุผลยังไม่โดนใจ ภายในวันที่ 5 มิ.ย.60
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NEWS ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมกรณีมีมติเปลี่ยนแปลงมูลค่าที่ตราไว้ (Par) ให้ครบถ้วนอีกครั้งภายในวันที่ 5 มิ.ย.60 โดยเห็นว่าคําชี้แจงของบริษัทว่า การแตกพาร์ดังกล่าวเป็นการเพิ่มจํานวนหุ้นในตลาด ลดการกระจุกตัวของหุ้น ทําให้หุ้นมีสภาพคล่องในการซื้อขายเพิ่มขึ้น รวมถึงจะทําให้ราคาหุ้นมีเสถียรภาพมากขึ้น ยังไม่สอดคล้องกับแนวทางของตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับการเปลียนแปลง Par โดยบริษัทจดทะเบียนควรใช้เมื่อหลักทรัพย์มีสภาพคล่องต่ำ มีจํานวนหุ้นน้อยและมีราคาต่อหุ้นค่อนข้างสูง ในขณะที่ปัจจุบันหลักทรัพย์ของบริษัทมีจํานวนทุนจดทะเบียนถึง 8,508,100,847 หุ้น มี Turnover Ratio อยู่ในระดับ 100% รวมทั้งมีผู้ถือหุ้นรายย่อย 8,637 ราย คิดเป็นสัดส่วน 78% ของทุนชําระแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีราคาหุ้นเพียงหุ้นละ 0.13-0.31 บาท (Par 5 บาท) ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
โดย NEWS ได้ชี้แจงว่า การเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) จากหุ้นละ 5 บาทเป็นหุ้นละ 1 บาท จะเป็นการเพิ่มจำนวนหุ้นในตลาด ลดการกระจุกตัวของหุ้น และทำให้หุ้นสามัญของบริษัทมีสภาพคล่องในการซื้อขายในตลาดเพิ่มขึ้น รวมถึงบริษัทสามารถเพิ่มการกระจายการถือหุ้นไปยังผู้ถือหุ้นในวงกว้าง เหตุเพราะราคาในการซื้อขายต่อหุ้นลดลงทำให้ผู้ถือหุ้น สามารถซื้อขายหุ้นของบริษัทได้คล่องขึ้น โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อย และสามารถขยายฐานนักลงทุนได้กว้างขึ้น ทำให้บริษัทสามารถระดมทุนได้ตามเป้าหมาย รวมถึงจะทำให้ราคาหุ้นมีเสถียรภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ การที่บริษัทเปลี่ยนพาร์มาเป็นหุ้นละ 1 บาท เพื่อให้หุ้นสามัญของบริษัทมีพาร์ใกล้เคียงกับพาร์ของหุ้นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) เพื่อความสะดวกในการเปรียบเทียบมูลค่าของนักลงทุน อีกทั้งเพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับหุ้นของบริษัท ซึ่งที่ผ่านมานับตั้งแต่บริษัทมีการเปลี่ยนพาร์จากหุ้นละ 1 บาท เป็นหุ้นละ 5 บาท ในช่วงปี 2558 นั้น สภาพคล่องของหุ้นสามัญของบริษัทมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด สอดคล้องกับจำนวนผู้ถือหุ้นของบริษัทซึ่งมีแนวโน้มลดลงนับตั้งแต่มีการปรับเพิ่มพาร์จากหุ้นละ 1 บาท เป็นหุ้นละ 5 บาท ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2558
โดยจำนวนผู้ถือหุ้นสามัญในปัจจุบันลดลงจากปี 58 ถึงประมาณร้อยละ 30 ส่งผลให้สภาพคล่องของหุ้นสามัญของบริษัทลดลงตามลำดับ ดังนั้นการแตกพาร์ครั้งนี้จะช่วยให้สามารถกระจายหุ้นให้กับนักลงทุนรายย่อยได้มากขึ้นส่งผลให้หุ้นสามัญของบริษัทมีสภาพคล่องที่ดีมากขึ้น โดยอิงจากกรณีศึกษาจากบริษัทจดทะเบียนรายอื่นที่มีการแตกพาร์ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้สภาพคล่อง (Turnover) ของหุ้นสามัญเพิ่มสูงมากขึ้น
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงพาร์ดังกล่าวไม่ได้มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และมูลค่าตามปัจจัยพื้นฐานของบริษัท (Fundamental Value)ตลอดจนไม่ทำให้เกิด Dilution Effect ต่อผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด ทั้งในแง่ของ Price Dilution และ Control Dilution หากผู้ถือหุ้นถือหุ้นในสัดส่วนเดิมทั้งก่อนและหลังการแตกพาร์ ด้วยเหตุผลดังกล่าว คณะกรรมการบริษัทจึงเห็นว่าการปรับเปลี่ยนพาร์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยรวมต่อทั้งบริษัท และผู้ถือหุ้น กอปรกับการเปลี่ยนแปลงพาร์ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท รวมถึงไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น ทั้งในแง่ของ Price Dilution และ Control Dilution แต่อย่างใด
ส่วนรายละเอียดของแผนการใช้เงินเพิ่มทุนนั้น บริษัทมีการประเมินว่าหากผู้ถือหุ้นทุกรายจองซื้อหุ้นของบริษัท ตามแผนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering) บริษัทจะได้รับเงินจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนประมาณ 2,044 ล้านบาท โดยจะนำเงินไปใช้คืนหนี้ โดยปัจจุบันบริษัท และบริษัทย่อยมีภาระหนี้ค้างชำระต่อบุคคลภายนอกจำนวนประมาณ 800 ล้านบาท
ทั้งนี้ประกอบด้วย ภาระหนี้สถาบันการเงิน 200 ล้านบาท, ภาระหนี้เงินค่าหุ้นเพิ่มทุนของนักลงทุน 4 ราย มูลค่ารวม 465.60 ล้านบาท อันสืบเนื่องจากการที่บริษัทได้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัดตามมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 59 จำนวน 6,000 ล้านหุ้น ให้แก่นักลงทุน 4 ราย เมื่อประมาณเดือนปลายกันยายน 59 ซึ่งบริษัทได้รับเงินจากนักลงทุนทั้ง 4 รายครบถ้วนแล้ว และได้นำเงินไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและเงินลงทุนตามโครงการที่วางแผนไว้แล้ว
ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งว่า สำนักงาน กลต.ยังไม่อนุญาตเสนอขายหุ้นข้างต้น ทำให้ บริษัทไม่สามารถนำหุ้นดังกล่าวไปจดทะเบียนเพิ่มทุนกับกระทรวงพาณิชย์ได้ รวมถึงระยะเวลาการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนที่ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นเป็นเวลา 6 เดือน ได้หมดอายุไปแล้วตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 59 ทำให้บริษัทมีภาระที่ต้องใช้คืนจำนวนเงินดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันได้มีนักลงทุนบางรายได้ทวงถามเงินค่าหุ้นคืน พร้อมด้วยดอกเบี้ยและค่าเสียหายจากการที่บริษัทไม่สามารถนำหุ้นดังกล่าวไปจดทะเบียนได้รวมถึงการฟ้องร้องคดีต่อศาลแล้ว
ดังนั้น บริษัทจึงจำเป็นต้องมีการการเพิ่มทุนของบริษัทเพื่อนำมาใช้คืนภาระหนี้ข้างต้นและเพื่อลดต้นทุนทางการเงินในการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งหากบริษัทไม่สามารถเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering) และ/หรือผู้ถือหุ้นเดิมไม่ใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่ได้ออกและเสนอขาย ครบทั้งจำนวนได้บริษัทก็จะพิจารณาจัดสรรเงินทุนที่ได้รับให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตามที่กำหนด ตามความจำเป็นและสมควรตามความเหมาะสมภายใต้กรอบเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท
นอกจากนี้ในระหว่างการจัดหาแหล่งเงินทุนให้เพียงพอ บริษัทอยู่ระหว่างการจัดหาแหล่งเงินอื่นมาเสริมสภาพคล่องในระหว่างรอการเพิ่มทุน ซึ่งคาดว่าจะมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท และบริษัทในเครือ ส่วนที่เหลือคือส่วนที่คาดว่าจะจ่ายเป็นผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนในรูปของดอกเบี้ยจำนวนไม่เกิน 34 ล้านบาท และหากไม่ได้ใช้ บริษัทจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของกลุ่มบริษัทต่อไป
ทั้งนี้เมื่อใช้คืนหนี้ดังกล่าวแล้ว บริษัทจะมีจำนวนเงินส่วนที่เหลือประมาณ 1,244 ล้านบาท บริษัทสำรองเงินไว้ใช้เป็นเงินทุนการใช้เงินทุนหมุนเวียนและการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและสามารถเสริมสร้างศักยภาพการทำงานของกลุ่มบริษัทในระยะยาว
สำหรับในรอบ 36 เดือนถัดจากนี้ กลุ่มบริษัทคาดว่าจะมีการใช้เงินทุนในการดำเนินงานทั้งเงินทุนหมุนเวียน ประมาณ 1,060 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้ ธุรกิจโทรทัศน์ระบบดิจิตอล-สปริงนิวส์ การใช้เงินทุนดำเนินงานดังกล่าว จะอยู่ในระดับเดียวกับปีก่อน และคาดว่าจะดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีต่อๆ ไป เนื่องมาจากการปรับโครงสร้างธุรกิจ โครงสร้างองค์กร และโครงสร้างผลตอบแทน
โดยในธุรกิจโทรทัศน์ระบบดิจิทัล จะมีค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ และการซื้อ Content ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงธุรกิจสื่อเมื่อปี 2559 สปริงนิวส์ได้เข้าทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับสถานีข่าว CNN ซึ่งเป็นสถานีข่าวอันดับหนึ่งของโลกแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานของช่องสปริงนิวส์ทั้งในแง่การบริหาร การทำข่าว และการพัฒนาบุคลากรเพื่อตอบรับและตอบสนองกลุ่มเป้าหมายหลัก ดังนั้นจึงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากสัญญาดังกล่าว รวมถึงค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงสถานีและเทคโนโลยีเพื่อให้แข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นได้
ส่วนธุรกิจวิทยุ – สปริงเรดิโอ สามารถสร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของกลุ่มผู้ฟังในระยะเวลาเพียง 1 ปี ซึ่งแม้ว่ามีค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ เช่น ค่าเช่าสถานี ค่าเช่าสถานที่ ค่าพนักงานและค่าจัดรายการ ก็ตาม แต่ก็มีการปรับเพิ่มอัตราค่าใช้จ่าย อาทิ ค่าสัญญากับสำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ค่าใช้จ่ายปรับปรุงห้องออกอากาศ ในแต่ละปีค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียน
ด้านธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ – หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ เนื่องจากการดำเนินงานช่วงปีแรก ยังมีภาระค่าสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิและดำเนินงานในระยะเริ่มแรก ซึ่งเงินทุนหมุนเวียนส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในการดำเนินงาน เช่น ค่าจัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ ค่าจัดส่งหนังสือพิมพ์ ค่าเช่าสำนักงาน
ขณะที่ธุรกิจ New Medias แม้ว่าแนวโน้มรายได้ของธุรกิจ New Media มีแนวโน้มดีขึ้น แต่เนื่องจากธุรกิจนี้มีการแข่งขันสูงและกลุ่มลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงความต้องการตลอดเวลา ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนมีการปรับปรุงพัฒนาเทคโนโลยีและการตลาดให้ทันสมัยและตอบสนองความต้องการของลูกค้า
ส่วนธุรกิจด้านคอมพิวเตอร์ งานด้านสิ่งแวดล้อมและชีวอนามัย จะต้องเป็นงานที่ต้องมีการลงทุนในเครื่องคอมพิวเตอร์ โปรแกรมอุปกรณ์ด้านชีวะอนามัยและรายงานผลในมูลค่าที่สูงไปก่อน และจะได้รับการผ่อนชำระในภายหลัง ทั้งนี้แนวโน้มการดำเนินธุรกิจของบริษัท และบริษัทในครือภายใต้ปัจจัยที่มีอยู่ในปัจจุบันนับแต่นี้ต่อไปน่าจะอยู่ในช่วงที่ดีขึ้นกว่าปีก่อน ดังจะเห็นได้จากผลประกอบการในปี 2559 ของบริษัทมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานลดลงจากปีก่อน ๆ
ทั้งนี้ บริษัทจะสำรองเงินไว้จำนวน 184 ล้านบาท เพื่อลงทุนขยายธุรกิจแต่ละส่วนงาน เพื่อที่จะสามารถขยายฐานรายได้ของกลุ่มบริษัทออกไปได้อย่างกว้างขวางและครอบคลุมลูกค้าเป้าหมาย โดยเฉพาะเป็นการเสริมความแข็งแกร่งในด้านรายได้และการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทได้อย่างมั่นคงในอนาคต อาทิ การลงทุนในธุรกิจสื่อกลางแจ้งระบบดิจิทัล หรือในส่วนธุรกิจชีวอนามัยมีแผนการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจให้เป็นที่ปรึกษาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมครบวงจรเพื่อรองรับการเปิดเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งบริษัทอาจพิจารณาลงทุนในหลายรูปแบบทั้งการดำเนินงานเองหรือร่วมทุนกับผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน ตลอดจนโครงการใหม่ๆ ที่เป็นสื่อหรือธุรกิจต่อเนื่องหรือเสริมศักยภาพสามารถต่อยอดรายได้ให้กับกลุ่มบริษัทได้เป็นอย่างดี