รอยร้าวในโอเปก?

การประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกะทันหันระหว่าง “พันธมิตรอาหรับมีซาอุดีอาระเบียเป็นแกนนำ” ประกอบด้วย บาห์เรน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ เยเมน และ ลิเบีย (แถมพ่วงด้วยมัลดีฟส์ ซึ่งประชากรเป็นฮินดูและไม่ใช่อาหรับ) กับกาตาร์วานนี้ พร้อมกับใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่เข้มงวดทุกชนิด รวมทั้งระงับการเดินทาง ทางบก ทางอากาศ และทางทะเลกับประเทศกาตาร์ ตลอดจนปิดจุดผ่านแดน จะส่งผลกระทบต่อเอกภาพของโอเปกมากน้อยแค่ไหน ยังเร็วเกินไปที่จะสรุป


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

การประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกะทันหันระหว่าง “พันธมิตรอาหรับมีซาอุดีอาระเบียเป็นแกนนำ” ประกอบด้วย บาห์เรน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ เยเมน และ ลิเบีย (แถมพ่วงด้วยมัลดีฟส์ ซึ่งประชากรเป็นฮินดูและไม่ใช่อาหรับ) กับกาตาร์วานนี้ พร้อมกับใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่เข้มงวดทุกชนิด รวมทั้งระงับการเดินทาง ทางบก ทางอากาศ และทางทะเลกับประเทศกาตาร์ ตลอดจนปิดจุดผ่านแดน จะส่งผลกระทบต่อเอกภาพของโอเปกมากน้อยแค่ไหน ยังเร็วเกินไปที่จะสรุป

ผู้เชี่ยวชาญวงการน้ำมันดิบในตลาดเก็งกำไรระบุว่า การตัดสัมพันธ์ทางการทูตต่อกาตาร์ โดยอ้างเหตุผลว่ากาตาร์ให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย และบ่อนทำลายเสถียรภาพในภูมิภาค (แต่ข้อเท็จจริงคือ กาตาร์พยายามประคองความเป็นกลางโดยไม่ต่อต้านอิหร่านโดยเปิดเผยมากอย่างที่ซาอุดีอาระเบียต้องการ) จะสอดรับกับบทสรุปก่อนหน้าที่ว่า พลังครอบงำเหนือตลาดน้ำมันของโอเปกนับวันเสื่อมจนไม่สามารถชี้เป็นชี้ตายได้อีกต่อไปแล้ว หลังจากที่สหรัฐฯ สามารถพบเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดานได้สำเร็จ

ข้อสรุปดังกล่าว มีเสียงโต้แย้งว่า เกินเลยไป เพราะกลุ่มชาติอาหรับนั้นมีเรื่องขัดแย้งกันเองมาโดยตลอด แต่ไม่เคยนำปัญหาขัดแย้งมาส่งผลต่อคาร์เทลน้ำมันอย่างโอเปก ซึ่งเป็นองค์กรรักษาประโยชน์ร่วมจากน้ำมับดิบ

ข้อถกเถียงข้างต้นยากจะหาข้อสรุปได้ง่ายๆ สำหรับกาตาร์ที่มีประชากรแค่ 2.5 ล้านคน และมีอาณาเขตถูกขนาบล้อมด้วยรัฐพันธมิตรของซาอุดีอาระเบียที่นับถืออิสลามนิกายสุหนี่ในอ่าวเปอร์เซียที่เคยมีอิหร่านที่นับถืออิสลามนิกายชิอะห์เป็นหนามยอกอกมายาวนาน

ประวัติศาสตร์ของกาตาร์ผูกพันกับซาอุดีอาระเบียมายาวนาน ชาวกาตาร์ก็มีเชื้อสายเดียวกับซาอุดีอาระเบีย และเคยอยู่ร่วมชะตากรรมใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมันจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 ก่อนที่จะตกไปอยู่ในเขตรัฐอารักขาของอังกฤษทุกๆ ด้าน ก่อนจะได้รับเอกราชเมื่อปี พ.ศ. 2514 นี้เอง

ใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จากชาติที่เคยพึ่งพารายได้หลักจากน้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติ ผู้ครองรัฐกาตาร์ปัจจุบัน ชีค ฮาหมัด บิน กาลิฟะห์ อัล-ธานี ได้ใช้วิสัยทัศน์ปรับตัวล่วงหน้าด้วยการกระจายความเสี่ยง สร้างอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเหล็กมารองรับเศรษฐกิจยุคหลังน้ำมันจนกระทั่ง ประเทศนี้ได้ชื่อว่ามีรายได้ต่อหัวสูงสุดในกลุ่มอาหรับ และยังลงทุนหลายด้าน เพื่อให้กาตาร์ก้าวข้าม “คำสาปชาติพึ่งพาทรัพยากร” ( หรือ “ดัตช์ ดีซีส” (Dutch Disease) ) เพื่อก้าวเป็น “ไข่มุกแห่งอ่าวเปอร์เซีย” ระยะยาว

การพัฒนากาตาร์เพื่อก้าวข้ามคำสาปพึ่งพาทรัพยากร (ที่ประกอบด้วย 5 ตัวแปรคือ 1) รัฐบาลเพิ่มงบใช้จ่ายเกินเลยจากคาดการณ์ถึงรายได้ที่ไม่เป็นจริง 2) คุณภาพการใช้จ่ายงบประมาณที่ต่ำ จากการใช้อำนาจผูกขาดของรัฐ 3) การเติบโต และกระจายรายได้ที่เปราะบาง จากเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นรุนแรง  4) หนี้ต่างประเทศเติบโตเร็วกว่าอัตราเติบโตเพราะการจำนองอนาคต 5) การเสียสมดุลของโครงสร้างเพราะภาคการผลิตและการเกษตรถูกมองข้าม) เพื่อกำจัดจุดอ่อนของยุคหลังน้ำมันออกไป ถือเป็นจุดเด่นสุดของกาตาร์

หนึ่งในการเตรียมความพร้อมเพื่ออนาคตของกาตาร์ที่เลื่องลือ คือ การใช้ความม่งคั่งจากการขายแก๊สธรรมชาติและน้ำมัน ตั้งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (SWF) ชื่อ Qatar Investment Authority (QIA) ขึ้นในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าขนาดมหึมา 3.5 แสนล้านดอลลาร์ ถือว่าใหญ่อันดับที่ 14 ของโลก ที่เข้าไปลงทุนในกิจการทั่วโลกทั้งในยุโรป สหรัฐฯ และ เอเชีย สารพัดตั้งแต่ ธนาคาร สนามบิน ยานยนต์ กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจกีฬา และกิจการสำคัญในตลาดหุ้น

ผลของการเตรียมความพร้อม ทำให้กาตาร์มีความแตกต่างจากชาติอาหรับอื่น แต่คล้ายคลึงกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ยูเออี อย่างมาก ในฐานะที่เป็นจุดสำคัญของเส้นทางการค้าเชื่อมเอเชียกับยุโรปเข้าด้วยกัน

ความขัดแย้งถึงขั้นตัดสัมพันธ์ทางการทูตครั้งนี้ อาจจะเป็นที่เข้าใจได้ยากมากสำหรับคนนอกกลุ่มอาหรับ และอ่าวเปอร์เซีย แต่ก็ถือได้ว่าบังเอิญมาประจวบเหมาะกับการที่ราคาน้ำมันเริ่มผันผวนเพราะข้อตกลงจำกัดกำลังการผลิตของชาติส่งออกน้ำมันที่ยืดอายุข้อตกลงกันไปยาวถึงเดือนมีนาคมปีหน้า โดยทั้งโอเปกและกลุ่มนอกโอเปกจะยังคงผลิตน้ำมันราว 1.8 ล้านบาร์เรล/วัน เริ่มมีอาการเสียศูนย์เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาเสถียรภาพของราคาน้ำมันดิบได้

ก่อนหน้าการประกาศความแตกร้าวไม่กี่วัน นักวิเคราะห์ของวาณิชธนกิจชื่อดังสหรัฐฯ โกลด์แมน แซคส์ ประกาศปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในปีนี้ว่าควรอยู่ระหว่าง 45.00-50.00 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยระบุว่า ต้นทุนการผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน หรือ เชลล์ออยล์ในสหรัฐฯ มีต้นทุนที่ต่ำลง ทำให้แรงจูงใจผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น

ข้อมูลล่าสุดที่บ่งบอกว่า น้ำมันจะมีโอกาสล้นตลาดต่อไป มาจากตัวเลขการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ซึ่งพุ่งขึ้น มากกว่า 10% ตั้งแต่กลางปี 2016 สู่ระดับ 9.34 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งใกล้เคียงกับระดับของซาอุดีอาระเบีย และรัสเซีย

ขณะเดียวกัน เบเกอร์ ฮิวจ์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขุดเจาะบ่อน้ำมันสหรัฐฯ  ก็ยังเปิดเผยรายงานขุดเจาะน้ำมันรายสัปดาห์ พบว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันที่มีการใช้งานในสหรัฐฯ มีจำนวนเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 733 แท่น สูงสุดนับในรอบ  26 เดือน ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2015 และเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 20 ติดต่อกัน เทียบกับระดับ 325 แท่นในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่าการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ จะพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีหน้า

วิธีการลดแรงจูงใจให้สหรัฐฯ ลดผลิตน้ำมันดิบ พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะต้องทำให้ราคาน้ำมันอยู่ในกรอบ 45.00-50.00 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือต่ำกว่า ถ้าไม่ทำ ตลาดน้ำมันดิบจะกลับมาไร้เสถียรภาพอีกครั้ง

คำถามว่า เมื่อกาตาร์ ถูกซาอุดีอาระเบียและพันธมิตรตีความว่าเป็นศัตรูทางการเมือง และผลักดันให้ไปเข้าพวกกับอิหร่านเสียแล้ว  เอกภาพทางการทูตของงชาติอาหรับที่แตกละเอียด จะบานปลายไปเป็นการทำลายเอกภาพของโอเปกด้วยหรือไม่ เป็นโจทย์ที่สำคัญ

โจทย์นี้ ตราบใดที่ยังไม่มีคำตอบ ยากจะทำให้ราคาน้ำมันกลับเป็นขาขึ้นใหม่ได้ในระยะถัดไป

Back to top button