ทองคำขาขึ้น และ ไอ้แมงมุม
ราคาทองคำในตลาดล่วงหน้าปรับขึ้นแรงทำจุดสูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์ที่ 1,295 ดอลลาร์/ออนซ์ (สวนทางกับการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์ ที่กลับลงมาทำจุดต่ำสุดในรอบ 7 เดือนเช่นกัน) ด้วยสาเหตุใหญ่คือ นักลงทุนพากันทิ้งสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น ดอลลาร์ และตราสารหนี้ ย้ายไปถือทองคำทั้งที่เป็นทองจริง และที่เป็นหลักทรัพย์ในตลาดทองคำล่วงหน้า
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
ราคาทองคำในตลาดล่วงหน้าปรับขึ้นแรงทำจุดสูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์ที่ 1,295 ดอลลาร์/ออนซ์ (สวนทางกับการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์ ที่กลับลงมาทำจุดต่ำสุดในรอบ 7 เดือนเช่นกัน) ด้วยสาเหตุใหญ่คือ นักลงทุนพากันทิ้งสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น ดอลลาร์ และตราสารหนี้ ย้ายไปถือทองคำทั้งที่เป็นทองจริง และที่เป็นหลักทรัพย์ในตลาดทองคำล่วงหน้า
คำถามมีอยู่ว่า ราคาทองคำที่ขึ้นไปทำท่าแตะ 1,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ นี้ จะขึ้นไปได้ไกลแค่ไหน เพราะถูกจำกัดด้วยราคาน้ำมัน ที่โดยปกติแล้ว จะเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน เพื่อเทียบหาผลตอบแทนในการลงทุน หากถือว่าทั้งทองคำและน้ำมัน ล้วนเป็นสินค้าโภคภัณฑ์เช่นเดียวกัน
ในฐานะที่ทองคำได้ชื่อว่าเป็น “สินทรัพย์หลบภัยชั้นยอด” (the best safe haven) ทุกครั้งที่โลกเกิดความวุ่นวายทางการเมือง หรืออาจจะมีแนวโน้มเกิดสงคราม หรือ ความรุนแรงราคาทองคำจะพุ่งกระฉูดสวนทางกับหลักทรัพย์อื่นเช่น หุ้นหรือตราสารหนี้หรือค่าเงินเสมอ
ครั้งนี้ก็เช่นกัน
ปัจจุบัน ดัชนีชี้นำที่สำคัญที่นักลงทุนร่วมสมัยในตลาดทองคำล่วงหน้าใช้เป็นตัวชี้ถึงทิศทางในอนาคตของราคาทองคำอยู่ที่บทบาทและรายงานของกองทุน SPDR (เรียกง่ายในตลาดว่า ไอ้แมงมุม หรือ Spiders) ในฐานะผู้ค้ารายใหญ่สุดในตลาดทองคำโลกปัจจุบัน จะขยับตัวซื้อเพิ่ม หรือ ระบายออกจากมือ
ไอ้แมงมุม หรือ SPDR เป็นใคร และทำไมถึงมีอิทธิพลมหาศาล
ในทางกฎหมาย SPDR SPDR Gold Shares (ชื่อเต็มคือ Standard & Poor’s Depositary Receipts) เป็นกองทุนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า exchange-traded funds (ETFs) ที่ทำการซื้อขายทำกำไรตลาดทองคำล่วงหน้ากันตามปกติเสมือนกองทุนอื่นๆ แต่เนื่องจากเป็นกองทุนข้ามชาติที่มีขนาดใหญ่มาก เคียงข้างกับกองทุน ETFs พี่น้องที่มีขนาดใหญ่กว่าคือ SPDR S&P 500 เพราะมีธุรกรรมในตลาดสำคัญของโลกที่สหรัฐฯ ยุโรป และเอเชียแฟซิฟิก โดยอยู่ภายใต้การบริหารของ State Street Global Advisors (SSGA) ที่เชื่อมโยงเข้ากับ Standard and Poor’s Financial Services LLC บริษัทใต้ร่มของ S&P Global Inc ที่ทรงอิทธิพลในการจัดอันดับเรตติ้งระดับโลกนั่นเอง
ฐานะของกองทุน SPDR Gold Shares ที่เป็นผู้ค้าทองคำขนาดใหญ่ด้วยสินทรัพย์ในกำมือ 3.37 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้การขยับตัวแต่ละครั้ง มีผลสะเทือนถึงราคาทองคำล่วงหน้าในตลาดทั่วโลก โดยรายงานล่าสุดของ SPDR ระบุว่า ได้กลับมาซื้อทองคำมากถึง 4.16 ตัน ดังราคาทองคำขึ้นไปสู่ระดับใหม่
เหตุผลของ SPDR ในการอ้างอิงถึงปัจจัยลบอย่าง ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง ความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐฯ ขณะที่ค่าดอลลาร์สหรัฐอ่อนลง และการเลือกตั้งของอังกฤษ ทำให้นักวิเคราะห์ประเมินว่า สัญญาณทางด้านเทคนิคอยู่ในช่วงทดสอบแนวต้าน 1,295 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นจุดสูงสุดที่ทำไว้ในเดือนเมษายน
ตลาดทองคำในโลกร่วมสมัย มีแรงเหวี่ยงที่มากกว่าในอดีตหลายเท่า เพราะนอกเหนือจากตลาดค้าทองคำที่เป็นตลาดซื้อขายทันที ยังมีตลาดทองคำล่วงหน้ามาเพิ่มความคึกคักด้วย
ตลาดทองคำล่วงหน้า หรือ Gold Futures ที่ไม่ได้มีการซื้อขายทองคำจริง แต่เป็นเครื่องมือที่ผู้ลงทุนเก็งกำไรสามารถใช้ทำกำไรได้ตามความคาดการณ์ที่มีต่อราคาทองคำได้ โดยต้องแบกรับความเสี่ยงจากการคาดเดาสถานการณ์ผิดพลาดควบคู่กันไปด้วย
การต่อสู้ระหว่าง แรงซื้อเก็งกำไรทิศทางทองคำขาขึ้นจากความตื่นกลัวของสถานการณ์ที่มีทางลบมากกว่าบวก หรือ เริ่มมีแรงเทขายทำกำไร เป็นสถานการณ์ที่ก้ำกึ่งกันอย่างมากสำหรับการเก็งกำไร เพราะการเปิดสถานะเพื่อทำกำไร และปิดสถานะลดความเสี่ยง ยังไม่ชัดเจน
สมกับภาษิตเก่าแก่ที่ว่า “ตลาดล่วงหน้า เปรียบเสมือนหางหมาที่แกว่งไปมาเกินกว่าพื้นที่ร่างกายจริง” เพราะหากคิดจากประโยชน์ใช้สอยโดยแท้จริงของทองคำในฐานะวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปต่างๆ จะต้องต่ำกว่าราคาในตลาดล่วงหน้าอย่างมาก
ราคาทองคำในตลาดล่วงหน้าปัจจุบัน จึงแตกต่างจากราคาสินค้าทั่วไป แต่กลายเป็นเสมือนอัตราเบี้ยประกันภัยทางเศรษฐกิจล่วงหน้าที่เปลี่ยนมือได้ชนิดหนึ่ง เพราะผูกพันกับความกลัวร่วมต่ออนาคตของผู้คน
ความกลัว กับราคาทองคำ เป็นสัดส่วนตรงซึ่งกันและกัน เมื่อคนกลัวมาก ราคาทองคำจะวิ่งขึ้นมาก คนกลัวน้อยราคาจะถดถอยลง ไม่กลัวเลย คนจะไม่ถือทองคำเลย
อุปสงค์และอุปทานของทองคำ จึงไม่เหมือนสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลายแหล่ เพราะไม่ได้เป็นอุปสงค์อุปทานที่ขึ้นกับประโยชน์ใช้สอยโดยตรง แต่ขึ้นกับอารมณ์ความรู้สึกของนักลงทุนเก็งกำไรในตลาดที่เชื่อมโยงกับอนาคตของเศรษฐกิจโลกโดยรวม
ราคาทองคำจึงเป็นราคาที่สอดคล้องกับสิ่งที่ คาร์ล มาร์กซ เรียกในอดีตว่า “มูลค่าจินตนาการ” (fictitious value)
และสะท้อนให้เห็นว่า ฐานะของทองคำในกลไกทางด้านเศรษฐกิจ ไม่ได้อยู่ที่สร้างมูลค่าในทางเศรษฐศาสตร์อะไรมากนัก แต่มีมูลค่าแลกเปลี่ยนที่มีแรงจูงใจอันจับต้องไม่ได้ ในฐานะหลักประกันสำหรับป้องกันตัวจากความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในอนาคต
นับแต่เลิกใช้มาตรฐานทองคำมาเกือบ 40 ปีแล้ว และการใช้ทองคำในอุตสาหกรรมก็จำกัดเฉพาะธุรกิจเครื่องประดับเป็นหลัก ความมั่งคั่งของประเทศจะขึ้นกับทองคำสำรองของรัฐบาลซึ่งเป็นหลักประกันเบื้องหลังเงินที่ถูกปล่อยออกมาหมุนเวียนในท้องตลาดทองคำก็เลยกลายเป็นสินค้าที่มีไว้อ้างอิงกับมูลค่าเปรียบกับเงินตรา หรือ อารมณ์ความรู้สึกต่ออนาคตแทน
อารมณ์ของมนุษย์นั้นแปรปรวน และส่งผลต่อราคาทองคำทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ในห้วงยามที่ตลาดไม่เป็นทั้งภาวะกระทิงแท้ และ หมีแท้ ปล่อยให้นักเก็งกำไรไล่ล่ากันอย่างท้าทายความเสี่ยงไปเรื่อยๆ “โดยมีไอ้แมงมุม” เป็นศาสดาแห่งกลไกตลาด