บี. กริม เพาเวอร์

วานนี้พยายามนั่งอ่านไฟลิ่งของ บมจ.บี. กริม เพาเวอร์ ที่มีกว่า 1,152 หน้า


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

วานนี้พยายามนั่งอ่านไฟลิ่งของ บมจ.บี. กริม เพาเวอร์ ที่มีกว่า 1,152 หน้า

ยอมใจจริงๆ ครับ

เลยเลือกอ่านแค่เฉพาะหัวข้อสำคัญ และน่าสนใจ

รวมถึงเข้าไปดูงบการเงินของบริษัท

มาว่าด้วยของกำไรสุทธิกันก่อนเลย

ปี 2557 มีกำไร (ปรับปรุง) อยู่ที่ 791 ล้านบาท ปี 2558 จำนวน 1,271 ล้านบาท และปี 2559 กำไร 2,090 ล้านบาท

เห็นตัวเลขแบบนี้ ใครคิดจะจองซื้อหุ้น ก็พอเบาใจในระดับหนึ่ง

ระดับ D/E หรือหนี้สินต่อทุนของปีล่าสุด อยู่ประมาณ 3.4 เท่า (Q1/60 และหลังขายไอพีโอเหลือ 2.0 เท่า) และมีสินทรัพย์รวมปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และล่าสุดอยู่ที่ 7.60 หมื่นล้านบาท

ยังไม่แน่ใจว่า ระดับ P/E ของหุ้นตัวนี้อยู่เท่าไหร่

นั่นเพราะต้องรอกำหนดราคาไอพีโอก่อน

และทาง บี.กริมฯ จะมีการสำรวจราคาจากนักลงทุน หรือ Book Building ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้

ทว่า ก็มีผู้สันทัดกรณีคาดการณ์กันไว้ว่า อาจจะอยู่ซัก 25–30 เท่า

หรืออาจจะต่ำกว่า 25 เท่าก็ได้

บี.กริมฯ จะขายหุ้นไอพีโอราวๆ 716.9 ล้านหุ้น

ส่วนผู้บริหารคาดว่าจะระดมทุนได้ซัก 1 หมื่นล้านบาท

และหุ้นก็น่าจะเริ่มเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้

เท่าที่จับความเคลื่อนไหวของนักลงทุนเกี่ยวกับหุ้นตัวนี้

มีความเห็นแตกต่างกันไป

บางคนบอกว่า “กลัว” ครับ

เหตุผลก็คือมีการประชาสัมพันธ์เยอะเหลือเกิน (ส่วนตัวผมว่าไม่น่าเกี่ยว) และหากหุ้นดีจริงๆ ก็น่าจะเสร็จรายใหญ่ และนักลงทุนสถาบันไปหมดแล้ว

ไม่น่าเหลือให้รายย่อยหรอก

แต่ก็ยังมีกลุ่มนักลงทุนที่มองว่า หากใครไม่รับ ก็พร้อมรับซื้อ

ในจำนวนหุ้น 716.9 ล้านหุ้น เขามีการแบ่งสัดส่วนไว้

นักลงทุนสถาบัน ต่างประเทศ และบรรดาผู้มีอุปการคุณ เอาไป 60%

ส่วนอีก 40% จะขายให้กับนักลงทุนรายย่อย (ในประเทศ)

ส่วนข่าวที่ออกมาจากผู้บริหาร บอกด้วยว่า ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ก็สนใจลงทุนในหุ้น ไอพีโอด้วย

จะมีการซื้อในวงเงินไม่เกิน 75 ล้านเหรียญสหรัฐ

คิดเป็นสัดส่วนก็ราวๆ 5% ของหุ้นทั้งหมดหลังการขายไอพีโอ

หุ้นตัวนี้ใช้ที่ปรึกษาทางการเงิน หรือ เอฟเอ ค่อนข้างเยอะครับ หรือ 5 บริษัท

ไล่มาตั้งแต่ บล.ภัทร บล.กสิกรไทย บล.บัวหลวง  ดอยช์แบงก์ และ ซีไอเอ็มบี

ในด้านของกำลังการผลิตไฟฟ้า หากดูตัวเลขสิ้นปี 2559 มีการ  COD แล้วประมาณ 1,626 เมกะวัตต์ และในปีนี้ จะมีเพิ่มเข้ามาอีก 20 เมะวัตต์ รวมเป็น 1,646 เมกะวัตต์

และปี 2561 จะมีเพิ่มเข้ามาอีก 400 เมกะวัตต์

แต่ตามแผน 4–5 ปี เขามีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าให้ได้ 5,000 เมกะวัตต์

ซึ่งนั่นเป็นเรื่องอีกค่อนข้างไกล

เท่าที่คุยกับนักลงทุน และนักวิเคราะห์ที่เชี่ยวชาญด้านหุ้นโรงไฟฟ้า

ต่างมี “มุมมองเชิงบวก” กับหุ้นตัวนี้

นักลงทุนรายใหญ่ บอกว่า หากเขาได้รับการจัดสรร ก็พร้อมที่จะลงทุน

และก็มีความเป็นไปได้สูงว่า อาจมีนักลงทุนขายหุ้นโรงไฟฟ้าที่เคยซื้อไว้ก่อนหน้านี้ แล้วเปลี่ยนมาลงทุนหุ้น บี.กริมฯ แทน เช่น WHAUP (ที่กำลังแตกพาร์ หลังเข้าตลาดเพียง 2 เดือน)

ส่วนนักวิเคราะห์ก็มองว่า บี.กริมฯ ค่อนข้างแตกต่างจากหุ้นโรงไฟฟ้าที่เข้าซื้อขายก่อนหน้านี้ด้วยสตอรี่น่าสนใจ

ดูจากข้อมูลต่างๆ แล้ว

ทั้งนักลงทุนและนักวิเคราะห์มองว่าเป็นหุ้นพื้นฐานดี

แต่หากจะให้ดีมากยิ่งขึ้น

ต้องมาลุ้นว่า ราคาไอพีโอ จะอยู่ซักเท่าไหร่

พอจะมีช่องให้เข้าไปเทรดในวันแรกที่ซื้อขายได้หรือไม่ สำหรับคนที่ไม่ได้ไอพีโอ

Back to top button