อำนาจบาตรใหญ่ ก.ล.ต.
เมื่อช่วง เม.ย. ปีที่แล้ว กระทรวงการคลัง รมว.อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ดำริจะใช้อำนาจให้ภาครัฐเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยอ้างว่าองค์กร ตลท. ซึ่งมีสถานะเป็นมูลนิธิยังมีลักษณะหาเจ้าภาพไม่ได้
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
เมื่อช่วง เม.ย. ปีที่แล้ว กระทรวงการคลัง รมว.อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ดำริจะใช้อำนาจให้ภาครัฐเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยอ้างว่าองค์กร ตลท. ซึ่งมีสถานะเป็นมูลนิธิยังมีลักษณะหาเจ้าภาพไม่ได้
ก็เลยจะหาเจ้าภาพให้เสีย ส่วนว่าเมื่อมีเจ้าภาพแล้วมันจะเลวลงหรือดีขึ้นอย่างไร ก็ยังหาคำตอบกันจะจะไม่ได้เหมือนกัน รู้แต่ว่าให้มีเจ้าภาพและให้มีกระทรวงการคลังออกหน้าใหญ่ไปก่อน
ก.ล.ต. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของท่านเลขาธิการ รพี สุจริตกุล ก็แสดงความเป็นเทคโนแครต ที่ไม่สนใจปรัชญาที่มา ความหมายความจำเป็นหรือหลักการแห่งเหตุผลเหมือนกัน
โดยเตรียมร่างผังองค์กรมาเลยให้ ก.ล.ต. คุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ลดจำนวนบอร์ด ตลท. ลงมาเหลือ 9 คน โบรกเกอร์หายไป 3 เหลือ 2 ผู้แทน ก.ล.ต. 5 เพิ่มมา 1 เป็น 6 และผู้จัดการตลาดมีแค่ 1 ซีท แถมวาระดำรงตำแหน่งจาก 4 ปีเหลือ 3 ปีเท่านั้น
ใครถามว่าโครงสร้างตลาดหลักทรัพย์เก่าทั้งโครงสร้างผู้ถือหุ้น โครงสร้างบอร์ดบริหารมันไม่ดีอย่างไรตลอดจนจุดอ่อนข้อบกพร่อง ก็หาคนตอบไม่ได้
ถามว่าตลาดหลักทรัพย์ที่ปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งกันมาตั้งแต่ปี 2518 ลองผิดลองถูกกันมาจนดำรงอยู่ในปัจจุบันมันไม่มีอะไรเหลือดีอยู่เลยหรือ
ยิ่งถามว่าวอลุ่มซื้อขายตลาดหุ้นไทยน่ะมันนำหน้าตลาดหุ้นสิงคโปร์มา 5 ปีแล้ว พวกคุณที่จะเข้ามาปรับเปลี่ยนทั้งคลังและ ก.ล.ต. คุณมีหลักประกันอะไรที่จะไม่ให้สิงคโปร์แซงหน้ากลับมาทิ้งคุณเป็นอันดับ 2 อีกหรือไม่
คำตอบก็อยู่ในสายลม ผมว่าเป็นเรื่องโชคดีที่ดำริครั้งนั้น ถูกโห่ฮาป่าหายลับเข้ากลีบเมฆไป เพราะเป็นเรื่องย้อนยุคทวนกระแส ทั่วโลกไม่มีใครเขาทำอะไรกันแล้ว
ขนาดฟีฟ่าเขายังหาทางป้องกันทุกทางไม่ให้อำนาจการเมืองเข้าแทรกแซง
แต่นี่มันตลาดทุน ซึ่งเส้นชีวิตโลดแล่นไปตามการเคลื่อนย้ายเงินทุนไหลเข้าไหลออกโดยเสรี ตลอดจนการระดมทุนและกระจายทุนโดยยุติธรรม
มันจะมีเงาทะมึนของอำนาจการเมืองทั้งกระทรวงการคลังและ ก.ล.ต.มายืนคุมกุญแจเปิดเข้าเปิดออกตลาดทุนได้อย่างไร!!!
รายการเตรียม “ปล้นกลางแดด” หายไป 1 ปี กลับเวียนว่ายตายเกิดขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่งเมื่อจู่ๆ ก.ล.ต. ออกเอกสารรับฟังความเห็นเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพื่อรองรับการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF)
โดยมีข้อเสนอให้ปรับปรุงบทบาทของ ตลท.ให้แยกหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาตลาดทุนออกจากExchange Function ซึ่งเกี่ยวกับบทบาทเฉพาะการซื้อขาย
ผมเข้าใจว่า ก.ล.ต. ยกเอาหลักการข้อนี้ขึ้นมาก็เพื่อจะให้ดูดีเหมือนกับองค์กรเอกชนที่มีทั้งหน่วยงานสาย “มาร์เก็ตติ้ง” ที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาคล้าย “บิสซิเนส แมเนจเมนท์” อะไรทำนองนั้น และให้ ตลท.ทำหน้าที่เกี่ยวกับการขายเป็น “เซลล์แมน” อย่างเดียว
รายการนี้เล่นกันหนักนะครับ ก.ล.ต. จะขอเงินจาก ตลท. ไปจัดตั้ง “กองทุน CMDF” เป็นประเดิมถึง 8,000 ล้านบาท ขูดรีดเงินกำไรสุทธิหลังหักภาษีและค่าใช้จ่ายของ ตลท. เป็นเงินบำรุงรายปีอีก 90% หรือราว 1,600 ล้านบาท
ถามว่าทุกวันนี้ ตลท. มีรายได้จากการบริหารบริษัทสมาชิกแล้วไม่ได้เอาเงินไปส่งเสริมพัฒนาตลาดทุนอะไรเลย กระทรวงคลังและ ก.ล.ต. ถึงมีความจำเป็นจะต้องสอดมือล้วงเข้ามาครอบงำบงการ
ทุกวันนี้บทบาทที่เข้าไปส่งเสริมเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในโรงเรียน มหาวิทยาลัย สถาบันวิชาชีพต่างๆ การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในระบบบรรษัทภิบาล ตลท. ไม่ได้ทำอะไรเลย
หรือ ก.ล.ต. คิดว่าโมเดลส่งเสริมและพัฒนาฉบับ ก.ล.ต. จะดีกว่าฉบับของ ตลท. ถ้าเช่นนั้นก็ควรเล่าแจ้งแถลงไขมาเพื่อให้สาธารณชนมีทางเลือกคุณูปการอันดีที่สุดต่อตลาดทุน
หาใช่ว่าต้องเลือกเอาโมเดล ก.ล.ต.เพราะทรงอำนาจบาตรใหญ่เหนือกว่า ตลท. ซึ่งไร้สาระมากสำหรับการบริหารโลกแห่งทุนโลกาภิวัตน์ยุคนี้
ลองคิดกันดูเล่นๆ ก็ยังไหวเลยว่า ถ้าจะให้ ก.ล.ต. ไปทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนากิจการตลาด ผมยังนึกไม่ออกเลยว่า บุคลิกภาพของคน ก.ล.ต. จะไปเชิญชวนคนเข้ามาร่วมกิจกรรมกันยังไง
คน ก.ล.ต. จะมี “บิสซิเนส ไมด์” หรือมีใจกว้างจะไปรับฟังคนทำมาหากินให้มีโอกาสได้เข้าระดมทุนในตลาดภายใต้เครื่องมือระดมทุนที่มีประสิทธิภาพและไม่มุ่งจับผิดธุรกิจได้อย่างไร
เฮ้อ! แค่คิดนี่ก็เหนื่อยแล้วนะครับ ไม่รู้เอาอะไรคิดกันมาได้ ของเก่าดีเลวมาอย่างไรไม่รู้ แต่ตรูข้าต้องเอาของใหม่ และไม่ต้องแถลงโชว์ของดีของเด็ดตรูเสียด้วย
ปล้น 8 พันล้านบาท ขอเงินบำรุงอีก 90% ขอคำตอบรวบรัดภายใน 21 มิ.ย. ศกนี้ พวกเราชาวตลาดทุนควรบริจาคหรือยอมจำนนมอบให้แก่ “บิ๊กฟู้ตตลาดทุน” ดีไหมเนี่ย