KTB ยังไม่ดี แม้ราคาหุ้นปรับฐานไปมากธุรกิจยังขาดความน่าสนใจ ถือรับปันผล
บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า การเพิ่มขึ้นของ NPL อย่างมีนัยฯ สะท้อนคุณภาพสินทรัพย์ของ KTB ที่แย่ลง โดยคาดการแก้ไขหนี้อาจทำไม่ได้เร็วนักแม้จะเป็นสินเชื่อรายย่อยก็ตาม จึงนำไปสู่การปรับลดประมาณการปี 2558 ลงถึง 17% จากเดิม และลด Fair value เหลือ 24 บาท
บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ (22 เม.ย.) ว่าธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ชี้แจงปัญหาการเพิ่มขึ้นของ NPL กว่า 1 หมื่นล้านบาท (งบรวม) ในงวดนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่สินเชื่อ SME ขนาดเล็กมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารฯ ชะลอการปล่อยสินเชื่อประเภทนี้ไปก่อน) ผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง
โดยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยไปนั้นเป็นสินเชื่อที่ธนาคารฯ เร่งปล่อยไปในช่วงปี 2555-56 เพื่อดันส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อรายย่อยจากระดับเฉลี่ย 25-26% ในช่วงปี 2553-54 เป็น 32% ของสินเชื่อรวม ภายใต้ขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อที่ไม่ได้มาจากส่วนกลาง (de-centralized approval process) อีกทั้งไม่ได้ใช้ข้อมูลสถิติของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) มาพิจารณาประกอบการอนุมัติสินเชื่ออย่างรัดกุม
KTB เชื่อว่าภายหลังการทำ transformation ซึ่งเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพการให้สินเชื่อเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันภายใต้แนวคิด “Loan factory” จะส่งผลให้การอนุมัติสินเชื่อเป็นไปอย่างรวดเร็ว และรัดกุมมากขึ้น ซึ่งจะผ่านส่วนกลางและใช้ข้อมูลสถิติจาก NCB มาประกอบการพิจารณาสินเชื่อ
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ในภาวะปัจจุบันอาจดำเนินการไม่ได้เร็วนัก จึงน่าจะเห็น NPL ที่ยังทรงตัวสูงหรืออาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกหากภาวะเศรษฐกิจยังไม่กระเตื้อง ซึ่งจะส่งผลกระทบเชื่อมโยงไปถึงเป้าสินเชื่อปี 2558 ที่ 6-7% (1.5 เท่าของ GDP) ภายใต้คาดการณ์ GDP ที่คาดไว้เดิมคือ 4-4.5% ทำให้ธนาคารฯ ต้องมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
ฝ่ายวิจัยปรับลดประมาณการผลการดำเนินงานปี 2558-59 ลง 16.9% และ 10.9% จากเดิม เพื่อสะท้อนการรวมงบการเงินของบริษัทย่อย KTC (KTB ถือหุ้น 49.45%) เข้าไปตามมาตรฐานบัญชีฉบับ 10 ว่าด้วยงบการเงินรวมที่ถือความมีนัยฯ ในการควบคุมกิจการของบริษัทลูก จากเดิมที่ยึดถือสัดส่วนการถือหุ้นที่เกิน 50% ซึ่งคาดกำไรสุทธิปี 2558 ราว 2.4 พันล้านบาท รวมถึงปรับเพิ่ม NIM (เพราะ yield ของสินเชื่อของ KTC ที่เน้นสินเชื่อรายย่อยสูงกว่า KTB) แต่กลับถูกหักล้างไปด้วยการปรับลดสมมติฐานการเติบโตของสินเชื่อที่ลดลง และการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยฯ
ภายหลังปรับประมาณการ ส่งผลให้คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2558 ลดลง 3.2% จากปีก่อน แต่จะกลับฟื้นตัว 19.1% ในปี 2559 จากฐานที่ต่ำ โดย Fair value ปี 2558 ลดลงเหลือ 24 บาท จากเดิม 29 บาท ตามวิธี GGM อิง PBV 1.34 เท่า ภายใต้คาดการณ์ ROE ระยะยาวที่ 15.5%
แม้ราคาหุ้นจะผ่านการปรับฐานไปมาก แต่ฝ่ายวิจัยยังคงคำแนะนำทางพื้นฐานเพียงถือรับปันผลเนื่องจากพื้นฐานธุรกิจที่ยังขาดความน่าสนใจโดยเฉพาะคุณภาพสินทรัพย์ที่ยังน่ากังวล ณ ปัจจุบัน