ตลท.สั่ง EIC แจงวัตถุประสงค์กรณีขายหุ้นเพิ่มทุนให้ชัดเจน
ตลท. ให้ EIC ชี้แจงกรณีขายหุ้นเพิ่มทุน PP จำนวน 330 ล้านหุ้นที่บริษัทยังไม่ได้เปิดเผยวัตถุประสงค์การใช้เงินเพิ่มทุนอย่างชัดเจน ภายในวันที่ 27 เม.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้บริษัท อุตสาหกรรม อีเล็คโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ EIC ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมกรณีบริษัทเพิ่มทุนโดยออกหุ้นสามัญจำนวน 854.57 ล้านหุ้น หรือประมาณ 1.79 เท่าของทุนชำระปัจจุบัน
โดยจัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมจำนวนไม่เกิน 190.75 ล้านหุ้น แต่จัดสรรหุ้นจำนวนไม่เกิน 330 ล้านหุ้น ให้กับบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) โดย EIC ยังไม่ได้เปิดเผยวัตถุประสงค์การใช้เงินเพิ่มทุนอย่างชัดเจน และหลักเกณฑ์การเพิ่มทุนหรือจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด ดังนั้น เพื่อให้ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไปได้รับทราบข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนตลท.จึงขอให้ EIC ชี้แจงข้อมูลภายในวันที่ 27 เม.ย. 2558
อนึ่งวานนี้ (22 เม.ย.) EIC ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทวานนี้ (21 เม.ย.) มีมติอนุมัติให้ลดทุนจดทะเบียน โดยลดจำนวนหุ้นที่จัดสรรไว้สำหรับหุ้นกู้แปลงสภาพเดิม หลังจากนั้นให้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 1,451,450,405 บาท จากเดิมที่ 596,881,145 บาท
อีกทั้งออกหุ้นใหม่ไม่เกิน 854,569,260 หุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท จัดสรรไม่เกิน 190,752,458 หุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 5 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 1 บาท พร้อมแถมใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ(วอร์แรนต์) ในอัตรา 4 หุ้นใหม่ต่อ 7 วอร์แรนต์ โดยกำหนดวันจองซื้อหุ้นและชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนในวันที่ 25 มิ.ย.-2 ก.ค.58
นอกจากนี้จะจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 330,000,000 หุ้น เสนอขาย PP ที่ราคาหุ้นละ 1.76 บาท ซึ่งจะมีการกำหนดระยะเวลาจองซื้อในภายหลัง ส่วนหุ้นเพิ่มทุนที่เหลือไม่เกิน 333,816,802 หุ้น จะใช้รองรับการแปลงสภาพวอร์แรนต์รุ่นที่ 2 EIC-W2 จำนวนไม่เกิน 333,816,802 หน่วย ที่จะออกให้ฟรีแก่ผู้ถือหุ้นเดิมที่จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนใหม่ดังกล่าว โดยวอร์แรนต์มีอายุ 5 ปี และมีอัตราการใช้สิทธิ 1 วอร์แรนต์ต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาใช้สิทธิหุ้นละ 1 บาท
สำหรับวัตถุประสงค์ในการเพิ่มทุนครั้งนี้ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และใช้ในการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจหลักของบริษัท และใช้ในการลงทุนธุรกิจหรือกิจการใหม่ หรือในสินทรัพย์ที่มีศักยภาพ รวมถึงการเพิ่มทุนในบริษัทย่อย หรือบริษัทร่วม และการให้กู้ยืมกับบริษัทย่อย หรือบริษัทร่วม โดยการเพิ่มทุนจะช่วยเสริมสร้างโครงสร้างเงินทุน รวมถึงฐานะทางการเงินของบริษัทให้แข็งแกร่ง รองรับการขยายตัวของธุรกิจ