ฟางเส้นสุดท้ายของอังกฤษ

ข้อเสนอล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาของ นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ยื่นข้อเสนอต่อเหล่าผู้บริหารของสหภาพยุโรป (EU) ว่า อังกฤษจะมอบสิทธิ์เทียบเท่าพลเรือนอังกฤษให้แก่ผู้ที่มาจากประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปที่อาศัยอยู่ในอังกฤษมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี ได้รับการหมางเมินจากผู้นำหลายชาติในยูโรโซน เพราะถือว่าเป็นแค่เกมยื้อเวลาของสหราชอาณาจักรเท่านั้นเอง


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

ข้อเสนอล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาของ นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ยื่นข้อเสนอต่อเหล่าผู้บริหารของสหภาพยุโรป (EU) ว่า อังกฤษจะมอบสิทธิ์เทียบเท่าพลเรือนอังกฤษให้แก่ผู้ที่มาจากประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปที่อาศัยอยู่ในอังกฤษมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี ได้รับการหมางเมินจากผู้นำหลายชาติในยูโรโซน เพราะถือว่าเป็นแค่เกมยื้อเวลาของสหราชอาณาจักรเท่านั้นเอง

เงื่อนไขที่ทำให้ผู้นำยูโรโซน ซึ่งกำลังตัดสินเรื่องย้ายสำนักงานสำคัญของสหภาพยุโรปออกจากอังกฤษ โดยเฉพาะองค์การด้านการแพทย์แห่งสหภาพยุโรป (EMA) และสำนักงานใหญ่ธนาคารกลางยุโรป (EBA) มองว่านายกรัฐมนตรีอังกฤษเล่นเกมโดยไม่มีเหตุสมควร อยู่ที่ว่าในข้อเสนอที่ดูดีนั้น ระบุว่าในกรณีที่บุคคลและ/หรือนิติบุคคลจากเขตสหภาพยุโรปหรือ เชงเกน ที่ได้รับสิทธิพิเศษ มีข้อขัดแย้งทางกฎหมายกับคน/นิติบุคคลในอังกฤษ ต้องขึ้นศาลอังกฤษ ไม่ใช่ขึ้นศาลของสหภาพยุโรป

ข้อเสนอที่ดูดีในชั้นต้นของอังกฤษจึงถูกตีความว่าเป็นน้ำผึ้งเคลือบยาพิษ

ตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ  อนุญาตให้สิทธิ์เทียบเท่าประชาชนชาวอังกฤษสำหรับคนจากสหภาพยุโรปที่ถือพาสปอร์ตเชงเกน จำนวนรวม 3.5 ล้านคน ได้รับสิทธิ์ให้พำนักอยู่ในอังกฤษได้ต่อไป และสามารถใช้บริการด้านสาธารณสุข การศึกษา และสิทธิประโยชน์อื่นๆ ได้ หลังจากกระบวกการถอนตัวออกจาก EU ของอังกฤษเสร็จสิ้น

ก่อนหน้านี้ สหภาพยุโรปได้เคยเสนออังกฤษ ระบุว่า ต้องการให้อังกฤษตอบสนองการที่สหภาพจะยินยอมให้คนอังกฤษ 1.5 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ในประเทศสมาชิก EU ได้รับสิทธิ์ดังกล่าว แต่ต้องขึ้นศาลสหภาพยุโรปในกรณีขัดแย้งกัน

คำพูดทำนอง “ข้อเสนอตอบรับของอังกฤษเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ไม่พอเพียง จึงแฝงความหมายว่าความขัดแย้งพื้นฐานของสหภาพยุโรปและอังกฤษที่เคยมีพวก “โลกสวย” เชื่อว่าจะราบรื่นนั้น เอาเข้าจริง อาจจะไม่ได้เป็นดังคาด

หากพิจารณาข้อเสนอของทั้งฝ่ายสหภาพยุโรป และของอังกฤษ จะเห็นได้ว่าข้อเสนอทั้งสองฝ่ายที่โยงใยเข้ากับหลักการที่เคยใช้มาก่อนในเวทีข้อตกลงทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศที่เรียกโยงใยกัน 2 ประเด็นคือ 1) หลักการ ชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง (most favoured nation – MFN) 2) หลักการ การปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ national treatment

เดิมทีนั้นหลักปฏิบัติทั้ง 2 ประการใช้เฉพาะในองค์การค้า ภายใต้ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าและภาษีศุลกากร หรือ แกตต์ ที่ยกเลิกไปแล้ว และถูกแทนที่ด้วยองค์การค้าโลก หรือ WTO แต่ได้มีการนำเอาหลักการดังกล่าวมาขยายความถึงเรื่องอื่นที่นอกเหนือจากเรื่องการค้าเศรษฐกิจ กลายเป็นเรื่องสิทธิข้ามรัฐที่ใช้กันในความหมายกว้างกว่าเริ่มแรกมาก

หลักการ MFN เป็นสถานะซึ่งชาติหนึ่งให้แก่อีกชาติหนึ่งที่เป็นสมาชิกของข้อตกลงพหุภาคี ในการค้าระหว่างประเทศ ถึงแม้ว่าคำ ชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง จะฟังดูขัดหูกับข้อเท็จจริงที่มีความหมายหลักในทางปฏิบัติคือ หลักการไม่เลือกปฏิบัติ (Non-Discrimination) โดยคำนี้หมายความตามลายลักษณ์อักษรว่า ชาติที่ได้รับสถานะดังกล่าวจะได้ข้อได้เปรียบทางการค้าทั้งหมดมากกว่าชาติอื่น เช่น อัตราภาษีศุลกากรระดับต่ำ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ชาติที่ได้รับสถานะชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่งจะไม่ถูกปฏิบัติในระดับต่ำกว่าชาติอื่น ซึ่ง ไม่ได้เป็นสมาชิกของข้อตกลงพหุภาคีนั้น (เช่น องค์การการค้าโลก) โดยที่แต่ละชาติที่ร่วมทำข้อตกลง จะปฏิบัติต่อสมาชิกอื่นในฐานะคู่ค้าที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่งทั้งสิ้น

โดยหลักการพื้นฐาน สมาชิกของข้อตกลงพหุภาคี ซึ่งรวมถึงประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมด จะต้องสมัครใจมอบสถานะดังกล่าวให้แก่กัน โดยมีข้อยกเว้นเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา เขตการค้าเสรีในภูมิภาค และสหภาพการค้า ที่อาจจะมีการมอบสิทธิพิเศษภายใต้ข้อตกลงเฉพาะที่เรียกว่า การปฏิบัติเป็นกรณีพิเศษ และแตกต่างจากชาติสมาชิกทั่วไป (special and differentiation treatment-S&D) ภายใต้ความเห็นชอบร่วมกันของสมาชิกทั้งมวล

ส่วนหลักการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) คือ หลักที่เน้นถึงการไม่ปฏิบัติต่อผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศหรือการลงทุนของบุคคลหรือนิติบุคคลสัญชาติอื่นที่ทำข้อตกลง ให้ด้อยไปกว่าผลิตภัณฑ์ภายในประเทศของตน หลักการนี้ ใช้ได้กับทั้งข้อตกลงแบบทวิภาคี และพหุภาคี แล้วก็ยังใช้ได้ในข้อตกลงทางการเมืองที่ให้ความคุ้มครองทางด้านเศรษฐกิจของคนในชาติที่ร่วมทำข้อตกลงด้วย

ศัพท์กฎหมายระหว่างประเทศปัจจุบันระบุว่า หลักปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ หมายถึง 1.การปฏิบัติต่อสินค้านำเข้าเช่นเดียวกับสินค้าที่ผลิตในประเทศ หรือการปฏิบัติต่อคนต่างชาติเช่นเดียวกับคนในชาติของตน โดยรัฐภาคีสมาชิกของทุกรัฐจะต้องไม่ใช้มาตรการภาษีภายใน ค่าภาระภายใน กฎหมาย ข้อบังคับ หรือข้อกำหนดภายในรัฐใดๆ ที่กระทบถึงสินค้านำเข้าและสินค้าภายในรัฐ ในเชิงที่ให้ประโยชน์แก่ผลิตภัณฑ์ภายในรัฐของตน เช่น ผลิตภัณฑ์ของอาณาเขตของภาคีคู่สัญญาใดซึ่งนำเข้ามาในอาณาเขตของภาคีคู่สัญญา จะไม่ถูกเรียกเก็บภาษีภายในหรือค่าภาระภายในไม่ว่าในรูปแบบใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เกินกว่าที่ใช้บังคับอยู่แก่ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม 2.การบังคับใช้กฎหมายภายในต่างๆ ทุกรูปแบบที่จะต้องไม่ด้อยไปกว่า หรือ จะต้องเท่าเทียมกันระหว่างผลิตภัณฑ์นำเข้าและผลิตภัณฑ์ภายในประเทศนั่นเอง

หากพิจารณาข้อเสนอแรกสุดของสหภาพยุโรป และการสนองตอบของอังกฤษ จะเห็นได้ว่า เป็นข้อเสนอเดียวกัน แต่เกี่ยงกันในประเด็นพื้นฐานคือ จะใช้ศาลของสหภาพยุโรปหรือศาลอังกฤษในกรณีระงับข้อพิพาทของพลเมือง ซึ่งก็ว่าไปแล้ว โยงเข้ากับเรื่องของอธิปไตยของกระบวนการทางศาลที่แตกต่างกัน เพราะอังกฤษนั้นใช้หลักกฎหมาย common law ในขณะที่สหภาพยุโรปส่วนใหญ่ใช้กฎหมาย civil law

ใครบอกว่าเรื่องดังกล่าวไม่สำคัญ จึงเท่ากับมองข้ามพื้นฐานที่ไปด้วยกันไม่ได้ตั้งแต่แรกของสหภาพยุโรป และเป็นที่มาของการลงประชามติเพื่อถอนตัวจากสหภาพยุโรปของอังกฤษและสหราชอาณาจักร เมื่อปีที่ผ่านมา

ยิ่งนานวัน โอกาสที่อังกฤษและสหภาพยุโรปจะหันหลังให้แก่กัน จะกลายเป็นปกติธรรมดา

Back to top button