พาราสาวะถี
เป็นเรื่องใหญ่และไม่รู้ว่าจะกลายเป็นหนังเรื่องยาวด้วยหรือเปล่า สำหรับประเด็นการคัดเลือกผู้สมัครส.ส.ในระบบไพรมารีโหวต ตามการปรับแก้ร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองของสนช. เนื่องจากล่าสุด มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ยืนยันกับนักข่าวเองว่า กกต.ตีความในมาตรา 42 ว่าระบบไพรมารีโหวตคือส่วนหนึ่งของการเลือกตั้ง แต่กลับให้พรรคการเมืองจัดการสรรหาแบบไพรมารีโหวตกันเอง ส่วนกกต.มีหน้าที่ควบคุมตรวจสอบและให้ใบเหลือง ใบแดง
อรชุน
เป็นเรื่องใหญ่และไม่รู้ว่าจะกลายเป็นหนังเรื่องยาวด้วยหรือเปล่า สำหรับประเด็นการคัดเลือกผู้สมัครส.ส.ในระบบไพรมารีโหวต ตามการปรับแก้ร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองของสนช. เนื่องจากล่าสุด มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ยืนยันกับนักข่าวเองว่า กกต.ตีความในมาตรา 42 ว่าระบบไพรมารีโหวตคือส่วนหนึ่งของการเลือกตั้ง แต่กลับให้พรรคการเมืองจัดการสรรหาแบบไพรมารีโหวตกันเอง ส่วนกกต.มีหน้าที่ควบคุมตรวจสอบและให้ใบเหลือง ใบแดง
เมื่อเป็นเช่นนั้น หมายความว่า กกต.จะต้องจัดการเลือกตั้งให้พรรคการเมืองด้วย ไม่เช่นนั้นจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มองเห็นเค้าลางของการที่จะทำให้กฎหมายฉบับนี้มีปัญหากันแล้ว และการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมคงไม่ตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาตามที่ประธานผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญให้ความเห็น สุดท้ายจึงต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ
เพียงแต่ว่าช่องทางการไปถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยนั้นใครจะเป็นผู้ดำเนินการ แน่นอนว่า หลังมีชัยออกมาให้ความเห็นในลักษณะนี้ สมชัย ศรีสุทธิยากร ที่กลายเป็นไม้เบื่อไม้เมากับกรธ.หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นคู่ขนานกันกับประธานกรธ.ไปแล้ว ก็สวนกลับทันทีว่า อย่าเอาประเด็นปริวิตกว่า พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครไม่ได้ ทำไม่ทัน มาเป็นประเด็นโต้แย้งว่าร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ
เพราะถ้าอ้างเช่นนั้น กกต.ก็คงกล่าวอ้างได้เช่นกันว่า การเซตซีโร่กกต.ใหม่ทั้งหมดอาจทำให้การเลือกตั้งไม่ราบรื่น เนื่องจากกกต.ใหม่ยกชุดอาจไม่มีประสบการณ์ในการจัดการที่เพียงพอ การร่างกฎหมายในวันนี้จึงเป็นเรื่องที่สมควรนำเนื้อหามาชี้แจง ประกบกับรายมาตราในรัฐธรรมนูญให้ได้ว่าขัดในมาตราใด มากกว่ายกเหตุผลที่รับฟังไม่ขึ้นมากล่าวอ้าง
เรียกได้ว่าตอกกลับชนิดไม่ไว้หน้ากันเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ความเห็นที่เข้าท่าของสมชัยประการหนึ่ง ซึ่งเคยบอกไปแล้วว่า หลังจากที่กกต.ถูกรุกไล่ถึงขั้นเซตซีโร่ ดูเหมือนว่ากกต.ชายเดี่ยวที่เคยให้ต้องเอียงเพราะงานใหญ่ จะเกิดสติมีความสำนึก ยืนอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง และเสาะแสวงหาเหตุและผลมาอธิบายกับสังคมได้อย่างน่าฟัง
สมชัยชี้ให้เห็นปัญหา ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายได้เคยทักท้วงมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยเฉพาะพรรคการเมือง กล่าวคือร่างกฎหมายพรรคการเมืองที่เกิดขึ้น ในขั้นของการร่างมิได้เปิดรับฟังปัญหาจากทุกฝ่ายอย่างแท้จริง อีกทั้งไม่นำประเด็นที่ซ่อนเร้นขึ้นมาถกอภิปรายกันก่อน เป็นการมุ่งเอาชนะกันแทนที่จะปรึกษาหารือกันด้วยเหตุผลเพื่อให้ได้ร่างที่รอบคอบไม่เป็นปัญหา
นี่คือต้นตอที่แท้จริง อย่างที่ย้ำมาโดยตลอด เมื่อหันไปมองยังร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่ามีหลายประเด็นที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ครั้นมาร่างกฎหมายลูกพยายามที่จะทำให้มันเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ มันจึงขัดแย้งกันอยู่ในที ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพคงบอกว่าแทนที่จะตัดรองเท้าให้เข้ากับเท้า แต่ตอนนี้กลายเป็นพยายามตัดเท้าให้เข้ากับรองเท้า มันจึงเป็นเรื่องใหญ่และเรื้อรัง ต้องหาทางแก้ไขกันรายวัน
ทั้งนี้ ในมุมของสมชัยเห็นว่าร่างกฎหมายพรรคการเมือง มาถึงวันนี้การตั้งคณะกรรมาธิการร่วมอาจไม่ใช่คำตอบ เพราะหาประเด็นที่ยกว่าขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญไม่ได้ และร่างกฎหมายก็ผ่านสภาไปแล้ว สิ่งที่ทำได้ คือคณะรัฐมนตรีหากเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ ก็ควรส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ สิ่งนี้น่าจะเป็นทางออกที่เป็นไปได้ที่สุด
แต่เชื่อได้เลยว่าทางด้านมีชัยหรืออาจจะเป็นกรธ.รายอื่นคงไม่ได้คล้อยตามเช่นนั้น เพราะเมื่อพิจารณาจากบทสัมภาษณ์ของประธานกรธ.ก็พบว่า ยังคาใจต่อคำชี้แจงของกกต.ไม่น้อยต่อกฎหมายพรรคการเมือง ทั้งในประเด็นไพรมารีโหวตจนไปถึงความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง โดยระบุว่าจากการที่กรธ.เชิญกกต.มาสอบถามถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขในทางปฏิบัติในการจัดการเลือกตั้ง กกต.ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน
หากจับเอาเฉพาะประเด็นที่มีชัยพูดถึงกกต. ถ้าคิดในเชิงลบดูเหมือนว่าจะเป็นการดิสเครดิตกันในที ต้องไม่ลืมว่ากรธ.นั้นมีเป้าชัดเจนเรื่องเซตซีโร่ ดังนั้นจึงต้องแสดงพฤติกรรมหรือทำให้สังคมเห็นว่า 5 เสือกกต.ไม่สมควรที่จะอยู่ทำหน้าที่ต่อไปอย่างไร ไม่เพียงเท่านั้น ในคณะกรรมาธิการร่วมถกหาทางออกกฎหมายว่าด้วยกกต. มีชัยก็ยืนยันมาแล้วว่าจะไปนั่งเป็นกรรมาธิการร่วมด้วยตัวเอง
โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่และต้องทำความเข้าใจเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต เห็นการเอาจริงเอาจังของประธานกรธ.เช่นนี้แล้ว คงเหมือนที่เคยบอกไว้ก่อนหน้าว่า ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมขึ้นมา ขึ้นอยู่กับว่าเสียงส่วนใหญ่เป็นอย่างไร ในส่วนของกกต.แทบจะไม่มีความสำคัญเพราะมีเพียง 1 เสียงและเป็นเพียงผู้ที่ให้ความเห็น
คงต้องไปรอพิสูจน์กันในกระบวนการพิจารณา เพราะเวลานี้กรธ.ได้เคาะ 5 รายชื่อที่จะไปนั่งเป็นกรรมาธิการร่วมเรียบร้อยแล้ว ซึ่งนำทีมโดยมีชัย พร้อมด้วย ประพันธ์ นัยโกวิท ปกรณ์ นิลประพันธ์ ภัทระ คำพิทักษ์ และ ศุภชัย ยาวะประภาษ ร่วมกับตัวแทนสนช.อีก 5 ราย พร้อมด้วยประธานกรธ. ซึ่งคณะกรรมาธิการชุดนี้มีเวลาพิจารณาหาข้อยุติภายใน 15 วัน
สำหรับกำหนดเวลา 15 วันในการทำงานของคณะกรรมาธิการร่วมนั้น จะเริ่มนับต่อเมื่อสนช.มีมติแต่งตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งก็ไม่น่าจะเกินภายในสัปดาห์นี้ ส่วนร่างกฎหมายพรรคการเมืองที่มีปมปัญหาเรื่องไพรมารีโหวตนั้น ประธานสนช.ก็ส่งร่างฉบับแก้ไขมาให้กรธ.เรียบร้อยแล้ว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 หากกรธ.เห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ตรงตามเจตนารมณ์ จะต้องแจ้งสนช.ภายใน 10 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 5 กรกฎาคมนี้
พิจารณาจากเงื่อนเวลาแล้ว กระบวนการพิจารณาหาทางออกเกี่ยวกับกฎหมายที่จะมีผลต่อการเดินหน้าเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับ คงจะได้ข้อสรุปภายในเร็ววันนี้ แม้สุดท้ายจะต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังมีเรื่องของระยะเวลาที่จะต้องดำเนินการกำกับไว้ ดังนั้น ในเวลาไม่นานเราก็จะได้รู้กันโรดแมปเลือกตั้งจะเป็นไปตามแผนหรือเปล่า เว้นเสียแต่จะมีกฎหมายฉบับหนึ่งฉบับใดต้องมีอันเป็นไปแล้วต้องไปเริ่มกระบวนการกันใหม่ อันนั้นก็จะเป็นอีกเรื่อง ซึ่งรู้สึกว่าจะมีคนแอบมองมาในมุมนี้อยู่เหมือนกัน