CPFเสียงอ่อยหุ้นเพิ่มทุนเสี่ยงขายไม่หมด หลังราคาใกล้กระดานซื้อขาย

บอร์ด CPF ไฟเขียวเพิ่มทุน 1.55 พันล้านหุ้น ขายผถห.เดิม 5:1 ที่ 25 บ. รับอาจขายหุ้นเพิ่มทุนได้ไม่หมด หลังราคาขายใกล้เคียงการซื้อขายในกระดาน


นายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เปิดเผยว่า ในวันนี้ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น CPF มีมติอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนด้วยการออกหุ้นสามัญใหม่ 1.55 พันล้านหุ้นเสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 5 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 25 บาท เบื้องต้นคาดว่าจะระดมทุนได้ประมาณ 3.87 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริษัทกำหนดราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวใกล้เคียงกับราคาในตลาด จึงมีความเป็นไปได้ที่การเพิ่มทุนรอบนี้อาจจะขายหุ้นไม่ได้ทั้งหมด 100% แต่บริษัทจะไม่นำหุ้นที่เหลือจากการเพิ่มทุนกลับมาขายอีก

“ราคาเสนอขาย 25 บาทใกล้เคียงราคาตลาด ตอนที่คณะกรรมการพิจารณาเรื่องเพิ่มทุนราคาตลาดยังสูงกว่า 25 บาท เราได้พิจารณาอย่างละเอียดรวมถึงเรื่อง Dilution Effect เราคาดว่ามีความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ (เครือเจริญโภคภัณฑ์) ที่ถือหุ้นสัดส่วน 49.5% เพิ่มทุนตาม 100% อยู่แล้ว”นายอดิเรก กล่าว

อนึ่ง ราคาหุ้น CPF ล่าสุดเมื่อเวลา 16.18 น.ของวันนี้ อยู่ที่ 25.00 บาท ลดลง 0.25 บาท (-0.99%)

ทั้งนี้ การเพิ่มทุนดังกล่าวคาดว่าจะมีผลกระทบ Dilution  Effect ประมาณ 20% หลังการเพิ่มทุน ขณะที่บริษัทมีแผนจะนำเงินไปใช้คืนหนี้บางส่วน เพื่อทำให้บริษัทมีสถานการเงินแข็งแกร่งขึ้น และนำไปลงทุนขยายธุรกิจต่อเนื่อง โดยบริษัทจะใช้งบลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท/ปี ยังไม่นับรวมการเข้าซื้อกิจการ ซึ่งบริษัทยังมีการเจรจาอยู่หลายราย

 

ด้าน นายไพศาล จิระกิจเจริญ ประธานผู้บริหารฝ่ายการเงิน CPF กล่าวว่า บริษัทจะนำเงินเพิ่มทุนส่วนใหญ่ไปใช้ชำระคืนหนี้เงินกู้ จำนวน 2.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ใน 3 ประเทศ คือ ตุรกี รัสเซีย อินเดีย เนื่องจากมีภาระดอกเบี้ยสูงถึง 10-12% คาดว่าจะทำให้บริษัทสามารถลดภาระหนี้จ่ายได้ประมาณปีละ 1,350 ล้านบาท

ขณะที่ภาระหนี้รวมทั้งหมดของบริษัทมีอยู่ราว 3 แสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 4% ซึ่งเป็นหนี้ที้ใช้ลงทุนใน 16 ประเทศ มีอัตราหนี้สินสุทธิต่อทุน (NET D/E) ที่ 1.3 เท่า หากนำเงินเพิ่มทุนในครั้งนี้ไปชำระหนี้ใน 3 ประเทศแล้วจะทำให้ NET D/E เหลือต่ำกว่า 1 เท่า

“ตอนนี้ราคาหุ้นลงมา 25 บาทจาก  30 บาท ก็ถือว่า Dilution Effect เกิดขึ้นแล้วราคาได้สะท้อนไปแล้ว” นายไพศาล กล่าว

สำหรับแนวโน้มในครึ่งหลังปีนี้ ราคาเนื้อไก่ และกุ้ง รวมถึงไข่ไก่ยังมีราคาดีต่อเนื่อง จากความต้องการสูง ขณะที่ราคาเนื้อสุกรขณะนี้ราคายังไม่ค่อยดีแต่คาดว่าจะค่อยๆฟื้นตัวในช่วงปลายปี ทั้งนี้ธุรกิจของ CPF ส่วนใหญ่หรือประมาณสัดส่วน 80% อยู่ในไทย จีน และเวียดนาม โดยที่เหลือ 20% อยู่ในประเทศอื่น

ทั้งนี้ บริษัทมีธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจเนื้อสัตว์ และ ธุรกิจอาหารสำเร็จรูป ซึ่งธุรกิจเนื้อสัตว์จากไก่ หมู ปลา กุ้ง ไข่ไก่ จะผันแปรมากตามภาวะตลาด จึงมีทั้งขึ้นและลง ทำให้ผลประกอบการผันผวนตามราคาเนื้อสัตว์ด้วย ถึงกระนั้นบริษัทก็ยังคงคาดว่ารายได้จะเติบโตได้ต่อเนื่องราว 8-10% ต่อปี และปีนี้เช่นกันเชื่อว่าจะเติบโต 8-10% ขณะเดียวกันบริษัทพยายามเพิ่มสัดส่วนธุรกิจอาหารสำเร็จรูปเพื่อให้การเติบโตอย่างยั่งยืน

Back to top button