พาราสาวะถี

ถือเป็นมวยถูกคู่หรือประเภทไก่เห็นตีนงู เพราะหลังจาก พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม ออกมาแสดงท่าทีขึงขัง ไม่พอใจต่อเสียงวิจารณ์เรื่องระบบไพรมารีโหวต ซึ่งผ่านการปรับแก้ในร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองที่ตัวเองนั่งเป็นประธานกรรมาธิการพิจารณา ถึงขึ้นบอกว่า ถ้าพรรคการเมืองมีปัญหา ทำยาก ก็ไม่ต้องลงเลือกตั้งหรือยังไม่ต้องจัดการเลือกตั้งกันเลยทีเดียว


อรชุน

ถือเป็นมวยถูกคู่หรือประเภทไก่เห็นตีนงู เพราะหลังจาก พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม ออกมาแสดงท่าทีขึงขัง ไม่พอใจต่อเสียงวิจารณ์เรื่องระบบไพรมารีโหวต ซึ่งผ่านการปรับแก้ในร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองที่ตัวเองนั่งเป็นประธานกรรมาธิการพิจารณา ถึงขึ้นบอกว่า ถ้าพรรคการเมืองมีปัญหา ทำยาก ก็ไม่ต้องลงเลือกตั้งหรือยังไม่ต้องจัดการเลือกตั้งกันเลยทีเดียว

ส่งผลให้ ประมวล เอมเปีย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ออกมาสวนกลับอดีตหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการคมช. อันเป็นตำแหน่งที่ฉายภาพของพลเอกสมเจตน์ได้อย่างเด่นชัดว่า ยืนอยู่ข้างฝ่ายใดและมีทัศนคติทางการเมืองอย่างไร โดยกระบอกเสียงพรรคเก่าแก่ชี้ว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นการออกกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้รัฐบาลคสช.อยู่ต่อในอำนาจอยู่แล้ว

ขนาดนักวิชาการยังวิเคราะห์อ่านเกมสืบทอดอำนาจออก  กฎหมายที่ออกมาแต่ละฉบับ มีคำถามว่าใครได้ประโยชน์ ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือ กฎหมายพรรคการเมือง ที่ออกแบบมาเพื่อการทำลายพรรคการเมือง ไม่ให้เป็นสถาบันการเมือง ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ พรรคเล็ก พรรคใหม่ไม่มีโอกาสเกิด มิหนำซ้ำยังผลักภาระของรัฐบาลและกกต.ที่ตั้งขึ้นเพื่อจัดการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม ให้ไปเป็นภาระของพรรคการเมืองด้วย

อย่าคิดว่านักการเมืองจะกระสันอยากลงเลือกตั้ง ที่ทักท้วงเพราะเห็นว่าจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ จึงไม่รู้ว่าใครกันแน่ที่กระสันจะอยู่ต่อในอำนาจ เป็นการตบหน้าฉาดใหญ่ของคนที่ต้องบอกว่าพวกเดียวกัน อ่านท่วงทำนองแบบเฉพาะหน้า คงไม่ใช่เรื่องของการเล่นละครตบหน้า แต่น่าจะเป็นการเหลืออดเสียมากกว่า ที่ดูท่าแล้ว พรรคการเมืองประเภทรอเสียบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการยึดอำนาจในรอบนี้

แต่ที่ไม่ทราบว่าประมวลและคนของพรรคเก่าแก่รู้หรือเปล่า คนที่ตัวเองกำลังตำหนิอยู่นั้น มีข่าวแพลมออกมาให้จับตาดูให้ดี ราศีของการได้นั่งในอำนาจที่ยิ่งใหญ่กำลังเกาะ ตามข่าวบอกว่าจะได้ดิบได้ดีมีเก้าอี้เป็น 1 ใน 7 กรรมการองค์กรที่กำลังจะถูกเซตซีโร่เสียด้วย หากเป็นเช่นนั้น ก็คงจะเป็นเพราะคุณสมบัติประการสำคัญที่บอกว่า จะต้องมีความกล้าหาญนั่นกระมัง

อีกประการสำคัญคือ ไม่อยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใด แต่สิ่งที่ต้องสะกิดเตือนผู้มีอำนาจหากตัดสินใจเรียกใช้บริการอดีตนายทหารใหญ่รายนี้ด้วยคุณสมบัติที่กล่าวไป ต้องไม่ลืมถึงเรื่องความเป็นกลางทางการเมืองด้วย ถึงแม้จะกล้าตัดสินใจ ไม่อยู่ใต้อาณัติพรรคการเมืองใด แต่มีอคติต่อบางพรรคการเมือง เท่านี้ก็ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่มัวหมองต่อการไปนั่งเป็นกรรมการในองค์กรอิสระแห่งนี้แล้ว

ช่วงนี้ต้องยอมรับว่าเราได้เห็นแอ็คชั่นของคนพรรคเก่าถี่ยิบ ไม่เว้นกระทั่ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถ้าเป็นภาษากีฬาคงเรียกว่านั่งไม่ติด ล่าสุดมีการส่งจดหมายเปิดผนึกถึงกรธ.แสดงท่าทีต่อระบบไพรมารีโหวต แต่เมื่อเห็นสำนวนในจดหมายฉบับดังกล่าวแล้ว ต้องยอมรับกันว่านี่แหละการเดินเกมสไตล์พรรคประชาธิปัตย์ ต้องออกตัวไว้ก่อนเสมอ

แทนที่จะคัดค้านแบบสุดลิ่มทิ่มประตูเพื่อให้เกิดผลเปลี่ยนแปลง แต่นี่กลับเปิดทางหนีแสดงตัวก่อนว่าไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาค้านแบบสุดโต่ง โดยจดหมายดังกล่าวระบุว่า ถือเป็นเจตนาดีที่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งแนวทางที่เหมาะสมนั้น ควรหาทางให้สมาชิกพรรคจำนวนมากพอสมควรมาร่วมลงคะแนนแต่มีความยืดหยุ่นเพียงพอ ที่จะให้คณะกรรมการบริหารพรรคพิจารณากลั่นกรอง และใช้ดุลพินิจได้อย่างเหมาะสม

ก่อนจะล้อฟรีด้วยการยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนให้มีการปฏิรูปการเมือง เพื่อให้ประชาชนและสมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของพรรคการเมืองมากขึ้นและพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายที่จะออกมาบังคับใช้ ความเห็นที่แย้งกับผู้ร่างกฎหมายในปัจจุบันอยู่บนพื้นฐานของความห่วงใยว่าการไม่คำนึงถึงความเป็นจริงในสังคมจะทำให้ผลของการบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและผู้ร่างกฎหมาย

แหม!ถ้าจะคัดค้านแบบนี้อยู่เฉยๆน่าจะดีกว่า บรรดากองเชียร์ที่ไม่สุดโต่งจำนวนไม่น้อยต่างพากันส่ายหัว พอเห็นท่วงทำนองเช่นนี้ เลยทำให้คิดกันต่อไปว่าแล้วที่ขึงขังเล็งจะยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อปมร่างกฎหมายยุทธศาสตร์ชาตินั้นจะทำจริงหรือ เพราะสิ่งที่ วิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคเก่าแก่ชี้แจงนั้น ดูเหมือนว่านักวิชาการและพรรคการเมืองอื่นได้ทักท้วงไปแล้ว

อยากถามว่าเรื่องนี้ชอบธรรมหรือไม่ สำหรับรัฐบาลในอนาคตอีก 20 ปี มีประเด็นน่าคิดคือ มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญบอกว่า การออกกฎหมายต้องรับฟังความเห็นประชาชนอย่างรอบด้าน ดังนั้น ความชอบของกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติที่ผ่านไป มีปัญหาและไม่ง่าย เรื่องขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญเป็นมุมสำคัญ ถ้ารัฐบาลหรือผู้ออกกฎหมายลุแก่อำนาจ ไม่คำนึงถึงเสียงประชาชน ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด

การเขียนกฎหมายมัดมือชก ปิดกั้นดุลพินิจรัฐบาลในอนาคตให้ต้องปฏิบัติตามจะแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในเรื่องเฉพาะหน้าหรือกะทันหันได้ยาก ใครจะรู้ว่าวันข้างหน้าจะเกิดเรื่องร้ายแรงหรืออันตรายแค่ไหน เรื่องนี้ต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน คงไม่ต้องไปถามใครที่ไหนว่าจะทำจริงหรือเปล่า อยากให้วิรัตน์ไปถามคนพรรคเดียวกันที่กลับมาจากม็อบกปปส.มองมุมนั้นหรือเปล่า แล้วลุงกำนันว่าอย่างไร

ผิดกับ นพดล ปัทมะ จากฝั่งเพื่อไทยซึ่งไม่เห็นด้วยแน่นอนอยู่แล้ว แต่กลับมีท่าทีที่สุขุมมากกว่า ต้องรอดูว่าคนที่จะร่างแผนนี้จะร่างออกมาให้มีหน้าตาเป็นอย่างไร นอกจากนี้ ใครจะเป็นคนมาชี้ขาดว่ารัฐบาลในอนาคตหรือหน่วยงานของรัฐไม่ทำตามแผน ซึ่งจะต้องมาตีความกันอีก ในร่างดังกล่าวจะมีกลไกเพื่อเตือนก่อนหรือไม่ เพื่อให้รัฐบาลหรือหน่วยงานต่างๆรับทราบ และจะมีสิทธิชี้แจงถึงเหตุผลที่ทำหรือไม่ทำหรือไม่ ซึ่งถือว่ายังมีรายละเอียดอีกเยอะ

หรือจะเป็นเพราะว่าพรรคนายใหญ่รู้ชะตากรรมตัวเองแล้ว หลังเลือกตั้งครั้งหน้าจะต้องไปนั่งเป็นฝ่ายค้าน แต่พรรคเก่าแก่ยังมีความหวังที่จะเป็นรัฐบาล ไม่ว่าจะด้วยบริบทใดก็ตาม ดังนั้น อะไรที่คิดว่าจะเป็นอุปสรรคปัญหาทำให้พรรคของตัวเองเกิดความไม่ราบรื่นในการบริหารประเทศ จึงต้องแผ้วถางทางกันไว้ก่อน เพียงแต่ว่าความรู้สึกเห็นปัญหาจากกับดักรัฐประหารมันช้าไปแค่ 3 ปีเท่านั้นเอง (ฮา)

Back to top button