สงครามแย่งมนุษย์ทองคำ
การแย่งชิงพนักงานที่เรียกภาษาทางการว่า ผู้แนะนำการลงทุน หรือ “มาร์เก็ตติ้ง” ในธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ระหว่างบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพียงแต่แต่ละครั้งที่เกิด มักจะกลายเป็นกระแสข่าวใหญ่เสมอ พร้อมข้อถกเถียงกันมากมาย
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
การแย่งชิงพนักงานที่เรียกภาษาทางการว่า ผู้แนะนำการลงทุน หรือ “มาร์เก็ตติ้ง” ในธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ระหว่างบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพียงแต่แต่ละครั้งที่เกิด มักจะกลายเป็นกระแสข่าวใหญ่เสมอ พร้อมข้อถกเถียงกันมากมาย
กรณีล่าสุดของบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กับอดีตผู้บริหารเก่าของตนเองที่ย้ายไปทำงานกับ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ที่ยกระดับขึ้นกว่าเดิมถึงขั้นฟ้องร้องต่อศาล ถือว่ายังคงวนเวียนอยู่ในเนื้อหาเดิม คือการแย่งชิงตัวพนักงานจากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง เพราะต้องการเร่งการเติบโตทางลัด
ทุกครั้งที่มีข่าวเกิดขึ้น มักจะมีการประโคมข่าวว่า กรณีขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็น “วิกฤติแย่งชิงมาร์เก็ตติ้ง” ซึ่งเป็นการตีความที่เกินเลย เพราะแม้ว่าจะมีความปั่นป่วนเกิดขึ้นจริง แต่โดยภาพรวมก็ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้างกับธุรกิจโดยรวม
ปัญหาที่เกิดขึ้น มักมาจากระบบการบริหารบริษัทหลักทรัพย์ในปัจจุบัน เพราะจำนวนบริษัทหลักทรัพย์เกิดขึ้นใหม่ไม่มีมากนัก ขณะที่การทำธุรกรรมไม่ได้มีจำนวนเพิ่มก้าวกระโดด แต่จากข้อมูลของ ก.ล.ต.(ดูตารางประกอบ) พบว่า ธุรกิจหลักทรัพย์นี้ ยังคงเป็น “ขุมทรัพย์” ที่สามารถทำกำไรสูงต่อเนื่องไม่เคยขาด ไม่ว่าตลาดหุ้นจะดีหรือแย่
จากตัวเลขล่าสุดพบว่า รายได้รวม โดยเฉพาะจากการเป็นนายหน้าค้าหลักทรัพย์เป็นหลัก มียอดรวมประมาณ 4.4 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิรวมประมาณ 1.0 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิที่ประมาณ 25% ซึ่งถือว่าสูงกว่ากลุ่มธุรกิจอื่นๆ แม้ว่าบางบริษัทจะอยู่ในสภาพย่ำแย่ต้องดิ้นรนสารพัด แต่ภาพรวมของธุรกิจยังเติบโตได้ดี จากตัวเลขสินทรัพย์รวมในปี 2559 เพิ่มมากถึง 20% ทีเดียว
โครงสร้างหยาบๆ ของธุรกิจหลักทรัพย์ แบ่งออกตามที่มาของรายได้ง่ายๆ คือ บริษัทที่เน้นทำหน้าที่ในตลาดรายใหญ่ หรือ Wholesale brokers เน้นทำธุรกรรมกับนักลงทุนสถาบันมากกว่ารายย่อย กับบริษัทที่เน้นการทำธุรกรรมกับลูกค้ารายย่อย หรือ retail brokers
การที่นักลงทุนในตลาดหุ้นไทย ยังมีสัดส่วนของนักลงทุนรายย่อยมากกว่านักลงทุนสถาบัน ดังนั้น ธุรกรรมของบริษัทหลักทรัพย์ประเภทหลังจึงเต็มไปด้วยสีสัน ซึ่งรวมถึงการแย่งชิงส่วนแบ่งจากลูกค้ารายย่อยกันอย่างเอาเป็นเอาตาย
โดยทั่วไป จุดขายที่บริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์จะดึงดูดนักลงทุนรายย่อยกับตัวเองให้ได้มากที่สุด นอกจากชื่อเสียงของบริษัทแล้ว การออกบทวิเคราะห์เชิงลึก และการพัฒนาเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ความสามารถในการให้บริการมากขึ้น แต่ความสำคัญของพนักงานมาร์เก็ตติ้งยังคงเป็นจุดเน้นของธุรกิจที่ไม่อาจเลิกราจากวังวนนี้ได้
การย้ายงานของมาร์เก็ตติ้งของแต่ละบริษัทซึ่งควรถือเป็นเรื่องปกติและเกิดขึ้นสม่ำเสมอ จึงกลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตายเสมอ โดยเฉพาะรายที่มีการดึงตัวแบบจ่ายเงินเป็นทอดๆ และจ่ายเยอะกว่าปกติ ซึ่งมักจะเป็นเรื่องราวใหญ่โตได้
เงื่อนไขสำคัญของการย้ายงาน อยู่ที่ว่าหากการย้ายงานปกติ ไม่ได้ทำให้เกิดการย้ายลูกค้าไปกับพนักงานด้วย ซึ่งในทางปฏิบัติ มักไม่ใช่เช่นนั้น เพราะข้อเท็จจริงคือ ทุกครั้งที่มีการย้ายงานของพนักงาน ย่อมส่งผลกระทบกับบริษัท เพราะจะมีลูกค้าบางส่วนโดยเฉพาะรายใหญ่ที่ย้ายตามไปด้วย และบริษัทก็ไม่สามารถป้องกันได้เลยไม่ว่าในกรณีใดๆ
ข้อกล่าวหาพื้นฐานที่บริษัทหลักทรัพย์น้องใหม่ มักจะถูกโจมตีเสมอมาในเรื่องทุ่มเงินดึงพนักงานมาร์เก็ตติ้งจากบริษัทอื่น (และรวมถึงแย่งลูกค้า) จึงเป็นข้อถกเถียงในทำนอง “ไก่หรือไข่ อย่างไหนเกิดก่อนกัน” ที่ยากจะมีข้อยุติเป็นเอกฉันท์ นอกจากปล่อยให้กาลเวลาทำให้เงียบไป
คำถามคือ ความขัดแย้งดังกล่าว เมื่อมีการดึงตัวพนักงานมาร์เก็ตติ้ง จะสิ้นสุดได้หรือไม่ ตอบได้ยากมากเช่นกัน ตราบใดที่ธุรกิจยังคงต้องมีการเปลี่ยนแปลงประเภท “คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า” และยังมีความสามารถทำกำไรต่อเนื่องในระดับสูงต่อไป