ฟันด์โฟลว์ในไตรมาสสาม

มุมมองที่น่าสนใจเกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่า ดัชนีดาวโจนส์ที่นิวยอร์กทะยานต่อเนื่องจากต้นเดือนพฤศจิกายน 2559 ทำนิวไฮครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นเวลานานถึง 8 เดือน โดยมีการพักฐานสั้นๆไม่กี่ครั้ง จนมาถึงแนวต้านที่ระดับ 22,000 จุด ก่อนที่แกว่งไกวไหวเอน


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

มุมมองที่น่าสนใจเกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่า ดัชนีดาวโจนส์ที่นิวยอร์กทะยานต่อเนื่องจากต้นเดือนพฤศจิกายน 2559 ทำนิวไฮครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นเวลานานถึง 8 เดือน โดยมีการพักฐานสั้นๆไม่กี่ครั้ง จนมาถึงแนวต้านที่ระดับ 22,000 จุด ก่อนที่แกว่งไกวไหวเอน

ตรงแนวต้านนี้เอง บรรดาผู้จัดการกองทุนขนาดใหญ่เริ่งตั้งคำถามว่าตลาดที่เป็นขาขึ้นยาวนานต่อเนื่องจนกระทั่งนักลงทุนในตลาดเกิดจิตสำนึก “เลิกกลัว” ไม่ใช่บรรยากาศที่ดี เพราะอาจจะเข้าข่ายตลาดเริ่มมีสภาพเป็นฟองสบู่ขึ้นมา เมื่อค่าพี/อีของตลาดสูงเกินระดับสมเหตุสมผล

พี/อี ที่สูงเกิน หมายความว่าราคาหุ้นวิ่งเร็วกว่ากำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียน ดังนั้นค่าพี/อีที่เกินสมเหตุสมผลจึงน่าสุ่มเสี่ยง

การขายหุ้นและถอนตัวของกองทุนขนาดใหญ่ จากตลาดสหรัฐฯ และยุโรป จากแนวโน้มที่ชัดเจนว่าครึ่งหลังของปี อาจจะมีปัญหาเงินเฟ้อที่ทรงตัว มีผลให้ เฟด กับ ECB ไม่ยอมปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งผลพวงที่ตามมาคือ การที่ค่าดอลลาร์ และ ยูโรอยู่ในสภาพที่อ่อนตัวลง

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้กระแสฟันด์โฟลว์ที่เคยคาดกันเมื่อครึ่งแรกของปี ว่าจะไหลออกจากตลาดเกิดใหม่กลับไปถือดอลลาร์ เกิดการณ์พลิกผันในช่วงเดือนพฤษภา-มิถุนายนที่ผ่านมา

เพราะเกิดไหลกลับมาที่ตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย แม้จะยังไม่เข้าในตลาดหุ้นเต็มเต็ว แต่ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หนีไม่พ้นที่จะไหลบ่าเข้าตลาดหุ้นเกิดใหม่

ข้อมูลของกองทุนบำนาญขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ Lipper ระบุว่าในไตรมาสสองของปีนี้ กองทุนใหญ่เคลื่อนย้ายฟันด์โฟลว์ออกจากสหรัฐฯไปตลาดหุ้นเกิดใหม่ถึง 9.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

ดัชนี MSCI ของตลาดเกิดใหม่ในเอเชียระบุว่า ในไตรมาสสองที่ผ่านมา ตลาดหุ้นเกิดใหม่เอเชีย ยกเว้นตลาดไทย ได้ยกระดับสร้างผลตอบแทนเชิงบวกโดดเด่น บวกไปถึง17% เทียบกับดัชนี ที่บวกขึ้นไปแค่ 8.0 % และดัชนี Stoxx 600 ของตลาดยุโรปที่บวกขึ้นไปแค่ 4.9%

ตลาดหุ้นเอเชียที่รับอานิสงส์จากฟันด์โฟลว์ไหลเข้า ในขณะที่ครึ่งแรกของปีนี้ ดัชนีSET ของไทยน่าผิดหวังที่สุดในภูมิภาค เพราะวิ่งขึ้นแค่1.5% เท่านั้น

คำถามที่นักลงทุนไทยอยากรู้คือ ปรากฏการณ์ที่ตลาดหุ้นไทย “อืดทืด” (laggard) จะดำรงไปอีกนานแค่ไหน คำตอบยังไม่ชัดเจน

หนึ่งในคำตอบที่เป็นภาพรวมคือ ฟันด์โฟลว์ที่ไหลเข้าแรงของตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะตลาดที่ธนาคารกลางของประเทศมีทุนสำรองเงินตราในระดับสูง และใช้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ไม่ได้สร้างปัญหาทำให้เงินเฟ้อรุนแรงจนต้องขึ้นดอกเบี้ยสกัด แต่อาศัยกลไกอื่นๆมารับมือ โดยธนาคารกลางยิมขาดทุนจากการแทรกแซงค่าเงินทอ้งถิ่นไม่ให้แข็งเกินไป แต่กุญแจสำคัญอยู่ที่ว่า ธนาคารกลางจะไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้ ทำให้บรรดากองทุนเก็งกำไรมีความมั่นใจว่าตลาดเป้าหมายที่มีสภาพดังกล่าวเหมาะสำหรับการเข้าลงทุน

มีการประเมินของบรรดาผู้จัดการกองทุนข้ามชาติว่า ดัชนี MSCI ตลาดเกิดใหม่ที่ระดับสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ยังอยู่ต่ำกว่ายอดสูงสุดของดัชนีเมื่อปี ค.ศ. 2007 หรือช่วงก่อนวิกฤตซับไพร์มในอเมริกา ดังนั้น อัพไซด์ของตลาดเกิดใหม่ ที่ยังมากพอสมควร น่าจะเร้าใจมากเพียงพอสำหรับการเข้ามาลงทุนเก็งกำไร

สำหรับตลาดหุ้นเอเชีย ไม่รวมญี่ปุ่น มีการคาดหมายว่าผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ ในไตรมาสสองปีนี้จะเติบโตกว่าระยะเดียวกันกับปีก่อนที่ระดับ 11.5% ซึ่งถือว่าดีกว่าทุกภูมิภาคในโลกโดยหากจำลำดับกัน ตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเชียที่ถือว่าโดดเด่นสุดในครึ่งหลังของปีนี้คือ ตลาดหุ้นในจีน ตลาดหุ้นมัมไบ อินเดีย และตลาดหุ้นจาการ์ตา อินโดนีเชีย

สำหรับตลาดหุ้นไทย ที่แม้จะไม่ถูกเอ่ยถึงกันมากนัก แต่การที่ครึ่งแรกของปี ดัชนียังอืดทืดอย่างมาก ถือว่าเป็นการสะสมแรงซื้ออย่างมีนัยสำคัญ

เหตุผลสำคัญคือ แม้ว่าบริษัทจดทะเบียนจำนวนมากจะมีผลประกอบการน่าผิดหวัง หรือพลาดเป้า แต่ภาพรวมของการเติบโตของกำไรยังเดินหน้าเป็นบวก เรียกได้ว่า แม้ไม่ถึงกับโดดเด่น แต่ก็ไม่เลวร้ายเหมือนที่คาดเดาล่วงหน้า

ปรากฏการณ์เช่นนี้ ทำให้เชื่อว่า ท้ายสุดแรงสะสมที่ยาวนานพอสมควร น่าจะถูกปลดปล่อยออกมาให้ดัชนีในไตรมาสสามปีนี้ของ SET ไปที่แนวต้าน1,600 -1,620 จุดได้ เพียงแต่อาจจะไม่เป็นไปอย่างที่หลายคนหรือนักวิเคราะห์คาดคิด

ทั้งหมดนี้ คือ ทิศทางของฟันด์โฟลว์ที่จะเกิดขึ้นและส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นเอเชียและไทย แต่ตลาดไหนจะตักตวงจากฟันด์โฟลว์มากสุด ขึ้นกับปัจจัยแวดล้อม และอารมณ์ตลาดคู่กันด้วย

Back to top button