90 วันต่อรองทายท้าวิชามาร
สภาปฏิรูปแห่งชาติอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว จากนี้ก็จะยื่นแก้ไขเพิ่มเติมภายใน 30 วันเช่นเดียวกับ ครม.คสช. คณะกรรมาธิการมีเวลาแก้ 60 วัน จากนั้นก็ต้องเสนอให้สภาปฏิรูปเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ
สภาปฏิรูปแห่งชาติอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว จากนี้ก็จะยื่นแก้ไขเพิ่มเติมภายใน 30 วันเช่นเดียวกับ ครม.คสช. คณะกรรมาธิการมีเวลาแก้ 60 วัน จากนั้นก็ต้องเสนอให้สภาปฏิรูปเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ
ซึ่งถ้าไม่เห็นชอบก็ “ตายตกไปตามกัน” ตามที่ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างขู่ไว้
ปัญหาคือไม่ได้ตกตายแค่ กมธ.สปช.สิครับ รัฐบาล คสช.ล่ะทำไง ต้องสรรหา สปช.กมธ.กันใหม่ ใช้เวลาเกือบปี กว่าจะได้เลือกตั้งก็ปี 2560 ระหว่างนี้ต้องปกครองด้วยมาตรา 44 ท่ามกลางกระแสกดดันทั้งจากชาวไทยชาวโลก
บางคนยังเชื่อว่ากองทัพอยากอยู่ยาว แต่ผมเชื่อว่ารัฐบาลทหารไม่มีความสุขนักหรอก ที่ต้องแบกรับปัญหาเศรษฐกิจการเมืองสังคม ผิดสูตรรัฐประหาร “มาเร็ว เคลมเร็ว ไปเร็ว” ไม่ใช่มาแล้วติดหล่ม
ถ้าหวยออกอีกด้านสปช.เห็นชอบรัฐธรรมนูญทั้งที่ถูกคัดค้านรอบทิศทาง รัฐบาล คสช.ก็เผชิญกระแสกดดัน “ทำประชามติ” ถามว่าไม่ทำได้ไหม ย่อมได้เพราะมีมาตรา 44 แต่ถามว่าเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ เมื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง มาตรา 44 ยังคุ้มกันได้ไหม
ประเด็นนี้อาจต้องตีความเพราะอ่านบทเฉพาะกาลมาตรา 309 ประกอบ 315 แล้วกังขาว่า คสช.อาจใช้อำนาจตามคำสั่งฉบับที่ 3 และ 4 ต่อไปได้ ไม่ใช่อยู่เปล่าๆ เหมือน คมช.ปี 50 แต่ถามว่าเมื่อมีรัฐธรรมนูญเมื่อจะเลือกตั้งอยู่แล้ว ถ้ายังใช้อำนาจแบบเดิมอยู่ ใครจะเชื่อถือการเลือกตั้ง
ไม่ว่าอย่างไรเมื่อเข้าสู่โรดแม็พระยะที่ 3 คสช.ต้องผ่อนคลายการใช้อำนาจ เป็นโอกาสของคนที่จะคัดค้าน
นี่ต่างจากรัฐธรรมนูญ 2550 แม้รณรงค์คัดค้าน แต่พอแพ้ประชามติ พรรคพลังประชาชนยังเดินหน้าสู่เลือกตั้ง แต่ครั้งนี้ไม่ใช่แค่พรรคเพื่อไทย ยังมีพรรคประชาธิปัตย์และพรรคอื่นๆ
ถ้า 2 พรรคใหญ่บอยคอตต์เลือกตั้ง นำชาวบ้าน Vote No ไม่ต้องถึง 27 ล้านเสียงเท่าปี 54 หรอก เอาแค่ 10 กว่าล้านเสียงก็พอ มาตรา 113 บัญญัติว่า ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า Vote No มาตรา 103 วรรคสี่ บัญญัติว่าจะเปิดสภาได้ต่อเมื่อเลือก ส.ส.เข้ามาได้ไม่น้อยกว่า 405 คน
ถ้าคะแนน Vote No ชนะจนได้ ส.ส.ไม่ครบ เปิดสภาไม่ได้ จะทำไง รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ก็ค้างเติ่ง ไม่มีบันไดลง
ช่วงเวลา 90 วันจึงสำคัญยิ่งต้องมีล็อบบี้ต่อรองระหว่างคณะกรรมาธิการกับครม. คสช. สปช. ตลอดจนฝ่ายต่างๆ ที่ กมธ. ”เรียกแขก” ไว้มากมายเหลือเกินตั้งแต่ประเด็นย่อยถึงใหญ่ ตั้งแต่ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการสิทธิมนุษยชน ไปจนพรรคการเมืององค์กรปกครองท้องถิ่น
โถ…กระทั่งญาติผู้พี่อย่างวิษณุ เครืองาม ยังบอกบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ให้ตัดออกซัก 20-30 มาตรา รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยาวใหญ่เยอะที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย แม้เพิ่มจากปี 50 แค่ 6 มาตรา แต่ตัวบทล้นเหลือเฟือฟาย ถ้าพิมพ์ฟอนท์เดียวกันแล้วเอาไปชั่งกิโลขาย เผลอๆ ได้มากกว่าปี 50 สองเท่า
ให้สังเกตว่า กมธ.อหังการมาก อ้างไม่มีผลประโยชน์แล้วยกตนเป็นเทวดาวางระบอบเหนือคนทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่พรรคการเมืองที่ถูกหามีผลประโยชน์ ขนาดประธานผู้ตรวจการชื่อเหมือนซอสพริกก็ยังโดนตอกหน้า คอยดูว่าท่านจะยอมลดความสุดโต่งลงเพียงไร
ผมเชื่อว่า กมธ.จะยอมแก้บ้าง เช่น แก้ให้ศาลให้องค์กรอิสระพอใจ แต่แก้ให้พรรคการเมืองให้ประชาชนผู้ใช้อำนาจเลือกตั้ง “พอรับได้” นี่สิ สงสัยจะยาก เพราะประกาศเจตนาชัด แย่งอำนาจนักการเมืองจากเลือกตั้งเอาไปให้นักการเมืองจากสรรหาและข้าราชการ