MBKET เล็งปิดสาขาห้องค้าบางส่วนหลังมาร์เก็ตติ้งถูกดึงตัว
MBKET เล็งปิดสาขาห้องค้าบางส่วนหลังมาร์เก็ตติ้งถูกดึงตัว พร้อมหันหาเทคโนโลยีเสริมบริการ-ธุรกิจใหม่
นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือMBKET เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมปิดสาขาห้องค้าบางสาขา จากปัจจุบันมีทั้งหมด 60 สาขา เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ไม่เกิดประโยชน์ และได้รับผลกระทบจากจำนวนเจ้าหน้าที่การตลาด (มาร์เก็ตติ้ง) ที่ลดลง จากปัจจุบันมีพนักงานทั้งหมด 600 คน โดยบริษัทจะย้ายพนักงานบางส่วนเข้าไปทดแทนในสาขาที่มีพนักงานลาออกไปเป็นจำนวนมาก
พร้อมกันนั้น บริษัทจะเน้นการนำเทคโนโลยีรอบด้านเข้ามาเสริมการให้บริการ โดยกลยุทธ์การดำเนินงานของบริษัทถือว่ามีความแข็งแกร่งทางด้าน Fintech โดยมีการเปิดเผยผลงานวิจัยต่าง ๆ ของทีมงานฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ผ่านทางทางแอพลิเคชั่นไลน์ที่ปัจจุบันมีจำนวน 2 ID ได้แก่ @mbket ซึ่งเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวให้กับนักลงทุน และ @maybankfriends ในการเปิดเผยงานวิจัยและให้ข้อมูลข่าวสารแก่นักลงทุน เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องของความรวดเร็วและสะดวกสบาย
“ทางเราเองยังคงเน้นคุณภาพการดำเนินงานในทุกด้าน ทั้งทีมงานวิจัย ขณะที่ก็มองทิศทาง Fin tech เราเชื่อว่าเรามีความแข็งแกร่ง โดยปัจจุบันก็มีการนำงานวิจัยเผยแพร่ผ่านทางไลน์ และเราก็ได้เพิ่มไลน์ใหม่เข้ามาอีกชื่อว่า @maybankfriends ซึ่งนักลงทุนจะได้รับงานวิจัยทุกวันตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าเรามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่วนเทคโนโลยีอื่นๆ เราก็มีการพัฒนาอยู่ โดยในอนาคตก็จะมีโปรแกรมบนมือถือรุ่นใหม่ออกมา เชื่อว่าจะตอบสนองความต้องการของนักลงทุนได้เต็มที่”นายมนตรี กล่าว
นายมนตรี กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงเป้าหมายส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ในธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ในปีนี้ไว้ในระดับ 8% แม้ว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมโบรกเกอร์ในปีนี้ยังค่อนข้างสูง ซึ่งบริษัทสนับสนุนการแข่งขันในเชิงคุณภาพและการพัฒนาเทคโนโลยี องค์ความรู้ต่างๆ รวมถึงการบริหารความเสี่ยง ที่สามารถุนำเทคโนโลยีมาพัฒนาในการนำเสนอบริการต่าง ๆ
ในด้านโครงสร้างรายได้ของ MBKET บริษัทคาดหวังจะมีรายได้จากดอกเบี้ย , ธุรกิจวาณิชธนกิจ และอนุพันธ์ เข้ามาเพิ่มเติมอีก จากปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้หลักมาจากค่าธรรมเนียมโบรกเกอร์ราว 80% โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเสริมรายได้ด้านอื่นๆ เพื่อลดการพึ่งพารายได้หลักจากธุรกิจโบรกเกอร์
ส่วนงานด้านวาณิชธนกิจ (IB) ปัจจุบันบริษัทได้รัยงานที่ปรึกษาทางการเงินในการนำบริษัทกระจายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ในมือราว 2-3 ราย ส่วนใหญ่ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้ว แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเห็นการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ทันภายในปีนี้กี่ราย รวมถึงยังมีงานที่ปรึกษาการจัดตั้งกองทุนและกองทรัสต์ อีกราว 2-3 กอง