พาราสาวะถี
ต่อเนื่องกันว่าด้วยเรื่องบทวิจารณ์ปาฐกถาของ สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ โดย สุรพศ ทวีศักดิ์ ในปมที่สมเกียรติเปรียบเปรยคนเสื้อแดงเป็นพวกชนะเลือกตั้งทุกครั้งและสนับสนุน“ทรราชเสียงข้างมาก” ขณะที่คนเสื้อเหลืองเป็นเสียงข้างน้อยยาวนาน จนทำให้เกิดความคับข้องใจเพราะเลือกตั้งกี่ครั้งก็ไม่ชนะ
อรชุน
ต่อเนื่องกันว่าด้วยเรื่องบทวิจารณ์ปาฐกถาของ สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ โดย สุรพศ ทวีศักดิ์ ในปมที่สมเกียรติเปรียบเปรยคนเสื้อแดงเป็นพวกชนะเลือกตั้งทุกครั้งและสนับสนุน“ทรราชเสียงข้างมาก” ขณะที่คนเสื้อเหลืองเป็นเสียงข้างน้อยยาวนาน จนทำให้เกิดความคับข้องใจเพราะเลือกตั้งกี่ครั้งก็ไม่ชนะ
จนเป็นเหตุให้คนที่รู้ว่าสู้ไม่ได้ในระบบเลยหันไปใช้วิธีล้มโต๊ะ ในส่วนเหตุผลของพวกชนะเลือกตั้งทุกครั้งนั้นได้บอกไปแล้วเมื่อวันวาน มาถึงตรงนี้สุรพศตั้งคำถามกลับว่า คนเสื้อเหลืองที่สมเกียรติบอกว่าเป็น เสียงข้างน้อยนั้น เป็นเสียงข้างน้อยที่ผูกโยงกับอำนาจรัฐราชการใช่หรือไม่ และมีอำนาจต่อรองทางการเมืองเหนือกว่ามาตลอดใช่หรือไม่
เช่น อำนาจต่อรองผ่านช่องทางสื่อ เวทีวิชาการ สถาบันวิชาการ เวทีการเมืองบนท้องถนนในกรุงเทพฯ และยังอาศัยกองทัพเป็นเครื่องมือต่อรองได้อีกด้วย (ซึ่งคนชนบท คนต่างจังหวัดไม่มีปัญญาใช้เครื่องมือต่อรองทางการเมืองที่ทรงประสิทธิภาพชั้นเทพ นี้ได้เลย) ก่อนรัฐประหาร 2549 พรรคไทยรักไทยขณะนั้น เสื่อมความนิยมลงมากแล้วจากการเปิดโปงของระบอบสนธิ-จำลอง แต่เมื่อเกิดรัฐประหารจึงเกิดคนเสื้อแดง
ยิ่งเกิดการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ยิ่งเกิดกระแสคนเหนือ คนอีสานเลือกพรรคการเมืองพรรคเดียว ขณะที่ภาคใต้เขาเลือกพรรคการเมืองพรรคเดียวมาก่อนหน้านานมากแล้ว คำถามคือ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เสนอให้ใช้มาตรา 7 ไม่ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ไม่มีการสลายการชุมนุมที่มีคนตายร่วม 100 คน แต่ผู้สั่งการไม่มีความผิด และไม่มีแกนนำพรรคมาเป็นแกนนำกปปส.จนทำให้เกิดการล้มเลือกตั้ง มันจะเป็นไปได้ไหมที่จะเกิดสิ่งที่เรียกว่าเลือกตั้งทีไรคนเสื้อแดงก็ชนะ
พูดตรงๆคือ ถ้าเสื้อเหลืองและพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์มีจุดยืนที่ชัดเจนหนักแน่นว่า จะต่อสู้ผลักดันวาระทางการเมืองของพวกตนผ่านกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น มันย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดสภาวะทางการเมืองแบบเสื้อแดงชนะเลือกตั้งตลอด ยิ่งเมื่อลงลึกในรายละเอียด ก็ไม่ใช่การเมืองระหว่างมวลชนเหลือง-แดงที่เป็นพลังมวลชนอิสระ แต่เป็นมวลชนที่เชื่อมโยงกับพรรคการเมือง
เชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียกกันว่าระบบอำนาจรัฐราชการอย่างซับซ้อน และดำเนินไปภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่ระบบอำนาจรัฐราชการพยายามดึงอำนาจจากประชาชนมาไว้ที่พวกตนเองมากขึ้นโดยลำดับ(อย่างที่นักวิชาการอื่นๆวิเคราะห์) เวลาพูดถึงทรราชจึงไม่ได้มีแต่ทรราชเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ก็นั่นแหละการพูดถึงทรราชจากการเลือกตั้งย่อมถนัดปากนักวิชาการยุคนี้มากกว่า เพราะปลอดภัยดี
ส่วนประเด็นที่ว่ากลุ่มปัญญาชนของทั้งสองฝ่าย มักมีถ้อยคำเหน็บแนมกระทบกระแทกคนอีกฝั่ง นี่ก็คล้ายกับข้อวิจารณ์ว่านักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยที่ทำตัวเป็นเจ้าสำนักเฟซบุ๊คและสำนึกที่หายไปนั่นแหละ โดยสุรพศมองว่า การแซะหรือกระแทกกันระหว่างปัญญาชนเหลือง-แดง ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่เป็นอุปสรรคของการกลับไปสู่ประชาธิปไตย เพราะเรื่องแซะหรือกระแทกกันในแวดวงปัญญาชนก็ไม่ได้มีแต่ยุคนี้ ถ้าจะหา จุดร่วมต้องเริ่มจากทุกฝ่ายแสดงจุดยืนปกป้องเสรีภาพและประชาธิปไตย
พูดอย่างซีเรียสคือ ถ้าประเทศนี้มีปัญญาชนอยู่จริง ย่อมจะเกิดพลังปัญญาชนสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยได้ ด้วยการที่ปัญญาชนเหลือง-แดงหรือฝ่ายเป็นกลาง หรือปัญญาชนของสถาบันวิชาการต่างๆ อย่างเช่นทีดีอาร์ไอเป็นต้น ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิให้กับนักโทษทางการเมือง นักโทษทางความคิดอย่างไผ่ ดาวดิน และคนระดับชาวบ้านอีกจำนวนมากที่ถูกขังลืม
ถ้าปัญญาชนในประเทศนี้ช่วยกันพูด ช่วยกันเขียน หรือรวมกลุ่มแสดงจุดยืนปกป้องสิทธิเสรีภาพของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อแดง เสื้อเหลือง หรือใครก็ตามที่ถูกละเมิดสิทธิ หรือถ้าปัญญาชนทุกฝ่ายหรือที่ไม่เลือกฝ่ายร่วมกันส่งเสียงปฏิเสธการละเมิดสิทธิเสรีภาพจากอำนาจรัฐ และยืนยันวิถีทางประชาธิปไตยเป็นทางออกกันอย่างพร้อมเพรียงจริงๆ ก็ยังพอมีหวัง
แต่เท่าที่เห็น ปัญญาชนแถวหน้าที่นานๆทีจึงจะออกมาเทศนา ก็ไม่เคยพูดคำว่า #ปล่อยสมยศ #ปล่อยไผ่ เลยสักแอะ และแทบจะไม่เคยเห็นออกมายืนหยัดปกป้องเสรีภาพของคนทุกสี ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมเท่าที่ควรจะเป็น ก่อนที่สุรพศจะทิ้งท้ายว่านี่ไม่ใช่การแซะ แต่พูดความจริง ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานั้น ก็เป็นความจริงที่เกิดขึ้นในห้วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา
จนวันนี้ก้าวสู่ยุคของการปฏิรูป ยุคที่รัฐและข้าราชการพากันท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองทั้ง ค่านิยม 12 ประการ ประชารัฐและไทยแลนด์ 4.0 โดยเกิดคำถามตัวโตว่า สิ่งที่พูดมาทั้งหมดนั้น มีอะไรที่สัมผัสจับต้องได้เป็นชิ้นเป็นอันหรือไม่ โดยเฉพาะค่านิยมที่เห็นได้ชัดคือ การป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่น มาถึงนาทีนี้เป็นไปอย่างที่โพนทะนาไว้หรือเปล่า
ไม่ต้องพูดถึงการรักษาสัจวาจา แค่คำว่าขอเวลาอีกไม่นาน ผ่านมากว่า 3 ปีแล้ว โรดแมปเลือกตั้งถูกเลื่อนมากี่หน คราวนี้ต่างพากันยืนยันเป็นมั่นเหมาะ ไม่ใช่เพราะตามใจคนไทยที่อยากจะไปหย่อนบัตรเลือกตั้งหรอก หากแต่เป็นการต้องขยับเพื่อรักษาคำพูดที่ไปพ่นไว้บนเวทีสหประชาชาติ ซึ่งถือเป็นสัญญาประชาคมระดับโลก
การไม่ทำตามสัญญาย่อมจะเกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงตามมา ลำพังสถานะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันกับการยอมรับของนานาอารยประเทศก็เป็นปัญหาแล้ว หากจะลากยาวอำนาจออกไปโดยไม่เลือกตั้ง ยิ่งจะเจอแต่อุปสรรค เอาแค่ว่าที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ท่านผู้นำอเมริกันชนเคยออกปากชวนไปเยือนสหรัฐอเมริกา ที่เคยคึกคักอึกทึกครึกโครมกัน วันนี้ผู้นำพี่เบิ้มของโลกเคลียร์คิวให้กับผู้ยิ่งใหญ่จากไทยแลนด์ได้แล้วหรือยัง
สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นเวลานี้ โดยเฉพาะความกดดันที่ท่านผู้นำพยายามจะตะคอกแกมบังคับกับสื่อมาโดยตลอดให้ช่วยนำเสนอข่าวดีของรัฐบาลบ้าง ถามว่าถ้ามีเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติสื่อจะละเลยกันอย่างนั้นหรือ เช่นเดียวกันกับข่าวที่สร้างผลกระทบต่อสังคมส่วนร่วมสื่อก็จะหลับหูหลับตาไม่สนใจไม่ได้ เหมือนอย่างกรณีพ.ร.ก.เจ้าปัญหาถามว่าถ้าไม่มีผู้เดือดร้อนออกมาเคลื่อนไหว สื่อไม่เกาะติดมันจะเกิดการใช้มาตรา 44 หรือไม่ นี่ต่างหากคือสัจธรรม ใครทำอะไรย่อมได้อย่างนั้น