ดองไอเฟคจนกลายเป็นไอเฟอะ
ก็น่าจะถือได้ว่า เผือกร้อนเรื่องการตั้งกองทุนพัฒนา CMDF ผ่านไปได้ดีในระดับหนึ่ง ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บฟกช้ำมากเมื่อกระทรวงคลังยอมถอยมาก้าวหนึ่ง
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงค์
ก็น่าจะถือได้ว่า เผือกร้อนเรื่องการตั้งกองทุนพัฒนา CMDF ผ่านไปได้ดีในระดับหนึ่ง ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บฟกช้ำมากเมื่อกระทรวงคลังยอมถอยมาก้าวหนึ่ง
ไม่ดูดเงินออกไปจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่เอาเงินจำนวนมหาศาลไปให้หน่วยงานที่ถนัดงานด้านกำกับมากกว่างานพัฒนาอย่างก.ล.ต.และกองทุนใหม่จะไม่เป็นหน่วยงานรัฐเด็ดขาด
แต่ให้ตั้งกองทุน CMDF ภายใต้การดูแลของตลาดหลักทรัพย์ฯ เงินประเดิมตั้งกองทุนและเงินนำส่งรายปีให้ไปกำหนดกันอีกทีตามความเหมาะสม ไม่ใช่ขึงขังเอากันหนักข้อถึงขั้น 8,000 ล้านบาท และ 90% ของผลกำไรสุทธิตลาดฯ
เงินที่ตลาดฯนำส่งไปเข้ากองทุน ก็เป็นข้อตกลง 3 ฝ่ายคือคลัง-ก.ล.ต.-ตลท.เป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า หากเกิดปัญหาวิกฤตทางตลาดอาทิ ระบบชำระราคาล่ม ตลาดหลักทรัพย์ฯสามารถดึงเงินจากกองทุนกลับมาได้
ถือว่าความร้อนระอุลดราวาศอกลงไปแล้ว ยกเว้นว่าใครจะโยนดุ้นฟืนใหม่เข้าไปอีก แต่คาดว่าคงจะไม่มีมั้ง!
ขอย้อนกลับมาดูเรื่องเก่าที่เกมยังไม่โอเวอร์ ผู้ลงทุน 2.8 หมื่นรายยังได้รับความเสียหายจาก การพักซื้อขาย 6 เดือนมาแล้ว และราคาหุ้นที่พุ่งปรู๊ดไปถึง 17 บาท ต่ำเตี้ยลงมาที่ราคาสุดท้ายก่อนเครื่องหมาย SP คือ 3.10 บาทสักหน่อย
นั่นก็คือหุ้น IFEC!
ซึ่งป่านนี้แล้วงบการเงินปี 2559 รวมทั้งงบ Q1 ปี 60 ก็ยังนำส่งตลาดฯไม่ได้ ตั๋วบีอี-หุ้นกู้ทุกใบไม่สามารถชำระได้เมื่อครบกำหนด
ผู้บริหารเอาหุ้น ICAP เจ้าของโรงแรมดาราเทวีมูลค่า 3-4 พันล้านบาทไปตึ๊งในราคา 100 ล้านบาทเอง และก็ปล่อยให้ผิดนัดชำระ และผู้บริหารก็ไร้ยางอาย
ไม่เคยเห็นหุ้นอะไรเลอะเทอะเช่นนี้ จากไอเฟคจะเรียกว่าไอเฟอะก็คงไม่ผิดไปจากความจริงนัก
ปมปัญหาก็คือ ผู้ถือหุ้นข้างน้อย ไม่ยอมปล่อยอำนาจให้กับผู้ถือหุ้นใหญ่ อันเป็นกฎกติกาสากลและประเพณีจารีตอันดีงามในตลาดทุน
กลับใช้วิธีการอันผิดกฎหมายและผิดกฎข้อบังคับบริษัทที่ตนเป็นผู้ลงนามเอง ลายเซ็นชื่อ นพ.วิชัย ปรากฏหรา แต่ทั้งที่รู้ทั้งรู้ ก็ยังใช้วิธีโหวตเลือกบอร์ดแบบสะสม (Cumulative Voting) แทนการนับแบบวันแชร์ วันโหวตในรายชื่อเสนอบอร์ดแต่ละราย
ต้องใช้การประชุมผู้ถือหุ้นถึง 3 ครั้ง ประธานบอร์ดก็ใช้เล่ห์เพทุบายโหวตแบบสะสมอยู่นั่นแหละ สิ่งประหลาดจึงได้เกิดขึ้นในบริษัทนี้ คือผู้ถือหุ้นข้างน้อย กลับใช้อำนาจประธานบอร์ดที่ไม่ชอบธรรม ผลักดันให้พวกตัวเองมีที่นั่งมากกว่าผู้ถือหุ้นข้างมาก
ขอโทษนะครับ ตัวแทนก.ล.ต.ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นก็ไม่โต้แย้งอะไร โดยออกตัวว่าอำนาจการตัดสินเป็นของกระทรวงพาณิชย์
นสพ.ข่าวหุ้นธุรกิจ ก็พยาย้าม-พยายามให้ก.ล.ต.หรือตลาดฯเข้าไปขอหารือกับกระทรวงพาณิชย์โดยกรมพัฒนาธุรกิจ ในฐานะหน่วยงานหลักที่ทัดเทียมกัน เพื่อจะได้ขมวดปมเรื่องและตัดสินปัญหาให้มันกระชับและรวดเร็วหน่อย เนื่องจากความเสียหายมันเกิดขึ้นทุกวัน
แต่ก็ต้องขอโทษอีกแหละว่า ไม่เห็นความพยายาม และก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามีเหตุผลอะไร
ในที่สุด กรมพัฒนาธุรกิจก็ตัดสินว่าการโหวตเลือกบอร์ดนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยข้อบังคับบริษัท เป็นอันโมฆะ กรมพัฒนาธุรกิจไม่รับจดทะเบียน
แล้วทำไมต้องปล่อยให้เรื่องราวยืดเยื้อเป็น 5-6 เดือน ช่วงรอการตัดสินด้วยเล่า
ผมไปเปิดดูในโครงสร้างคณะกรรมการก.ล.ต.แล้วก็น่าตกใจนะครับ มีปลัดกระทรวงพาณิชย์นั่งบอร์ดโดยตำแหน่งด้วยล่ะ ดังเช่น น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดพาณิชย์ปัจจุบัน รับผลตอบแทนเดือนละ 160,000 บาท
ส่วนอีกคนหนึ่งคือ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร อดีตปลัดพาณิชย์ เข้าใจว่าเป็นบอร์ดมาแต่ตอนอยู่ในราชการ แม้เดี๋ยวนี้ย้ายไปรับตำแหน่งรมช.เกษตรฯแล้ว แต่ก็ยังนั่งบอร์ดก.ล.ต.อยู่ รับผลตอบแทนเดือนละ 540,000 บาท
อัตราค่าประชุมของบอร์ดก.ล.ต.และอนุชุดต่างๆ ค่อนข้างสูงในระดับครั้งละ 25,000-28,000 บาท
ฉะนั้นการจะบอกว่า การวินิจฉัยการรับจดทะเบียนกรรมการบริษัทเป็นอำนาจกระทรวงพาณิชย์ ไม่ใช่ก.ล.ต.มันก็ถูกอยู่หรอก แต่ถูกแค่ครึ่งเดียว
ส่วนอีกครึ่งนั้นคือ ปลัดกระทรวงอันเป็นตัวแทนกระทรวงพาณิชย์เขาก็นั่งเป็นบอร์ดก.ล.ต.อยู่ด้วย รับค่าเบี้ยประชุมก็สูงเอาการอยู่
ทำไมไม่ใช้อำนาจก.ล.ต.สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ไปเร่งรัดจัดการพฤติกรรมผิดกฎหมายผิดข้อบังคับของบริษัทจดทะเบียนเสีย
ทำไมเอาแต่อ้างเรื่องไอเฟคเป็นปัญหาภายในที่ผู้บริหารบริษัททะเลาะกัน อำนาจจัดการเป็นของกระทรวงพาณิชย์ ไม่ใช่ก.ล.ต.และก็นั่งรอกระทรวงพาณิชย์กันไป 5-6 เดือน
ทั้งที่ตัวแทนพาณิชย์ก็นั่งหัวโด่เป็นกรรมการก.ล.ต. กินค่าเบี้ยประชุมแพงเสียด้วย ครั้งละตั้ง 2.5-2.8 หมื่นบาท