พาราสาวะถี

   แม้จะเริ่มซาๆลงไปหลังจากที่หัวหน้าคสช.งัดไม้ตายสุดท้ายม. 44 ชะลอการบังคับใช้กฎหมายใน 4 มาตราออกไป 180 วัน แต่แง่มุมที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของพระราชกำหนดหรือพ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 2560 ที่สร้างความตระหนกตกใจให้กับแวดวงผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าว รวมไปถึงแรงงานต่างด้าว ในส่วนที่เป็นด้านซึ่งน่ากังวลนั้น ยังไม่มีใครช่วยแยกแยะให้เห็น


อรชุน

แม้จะเริ่มซาๆลงไปหลังจากที่หัวหน้าคสช.งัดไม้ตายสุดท้ายม. 44 ชะลอการบังคับใช้กฎหมายใน 4 มาตราออกไป 180 วัน แต่แง่มุมที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของพระราชกำหนดหรือพ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 2560 ที่สร้างความตระหนกตกใจให้กับแวดวงผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าว รวมไปถึงแรงงานต่างด้าว ในส่วนที่เป็นด้านซึ่งน่ากังวลนั้น ยังไม่มีใครช่วยแยกแยะให้เห็น

วันนี้จึงขอหยิบยกเอาบทความที่ชื่อว่าเปิดเนื้อหาพ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 2560 : ของเล่นชิ้นใหม่รัฐไทย ที่เขียนโดย บุญยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มาฉายภาพให้เห็นว่า นอกเหนือจากการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของประเทศพัฒนาโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาแล้ว กฎหมายฉบับนี้มีข้อดีและข้อที่น่าห่วงใยเรื่องใดบ้าง

บุญยรัตน์นำเสนอเนื้อหามุ่งไปที่ตัวบทบัญญัติของกฎหมายฉบับนี้ซึ่งได้กำหนดไว้เป็นสำคัญ อย่างน้อยก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าอะไรคือความน่ากลัวของกฎหมายฉบับนี้ จนสร้างความกริ่งเกรง-หวาดหวั่นไปทุกวงการที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานแรงงานข้ามชาติได้ขนาดนี้ เมื่อสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ การกำหนดหลักเกณฑ์การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทย และงานที่คนต่างด้าวสามารถทำได้ แต่อย่างไรก็ตาม กลับพบปัญหาในตัวกฎหมายหลายประการ

อย่างแรกคือ แรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายอย่างน้อย 1 ล้านคนที่มีการจ้างงานอยู่ในขณะนี้ จะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง การเลิกจ้างโดยฉับพลันโดยไม่มีกลไกด้านแรงงานใดๆคุ้มครองแม้แต่น้อย มันคือการละเมิดสิทธิแรงงานดีๆนี้เอง เช่น ไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ฯลฯ หรือนี่คือ“ใบอนุญาตเลิกจ้างแรงงานข้ามชาติโดยชอบธรรม”

รัฐบาลไทยยืนยันว่าไม่มีการจดทะเบียนใหม่แน่นอน โดยผลักดันให้นายจ้างไปใช้การจ้างงานแบบระบบ MOU คือ การจ้างงานแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งก็พบปัญหาการติดขัดในขั้นตอนการดำเนินงานที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ใช้เวลาไม่ต่ำกว่าครึ่งปีกว่าจะได้จ้างแรงงานหนึ่งคน อีกทั้งบางประเทศ ระบบ MOU ก็ไม่อนุญาตให้คนธรรมดานำเข้าเอง และบางกิจการก็นำเข้าไม่ได้ เช่น งานรับใช้ในบ้าน เป็นต้น

มีนายจ้างจำนวนมากที่จ้างงานแรงงานข้ามชาติ แต่ชื่อนายจ้างที่จ้างงานยังคงเป็นนายจ้างคนเดิมอยู่ที่ไม่ได้แจ้งย้ายออก ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ภาคอุตสาหกรรมบริการ ท่องเที่ยว งานภาคเกษตร งานก่อสร้าง และงานรับใช้ในบ้าน จะได้รับผลกระทบอย่างมากแน่นอน ขณะที่การกำหนดโทษสูงมาก อาจเป็นช่องทางให้เกิดการเลี่ยงกฎหมายและการทุจริตมากขึ้น รับเงินใต้โต๊ะมากขึ้น รวมทั้งไม่มีระยะเวลากำหนดที่ให้นายจ้างที่จ้างแรงงานไม่ถูกกฎหมายมีระยะเวลาดำเนินการให้ถูกต้อง

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ มีแรงงานจำนวนมากได้เดินทางกลับประเทศไปแล้ว การกลับมาทำงานมีต้นทุนสูงเกินไปสำหรับแรงงาน นายจ้างหาแรงงานมาทดแทนไม่ได้ แรงงานไทยไม่ทำงานกับงานประเภทนี้ ขณะเดียวกันก็จะเกิดการจับกุมแรงงานและส่งกลับอย่างหนาแน่นในหลายพื้นที่ หลังพ้นช่วงระยะเวลาผ่อนผันไปแล้ว สิ่งสำคัญคือแรงงานถูกลอยแพ โดยไม่มีกลไกการคุ้มครองปกป้องสิทธิแรงงานในการจ้างงานใดๆทั้งสิ้น มีภาพสะท้อนปัญหาเช่นในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐควรคำนึงถึงเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาควบคู่กับการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉบับนี้นั่นก็คือ กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างแรงงานข้ามชาติโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร นายจ้างเลิกกิจการ นายจ้างผิดสัญญาจ้างหรือฝ่าฝืนกฎหมาย ควรจะมีกระบวนการที่เป็นรูปธรรมคือ นายจ้างหรือลูกจ้างแจ้งต่ออธิบดีกรมการจัดหางานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด

ถ้าแรงงานข้ามชาติหางานใหม่ไม่ได้ ให้นายจ้างรายเดิมส่งกลับประเทศต้นทางภายใน 7 วัน ถ้านายจ้างไม่จัดส่งเอง ให้อธิบดีเป็นผู้ส่งโดยหักค่าใช้จ่ายจากหลักประกันที่นายจ้างได้วางไว้ เช่นเดียวกับเมื่อแรงงานข้ามชาติถูกละเมิดสิทธิ ก็ควรจะต้องให้คนเหล่านั้นสามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลแรงงานได้ หรือยื่นคำร้องต่ออธิบดีเพื่อดำเนินการ และสามารถหักหลักประกันที่นายจ้างวางไว้เป็นการชดใช้ความเสียหาย

ภาพสะท้อนเหล่านี้คือความหวังดีเพื่อที่จะให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับร่างพ.ร.ก.ฉบับนี้ได้นำไปประกอบการพิจารณาในกระบวนการปรับแก้ไขเพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ต้องยอมรับว่าหากพิจารณาในแง่ดีของการคลอดกฎหมายดังกล่าว จะพบว่า รัฐไทยมีความชัดเจนขึ้นโดยเฉพาะรูปธรรมการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ผ่านมาตรการและกลไกต่างๆ

อันประกอบไปด้วย การมีคณะกรรมการระดับชาติกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว การมีกองทุนเพื่อการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว , การทำงานร่วมกับองค์กรเอกชนผ่านโครงการหรือแผนงานในการดำเนินการบริหารจัดการเกี่ยวกับการทำงาน การจัดสวัสดิการ การศึกษา การสาธารณสุข และการให้ความคุ้มครองด้านแรงงาน

ลดการแสวงหาประโยชน์ของนายทุนในหลายกิจการ ที่ไม่จำเป็นในการจ้างงานแรงงานข้ามชาติจริงๆ แต่เป็นไปเพื่อลดอำนาจการต่อรองของแรงงานไทย หรือสหภาพแรงงาน และเลือกใช้การจ้างแรงงานข้ามชาติแทน ที่จ่ายเพียงค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้น และแรงงานไม่สามารถรวมกลุ่มและเจรจาต่อรองได้ เช่น ที่พบในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์

การใช้แรงงานข้ามชาติต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบและปกป้องแรงงานเมื่อถูกละเมิดสิทธิ เช่น มีกองทุนประกันความเสี่ยงจากการจ้างงานที่นายจ้างต้องรับผิดชอบในการวางหลักประกันล่วงหน้า ไม่ใช่ปล่อยลอยแพเลิกจ้างอะไรอย่างไรก็ได้ เฉกเช่นที่แรงงานไทยประสบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ดังตัวอย่างที่พบในอุตสาหกรรมสิ่งทอ

วันนี้ การใช้ม.44ของท่านผู้นำเพื่อให้เกิดการตั้งหลักในพ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว เสมือนเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยให้ผู้มีอำนาจได้ทบทวนว่า ความจริงไม่ใช่เฉพาะปัญหาแรงงานต่างด้าวเท่านั้นที่เป็นภาพสะท้อนของการถูกเพ่งเล็งเรื่องการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทย หากแต่จากจุดนี้ก็น่าจะเป็นสิ่งที่กระตุกให้ผู้มีอำนาจได้คำนึงถึงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนในประเทศด้วย เพราะการแก้ปัญหาของคนโดยภาพรวมนั้น ต้องคำนึงถึงความสมดุลของทุกฝ่าย ไม่ใช่ลำเอียงหรืออคติต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

Back to top button