พาราสาวะถี 

เรียกเสียงวิจารณ์ได้หนาหูกรณีที่ประชุมสนช.มีมติเอกฉันท์ผ่านร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญานักการเมือง ที่มีสาระสำคัญไม่ให้นับอายุความของคดีในระหว่างที่จำเลยหลบหนีคดี และให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาไต่สวนคดีลับหลังจำเลยได้


อรชุน

เรียกเสียงวิจารณ์ได้หนาหูกรณีที่ประชุมสนช.มีมติเอกฉันท์ผ่านร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญานักการเมือง ที่มีสาระสำคัญไม่ให้นับอายุความของคดีในระหว่างที่จำเลยหลบหนีคดี และให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาไต่สวนคดีลับหลังจำเลยได้

ประเด็นใหญ่ไม่ได้อยู่ที่ว่าเนื้อหาสาระของร่างกฎหมายฉบับนี้ดีหรือไม่ เพราะเชื่อกันโดยสนิทใจว่า การออกกฎหมายดังกล่าวย่อมมีเจตนาดี เพื่อที่จะไม่ให้นักการเมืองที่กระทำผิด ทุจริตต่อชาติบ้านเมืองหนีคดีไปอย่างลอยนวล รอวันให้คดีหมดอายุความแล้วก็กลับมาเสวยสุขในบั้นปลายได้ ตรงนี้เชื่อว่าคนส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างแน่นอน

แต่สิ่งที่เกิดข้อกังขากันตามมา โดยเฉพาะจากฟากฝั่งของบรรดาคนจากพรรคเพื่อไทย นั่นก็คือ ร่างกฎหมายฉบับนี้มีเจตนาเพื่อที่จะไล่บี้ขยี้ ทักษิณ ชินวัตร ที่หนึ่งหนีคดีซึ่งศาลมีพิพากษาให้จำคุกไปแล้ว 1 คดี กับเพื่อเปิดทางให้เริ่มกระบวนการพิจารณาคดีที่ยังค้างอยู่ในศาลอีก 4 คดีใช้หรือไม่ ฟังคำตอบของ คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสปท.ขณะที่สนช.ยังไม่ได้ผ่านร่างกฎหมายนี้ มีความชัดเจนเป็นเช่นนั้น

ไม่เพียงแต่คำนูณเท่านั้น หากแต่ สุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานกรธ.ผู้ซึ่งเคยทำหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเจ้าของวลีอมตะที่ประวัติศาสตร์ทางการเมืองของไทยต้องจดจำ “ถ้าถนนลูกรังยังไม่หมดไปก็อย่างไปสร้างรถไฟความเร็วสูง” ก็ออกมาพูดถึงกฎหมายฉบับนี้ว่า เจตนาเพื่อคืนความยุติธรรมให้ชาติ ไม่ได้มุ่งที่จะใช้เช็คบิลใครคนหนึ่งคนใด

อย่างที่บอกไว้มาโดยตลอด ความเนียนของเนติบริกรในการยกร่างกฎหมายตั้งรัฐธรรมนูญ มาจนถึงกฎหมายลูกทุกฉบับนั้น แม้จะอ้างเหตุอ้างผลสารพัด แต่สิ่งหนึ่งซึ่งถูกตั้งเป็นตุ๊กตาแต่ต้นคือคนชื่อทักษิณ รวมไปถึงเครือข่ายในระบอบทักษิณที่อุปโลกน์กันขึ้นมาโดย มิเช่นนั้น คงไม่มีการบัญญัติในร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองที่จะให้ผู้สมัครส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 1 ต้องเป็นหัวหน้าพรรคเท่านั้น

เหล่านี้คือความพยายามที่จะจัดการทักษิณและเครือข่ายให้สิ้นซาก เพื่อป้องกันการเสียของหลังจากที่ต้องพลาดท่าเสียทีมาหนหนึ่งแล้วหลังการรัฐประหาร 2549 แต่คำถามมีอยู่ว่า การที่จะเอาผิดนักการเมืองทุจริตโดยไม่ให้มีอายุความนั้น มีข้อยกเว้นในส่วนของนักการเมืองหรือผู้บริหารประเทศในยุครัฐบาลคสช.นี้ด้วยหรือไม่

ผู้ยกร่างกฎหมายควรตอบให้ชัดและยืนยันด้วยว่า บรรดาการนิรโทษกรรมทั้งหลายแหล่ที่ได้ยกเว้นความผิดให้กับคณะรัฐประหารและผู้ที่ทำงานภายใต้รัฐบาลเผด็จการนั้น จะต้องไม่ได้รับการยกเว้นโทษหากพบว่ามีการทุจริต ประพฤติมิชอบ เพราะนั่นจะเป็นการซื้อใจและทำให้ประชาชนเชื่อใจว่า เจตนาของการร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อที่จะทำบ้านเมืองให้ใสสะอาดอย่างแท้จริง

หากไม่มีคำตอบหรือตอบไปในทิศทางเพียงแค่ว่า คนในรัฐบาลนี้ล้วนแต่มีเจตนาดีต่อบ้านเมือง และไม่มีใครคิดทุจริต คดโกง ความศักดิ์สิทธิ์หรือคุณค่าของกฎหมายฉบับดังว่าจะหดหายไปในทันที ไม่เพียงเท่านั้น การที่จะใช้กฎหมายเข้มข้นขนาดนี้ ไม่ควรจะยกเว้นเอกชน ประชาชนรวมถึงข้าราชการที่รวมหัวกันโกงกินงบประมาณของแผ่นดินด้วย

เพราะคนเหล่านั้นก็ถือเป็นผู้มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในขบวนการทุจริต ประพฤติมิชอบ ไม่ใช่จะบอกว่านักการเมืองคือตัวการใหญ่ต้องได้รับโทษนัก ส่วนเอกชนและข้าราชการแค่คดโกงเล็กน้อย เช่นนี้เป็นคำตอบที่ใช่ไม่ได้ และไม่ควรจะมาจากปากของคนที่มีอำนาจในเวลานี้ ไม่ว่าใครก็ตามที่ทำตัวเป็นกังฉิน โกงกินกับเงินภาษีของประชาชน จะต้องได้รับการลงโทษที่เด็ดขาด

แต่เมื่อกฎหมายฉบับนี้เลือกชี้นิ้วไปที่เฉพาะนักการเมือง และชัดเจนเหลือเกินว่าทักษิณจะตกเป็นเหยื่อรายแรกหรือลำดับต้นๆ นั้น ความเข้มขลังของร่างกฎหมายย่อมจะด้อยค่าลงไปในทันที ยิ่งได้ฟังคนซึ่งเคยแสดงวิสัยทัศน์อันคร่ำครึดึกดำบรรพ์เรื่องถนนลูกรัง ยิ่งทำให้มองเห็นเจตนาของคณะผู้ร่างได้อย่างชัดเจน สุดท้ายหนีไม่พ้นการใช้อคติ ความเกลียดชังส่วนตัวเป็นที่ตั้ง
อย่ามาอ้างว่าไปเหมารวมเช่นนั้นไม่ได้ เพราะคนเราหากมีหลักการที่หนักแน่นอย่างเช่นการต่อต้านไม่ให้รถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้นอย่างรายของสุพจน์ มาในยุคนี้แม้จะได้รับการแต่งตั้งจากอำนาจรัฐประหาร ก็ต้องกล้าที่จะออกมาป่า

ประกาศให้สังคมรับรู้ว่า จุดยืนของตัวเองยังหนักแน่นและขอคัดค้านโครงการรถไฟไทย-จีนให้ถึงที่สุด เนื่องจากสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ และถนนลูกรังยังไม่หมดไปจากประเทศไทย
เมื่อไม่ได้แสดงออกใดๆ มิหนำซ้ำ ยังเชื่อได้ว่าแอบยกมือสนับสนุนเสียด้วย เท่านี้คนก็รู้เช่นเห็นชาติแล้วว่า การปฏิบัติหน้าที่ของพวกที่อ้างตัวว่าเป็นคนดีที่ผ่านมานั้น ยึดโยงหลักการของข้อกฎหมาย ใช้จรรยาบรรณขององค์กรที่ตัวเองสังกัดเป็นตัวตั้งหรือใช้ความรู้สึกส่วนตัวและกระแสสังคม (ของฝ่ายต่อต้านระบอบทักษิณ) เป็นตัวชี้วัดกันแน่

ส่วนเสียงทักท้วงที่แว่วมาจาก วัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ หรือ ครูหยุย ต่อร่างกฎหมายดังกล่าวที่ว่า ไม่สามารถที่จะฟื้นคดีทักษิณที่มีคำพิพากษาและมีบทลงโทษไปแล้ว เพราะกฎหมายระบุว่าไม่กระทบต่อคดีที่ได้ดำเนินการตัดสินไปแล้ว ยกเว้นคดีที่ยังไม่ตัดสินน่าจะเข้าข่ายกฎหมายฉบับนี้ เรื่องนี้ต้องมีความชัดเจนไม่เช่นนั้น อาจทำให้เกิดความสับสนโดยเฉพาะคำว่า ดำเนินการไปแล้วมีความหมายว่าอย่างไร

เท่าที่ตนดูเข้าใจว่าเจตนาของคณะกรรมาธิการน่าจะตีความถึงคดีที่ได้พิจารณาไปแล้ว แต่ส่วนตัวมองว่าไม่น่าเกี่ยวกับคดีที่พิจารณาไปแล้ว และในส่วนของคดีที่จำหน่ายออกจากสารบบไปแล้วก็ไม่น่าจะเข้าข่าย ดังนั้น ใครติดใจก็สามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ เพราะเรื่องดังกล่าวมีความสับสนมาก ฟังดูแล้วคิดว่าดูดี มีหลักการทีเดียว

เสียดายว่าครูหยุยน่าจะเป็นตัวตั้งตัวตีในการล่ารายชื่อสมาชิกสนช. 1 ใน 10 เพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีนี้เสียเอง เพราะหากไม่ใช้ช่องทางนี้ก็ไม่รู้จะมีวิธีการไหน จะให้นายกรัฐมนตรียื่นเองก็คงไม่มีวัน ดังนั้น พอมองมุมนี้การออกมาให้ความเห็นจึงเป็นเพียงการรักษาภาพว่ามีสมาชิกสนช.ได้ทักท้วงแล้วเท่านั้น

ถ้าแอ็คชั่นล้ำเส้นมากกว่านี้ ต้องไม่ลืมว่าเก้าอี้ส.ว.ลากตั้ง 250 ที่นั่งนั้น ใครก็อยากจะได้ ถ้าไม่จริงก็ขอให้ทุกคนที่เกี่ยวกับองคาพยพแห่งอำนาจเวลานี้ โดยเฉพาะประเภทบอกว่าจะไม่ข้องแวะกับการเมืองใดๆ หลังกการเลือกตั้งครั้งหน้า ให้ออกมาประกาศเป็นสัญญาประชาคมไปเลยว่าจะไม่รับตำแหน่งใดๆหลังจากพ้นสภาพ หากกลืนน้ำลายตัวเองขอให้มีอันเป็นไป ถ้าทำเช่นนี้ได้คนจึงจะเชื่อว่าที่ทำกันมาไม่มีวาระซ่อนเร้นแอบแฝง

Back to top button