พาราสาวะถี
ประเด็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญานักการเมือง ที่มีสาระสำคัญไม่ให้นับอายุความของคดีในระหว่างที่จำเลยหลบหนีคดี และให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาไต่สวนคดีลับหลังจำเลยได้ ยังเป็นเรื่องที่พูดถึงกันหนาหู ทั้งมุมของคนที่เห็นด้วยและคัดค้าน
อรชุน
ประเด็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญานักการเมือง ที่มีสาระสำคัญไม่ให้นับอายุความของคดีในระหว่างที่จำเลยหลบหนีคดี และให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาไต่สวนคดีลับหลังจำเลยได้ ยังเป็นเรื่องที่พูดถึงกันหนาหู ทั้งมุมของคนที่เห็นด้วยและคัดค้าน
คนที่ยกมือเชียร์แน่นอนว่า มีทั้งพวกที่ต้องการให้จัดการ ทักษิณ ชินวัตร ให้สิ้นซาก และพวกที่รังเกียจพฤติกรรมของนักการเมืองขี้ฉ้อทั้งหลาย ในมุมของฝ่ายหนุนนั้น ยกเอาแค่คำอธิบายของ สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลเพียงรายเดียวก็น่าจะครอบคลุมเป้าประสงค์ความต้องการทั้งหมดได้
อย่าหนีสิ ถ้าไม่หนี ทุกอย่างก็เข้าสู่กระบวนการแล้วกฎหมายก็ไม่ได้เลือกบังคับใช้แก่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่บังคับใช้กับทุกคน ใครเป็นนักการเมืองก็ต้องใช้ ซึ่งในรายละเอียดของกฎหมายสภาเป็นผู้คิด แต่โดยหลักการแล้วรัฐบาลและคสช.เห็นว่า การมีกฎหมายที่เป็นเสมือนตะแกรงร่อนให้คนดีสามารถปกครองบ้านเมือง ไม่ให้คนไม่ดีที่มีประวัติโกงกินมาปกครองบ้านเมืองได้ ดังนั้น ใครมีคดีความแบบนี้ ไม่ว่าไปหลบอยู่ที่ไหน ก็ต้องถูกดำเนินคดี ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องไม่ใช่หรือ
ถูกต้องอย่างแน่นอนว่า ใครก็ตามที่เป็นพวกกังฉิน ทุจริตโกงกินเงินงบประมาณแผ่นดิน มันผู้นั้นจะต้องรับกรรมอย่างสาสม ถึงขั้นประหารชีวิตด้วยยิ่งดี แต่สิ่งที่หลายคนอดตั้งคำถามซึ่งก็ถามไปแล้ววันวานว่า บรรดาองคาพยพที่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐประหารที่ชื่อว่าคสช. หากพบการกระทำผิด ประพฤติชั่วในภายหลัง กฎหมายนี้จะสามารถใช้เล่นงานได้หรือไม่
ทางที่ดีโฆษกรัฐบาลควรจะช่วยเป็นกระบอกเสียงแทนคนในรัฐบาลและองคาพยพของคสช.เสียทั้งหมด ยืดอกยอมรับว่า หากใครก็ตามที่ร่วมคณะคนดีภายใต้ผู้นำที่ชื่อว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้จะมีการนิรโทษกรรมไว้ให้ทั้งการกระทำในอดีต ปัจจุบันและอนาคต แต่หากพบว่าทำตัวเป็นพวกเหลือบคอยสูบเงินงบประมาณเข้ากระเป๋าตัวเองและพวกพ้อง มันผู้นั้นจะต้องไม่ได้รับการงดเว้นโทษด้วย
จะดีไปกว่านั้น หากท่านผู้นำจะอุตส่าห์ใช้มาตรา 44 ออกเป็นคำสั่งว่า ใครก็ตามที่ร่วมรัฐบาลคสช. ตลอดจนแม่น้ำ 4 สาย ถ้าภายหลังพบว่ามีการทุจริตประพฤติมิชอบ จะต้องไม่ได้รับการนิรโทษกรรมไม่ว่าจากกฎหมายใดๆก็ตาม และต้องถือว่าคนเหล่านั้นเป็นนักการเมือง ที่จะต้องถูกพิจารณาจากกฎหมายที่สนช.เพิ่งผ่านความเห็นชอบไปฉบับนี้
หากดำเนินการแบบนี้เชื่อได้เลยว่า เสียงวิจารณ์ใดๆก็ไม่เป็นปัญหาต่อคณะรัฐประหาร ที่สำคัญก็ไม่มีใครไปกล่าวหาว่า เป็นการร่างกฎหมายเพื่อจะจัดการกับใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ ส่วนที่บอกกันว่าทักษิณเลว หนีคดีไปนั้น ในเมื่อเห็นว่าเป็นการประพฤติชั่วกระบวนการที่ใช้จัดการเป็นไปอย่างเหมาะสม ยึดตามหลักสากล เหตุใดจึงไม่ขอตัวในลักษณะผู้ร้ายข้ามแดน
ทำไมจึงปล่อยให้ทักษิณลอยนวล บินไปบินมาทั่วทั้งยุโรป อเมริกาหรือแม้กระทั่งในย่านเอเชียเองก็ตาม เพราะหากกระบวนการและกฎหมายที่ใช้มันเป็นไปตามหลักสากลจริง กรณีเณรคำเป็นตัวอย่างที่สำคัญทำไมสหรัฐอเมริกาจึงดำเนินการส่งตัวกลับให้มาดำเนินคดีในประเทศไทยได้ ตรงนี้ต่างหากที่เป็นเครื่องหมายคำถามว่า ผู้มีอำนาจโดยเฉพาะในยุคนี้ทำไมจึงไม่ดำเนินการเช่นนั้น หรือดำเนินการแล้วติดขัดประการใดก็ช่วยชี้แจงให้ประชาชนได้ทราบกันเสียให้กระจ่างชัด
สำหรับข้อทักท้วงต่อกฎหมายฉบับดังว่านั้น ถ้าเป็นนักการเมืองฝ่ายเพื่อไทยย่อมถูกมองได้ว่าการที่ดาหน้ากันออกมานั้น เพราะต้องการปกป้องนายใหญ่ แต่สำหรับความเห็นทางวิชาการแล้วย่อมไม่ใช่เรื่องที่จะเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอย่างแน่นอน ยุทธพร อิสรชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
การออกกฎหมายต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรม ไม่เลือกว่าเป็นนักการเมืองหรือประชาชนทั่วไป ดังนั้น การใช้กฎหมายโดยไม่คำนึงถึงหลักดังกล่าว ในการพิจารณาคดีลับหลังจะส่งผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ ในแง่ความเป็นมนุษย์ เพราะโดยทั่วไปคดีอาญาเป็นคดีที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของบุคคล จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะอาจถูกโยงใน 2 เรื่องคือ เรื่องนักการเมืองและกฎหมาย ฉะนั้นจำเป็นต้องแบ่งแยกให้ชัดเจน
กฎหมายนี้ไม่ใช่เพียงลิดรอนสิทธิของนักการเมือง แต่ในระยะยาวจะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย ตนมองว่าการพิจารณากฎหมายต่างๆ จะต้องแยกในส่วนของหลักการและทัศนะคติความคิดเห็นที่จะนำมารวมกันไม่ได้ แต่วันนี้มีการนำความคิดว่านักการเมืองจะทุจริตคอร์รัปชั่นและพยายามออกกฎหมายเพื่อปราบนักการเมืองเหล่านั้น ในอนาคตจะกระทบเรื่องความมั่นคงของกฎหมายโดยรวม
ควรร่างกฎหมายบนหลักสากลที่ทุกคนยอมรับ และการออกกฎหมายเช่นนี้ไม่มีประเทศใดทำ เพราะเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นไปตามตามหลักนิติธรรม ถือเป็นกฎหมายที่ยอมรับไม่ได้ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องขีดเส้นใต้ โดย พลตำรวจโทวิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็ได้แสดงความเห็นในลักษณะเดียวกัน ด้วยการตั้งคำถามว่า มีนานาอารยประเทศใดบ้างที่เขียนกฎหมายให้พิจารณาคดีลับหลัง และไม่เปิดโอกาสให้จำเลยได้ต่อสู้คดี
ไม่ว่าจะเป็นคดีอาญาที่ทำกับนักการเมืองหรือประชาชนทั่วไปก็ไม่มี เพราะขัดต่อหลักนิติธรรมทั่วไป ทั้งนี้ ตนอยู่ในกระบวนการยุติธรรมมา 30-40 ปีไม่เคยเห็นการเขียนกฎหมายที่ปิดโอกาสการต่อสู้คดีของจำเลย ดังนั้น ที่ต้องออกมาพูดเพราะเห็นว่าขัดกับหลักนิติธรรม และยังไม่เห็นช่องว่าจะมีทางออกอย่างไร ขอเตือนไปถึงผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ซึ่งมีสถานะเป็นนักการเมืองเช่นเดียวกันว่าให้ระวังดาบนี้จะคืนสนอง
อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้น กฎหมายฉบับนี้อาจจะเป็นการการันตีว่ารัฐประหารครั้งนี้ไม่เสียของ แต่คำถามของ จาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งน่าจะเป็นคำถามแทนประชาชนจำนวนไม่น้อยหรือส่วนใหญ่เลยทีเดียวก็ว่าได้ จะทำให้การรัฐประหารครั้งล่าสุดไม่เสียของ ควรทำโดยการทำลายระบบยุติธรรมให้เสียหายยับเยินไปเลยหรือไม่ หากไร้อคติต่อระบอบทักษิณหรือไม่หลงอำนาจที่ไม่ชอบธรรมอย่างหัวปักหัวปำ เชื่อว่าทุกคนน่าจะมีคำตอบที่ตรงกัน