ตลาดบอนไซ
ครึ่งแรกของปีนี้ผ่านไป มีหลักทรัพย์เข้าระดมทุนครั้งแรกหรือ IPO ในตลาดหลักทรัพย์ฯไปแล้ว 11 รายการ แบ่งออกเป็นในตลาดหลัก 5 บริษัท ตลาด mai 5 บริษัท และกอง REIT อีก 1 กอง ถือว่าน้อยกว่าทุกๆ ปี
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
ครึ่งแรกของปีนี้ผ่านไป มีหลักทรัพย์เข้าระดมทุนครั้งแรกหรือ IPO ในตลาดหลักทรัพย์ฯไปแล้ว 11 รายการ แบ่งออกเป็นในตลาดหลัก 5 บริษัท ตลาด mai 5 บริษัท และกอง REIT อีก 1 กอง ถือว่าน้อยกว่าทุกๆ ปี
เดือนแรกของไตรมาสสามนี้ จะมีเพียง 2 หลักทรัพย์ที่จะเข้าเทรดอย่าง BGRIM ในวันพรุ่งนี้ที่ตลาดหลัก และหุ้น FTE จะเข้าเทรดที่ตลาด mai ปลายเดือน ดูแล้วช่างวังเวงสิ้นดี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นขนาดเล็กแบบ “จิ๋วแต่แจ๋ว” ที่เคยเป็นดาวรุ่งสร้างสีสันในฐานะ Growth Stocks ในตลาด mai มาต่อเนื่องหลายปีนั้น ดูโรยรามากเป็นพิเศษ แถมอนาคตยังสลัวมัวหม่น
คำอธิบายจากผู้รู้ทั้งที่เป็น ที่ปรึกษาการเงิน อันเดอร์ไรเตอร์ และบุคคลวงในตลาด เท่าที่ประมวลได้ พบว่ามาจากสาเหตุหลัก 2 เรื่องคือ
- กติกา ของ ก.ล.ต.ที่กำหนดให้ บริษัทที่จะระดมทุนในตลาด mai ต้องมีกำไรสุทธิก่อนเข้าระดมทุนในตลาดมากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป (มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2560)
- เงื่อนไขทางเทคนิคที่กำหนดคุณสมบัติของ ผู้บริหารตำแหน่งสูงสุดสายงานบัญชีและการเงิน หรือ CFO และ สมุห์บัญชี (จะมีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2561)
อย่างแรกสุดนั้น ก.ล.ต. สร้างกติกาด้วยเจตนาเพื่อป้องกัน “การปั่นหุ้น” เพราะทัศนคติว่า หุ้นขนาดเล็กที่มีหุ้นจำนวนน้อย สามารถถูก “ขาใหญ่” ครอบงำสร้างราคาได้ง่าย และมักจะมีราคาสูงเกินมูลค่า หรือ Overpriced เสมอ
เจตนาดีดังกล่าว (แม้จะมีส่วนถูกอยู่บ้าง) มองข้ามข้อเท็จจริงว่า ก.ล.ต.นั่นเอง ที่ปล่อยปละละเลย อนุญาตหรือเปิดทางให้ ผู้บริหารบริษัทเจ้าของหลักทรัพย์ (Issuers) สมคบกับ ที่ปรึกษาทางการเงิน และอันเดอร์ไรเตอร์ ทำการตั้งราคา (price valuation) หุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ในตลาดแรกที่เป็นต้นทาง (primary market) (หรือหุ้นจอง) กันตามใจชอบ (บางครั้งตั้ง พี/อี สูงถึง 40 เท่า) แต่กลับมุ่งอ้างถึงการปกป้องนักลงทุนที่ปลายทางคือ ในตลาดรอง (secondary market) ของตลาดทุน ซึ่งมีความสามารถรับรู้และเล่นเกมกับความเสี่ยงได้ดีในระดับหนึ่ง จนเกินจำเป็น ทั้งที่ตลาดหลักทรัพย์มีมาตรการรับมืออยู่พอสมควรแล้ว
ข้อกำหนดให้กำไรสุทธิในปีล่าสุดมากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไปทำให้มีบริษัทขนาดเล็กทำได้ตามกติกาใหม่ต่ำลงมาก เพราะในตอนที่ทำไฟลิ่งจะต้องทำกำไรให้สูงกว่า 15 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อว่าเวลาที่ตรวจสอบก่อนอนุมัติจะถูกตัดให้กำไรลดลง เพื่อให้ได้เกณฑ์เกิน 10 ล้านบาท
ผลลัพธ์ของ “เจตนาดี ประสงค์ร้าย” ดังกล่าว ทำให้มีบริษัทที่จะเข้าตลาด mai ขอถอนไฟลิ่งไปแล้วปีนี้ อย่างต่ำ 5 ราย และโอกาสที่บริษัทเหล่านั้นจะกลับมายื่นไฟลิ่งใหม่น้อยลงเกือบเท่ากับ 0
มาตรการที่เป็น “ดาบสอง” ที่จะเกิดในปีหน้า แต่มีผลทันทีตั้งแต่ปีนี้เลย คือหลักเกณฑ์ใหม่ของ ก.ล.ต.ว่าด้วยคุณสมบัติทางเทคนิคให้บริษัทที่ขอยื่นไฟลิ่ง ต้องมีตำแหน่ง CFO และสมุห์บัญชีในบริษัทอย่างน้อย 1 ปี ก่อนที่บริษัทจะยื่นต่อ ก.ล.ต. (ดูตารางประกอบ)
การกำหนดคุณสมบัติดังกล่าว อ้างถึงผลสำรวจ CFO บริษัทจดทะเบียนที่มีอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ไทยทั้งหมดรวม 278 คน และสมุห์บัญชีอีก 189 ราย ว่า 99% ของบริษัทจดทะเบียนมี CFO ที่มีคุณสมบัติครบตามที่กำหนด และ 71% มีการอบรมมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อปี ขณะที่พบว่า 99% ของสมุห์บัญชี มีคุณสมบัติครบถ้วน และ 95% แล้วมีการอบรมมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อปี
การอ้างอิงดังกล่าว เป็นที่มาของการกำหนดมาตรฐาน CFO และสมุห์บัญชีของบริษัทจดทะเบียนที่จะเข้าตลาดในอนาคต ต้องเป็นตามที่ ก.ล.ต.กำหนดเคร่งครัด ทั้งคุณสมบัติพื้นฐาน และการเข้ารับการอบรมตามหลักสูตร (ซึ่งมีคิวยาวเหยียด)
เรื่องนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็ก ถือเป็นภาระเพิ่มต้นทุนใหญ่หลวงของการระดมทุนอย่างมาก ผลลัพธ์คือ เข้าตลาดหุ้นยากมากหรือเป็นไปไม่ได้
แม้ในภาพรวม เกณฑ์คุณสมบัติของ CFO และสมุห์บัญชี อาจช่วยให้ระบบบัญชี และการเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินของบริษัทดีขึ้น แต่เกณฑ์ดังกล่าวมีบุคลากรตามคุณสมบัติยากมาก และขาดแคลนจริง อีกทั้งมีการแย่งชิงตัวกันให้ผลตอบแทน ทำให้ที่ผ่านมาต้องจำยอมให้บริษัทจดทะเบียนบางราย เลือกใช้บุคลากรไม่ตรงกับสายงานด้านบัญชีหรือการเงิน เช่น บางบริษัทได้ CFO ที่จบวิศวกรรม และอื่นๆ
มนุษย์ทองคำรุ่นใหม่ ในตำแหน่ง CFO และสมุห์บัญชี จะเกิดขึ้นจาก “ดาบสอง” อย่างเลี่ยงไม่พ้น
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในปี 2558 สำนักงาน PWC เคยเตือนไว้ล่วงหน้าว่า ภายใต้กติกาใหม่ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน บทบาทหน้าที่ของ CFO และแผนกการเงินของบริษัทต่างๆในภูมิภาคภายในปี พ.ศ. 2573 ต้องสอดคล้องกับกระแสต่อไปนี้ คือ 1) CFO จะเป็นพาร์ตเนอร์ของธุรกิจมากขึ้น 2) สงครามแย่งชิงคนเก่งรุนแรงมาก (Talent War) 3) อิทธิพลของเทคโนโลยีใหม่ๆจะเปลี่ยนแปลงบทบาทฝ่ายการเงินเข้มข้น 4) ความสามารถในการบริหารผลกำไรจะกดดันรุนแรง
วันนี้ ก.ล.ต. กำลังเดินตามเงื่อนไขที่ PWC เอ่ยถึงไม่ผิดเพี้ยน ท่ามกลางคำถามว่า นี้เป็นมาตรการเร่ง หรือ บอนไซ ความก้าวหน้า กันแน่