ฟันด์โฟลว์พลวัต2015
หลังปิดตลาดบ่ายวานนี้ ดัชนีที่ร่วงมายืนปิดที่แนวรับ 1,531 จุด ทำให้เกิดอาการ ”เสียงแตก” ในหมู่นักวิเคราะห์ในตลาดหุ้นไทยสำนักต่างๆ เพราะแต่ละคนออกมาใช้ดุลยพินิจของตนฟันธงว่า ดัชนีหุ้นไทยจะร่วงต่อไปที่ 1,500 จุด หรือรีบาวด์กลับไปยืนเหนือ 1,580 จุดอีกครั้ง
หลังปิดตลาดบ่ายวานนี้ ดัชนีที่ร่วงมายืนปิดที่แนวรับ 1,531 จุด ทำให้เกิดอาการ ”เสียงแตก” ในหมู่นักวิเคราะห์ในตลาดหุ้นไทยสำนักต่างๆ เพราะแต่ละคนออกมาใช้ดุลยพินิจของตนฟันธงว่า ดัชนีหุ้นไทยจะร่วงต่อไปที่ 1,500 จุด หรือรีบาวด์กลับไปยืนเหนือ 1,580 จุดอีกครั้ง
ข้อสังเกตน่าสนใจสำหรับเหตุเกิดเมื่อวานนี้คือ มูลค่าการซื้อขายเยอะมากกว่าปกติ เพราะสูงถึง 4.8 หมื่นล้านบาทเศษ เพิ่มจากวันก่อนหน้าที่มีแค่ระดับ 3.9 หมื่นล้านบาท
ที่น่าสนใจคือ ต่างชาติขายแรงถึง 2.65 พันล้านบาทต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน สมทบด้วยกองทุนในประเทศ และพอร์ตโบรกเกอร์ ในขณะที่รายย่อยรับอยู่กลุ่มเดียวอย่างสะเปะสะปะ
สำหรับต่างชาติแล้ว การขายต่อเนื่อง เป็นเรื่องปกติธรรมดา และไม่ใช่เรื่องแปลก แต่การพิจารณาว่าต่างชาติจะยังขายต่ออีกหรือไม่ในวันถัดๆ ไป ให้พิจารณาดู 2 เรื่อง คือ ค่าเงินบาท และการวางตำแหน่งของต่างชาติในดัชนี SET50 ล่วงหน้า
ในกรณีของเงินบาทนับแต่คืนวันศุกร์แล้วที่เราเห็นค่าบาทอ่อนยวบจากระดับ 32.40 บาทเศษ/ดอลลาร์ วิ่งมาต่อเนื่องจนถึงคืนวานนี้ ที่ระดับเหนือ 32.60 บาทต่อดอลลาร์ สะท้อนว่าทุนเก็งกำไรไหลออก แม้แบงก์ชาติจะมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลกพิสดาร แต่นักลงทุนไม่ควรคิดแบบผู้บริหารแบงก์ชาติ
โดยพฤติกรรมปกติของตลาดกำลังพัฒนา ต่างชาติจะขายหุ้นทิ้งในตลาดก่อน ทำให้หุ้นตกแรง แต่หากไม่ได้ต้องการที่จะทิ้งตลาดไทย ก็จะไม่แปลงเป็นดอลลาร์ ทำให้ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะต่างชาติย้อนกลับมาใหม่ซื้อหุ้นที่ร่วงไปแล้วเพื่อกลับมาทำกำไรรอบต่อไปเป็นการเล่นรอบ แต่ในกรณีจะทิ้งออกจากตลาดไทย ก็จะมีการแปลงเป็นดอลลาร์ก่อน ซึ่งจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนยวบ
การที่บาทไทยอ่อนยวบเทียบกับดอลลาร์ หลายวันมานี้ สะท้อนว่าต่างชาติถอนตัวออกจากไทย ซึ่งสอดรับกับข้อสังเกตของนักวิเคราะห์ที่ระบุว่า กระแสฟันด์โฟลว์ที่ไหลมาเอเชียรอบนี้ ไหลเข้าเก็งกำไรตลาดเอเชียเหนือคือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง และไต้หวันแทน ไม่ไหลเข้าตลาดอาเซียน แถมยังจะไหลออกเสียด้วยซ้ำโดยเฉพาะในประเทศ TIPs (ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์)
ส่วนกรณีซื้อขายอนุพันธ์ SET50 ล่วงหน้า เมื่อวานนี้ ข้อมูลระบุว่าต่างชาติเปิดซื้อชอร์ตกว่า 5,100 สัญญา กองทุนซื้อ 7.8 พันสัญญา ส่วนพอร์ตโบรกเกอร์ซื้อชอร์ต 1.9 พันสัญญา ส่งสัญญาณชัดเจนว่า วันนี้ต่างชาติจะทุบหุ้นในตลาดหลัก (ซื้อขายทันที) เพื่อไปทำกำไรจากสัญญาล่วงหน้า เป็นไปตามการเล่นตลาดคู่ขนาน ทำกำไรได้ทั้งขาขึ้นและขาลง
สัญญาณขายล่วงหน้าของต่างชาติ สอดรับกับค่าเงินบาทที่อ่อนยวบ ทำให้หลายคนคิดถึงสถานการณ์ที่ต่างชาติถอนตัวออกจาตลาดหุ้นไทยในช่วงกลางปี 2556 หลังจากที่สหรัฐส่งสัญญาณว่าจะยกเลิก QE มีผลทำให้ตลาดหุ้นไทยร่วงยาวติดต่อกันนานกว่าครึ่งปี ท้ายสุดขายสุทธิมากกว่า 2 แสนล้านบาท
การไหลออกของฟันด์โฟลว์ช่วงนั้น เป็นจังหวะที่ค่าพี/อีของตลาดหุ้นไทยสูงกว่าตลาดอื่นๆ แล้วนักวิเคราะห์ทั้งไทยและเทศ ก็พากันออกความเห็นสมทบกันยามนั้นว่า หุ้นไทยหมดเสน่ห์เสียแล้ว เพราะตลาดหุ้นไทยมีค่าพี/อีสูงเกิน
ครั้งนี้อาจจะมีรายละเอียดที่ต่างออกไป เพราะแม้กระแสฟันด์โฟลว์จากยุโรป และญี่ปุ่นจะออกมาท่วมตลาดโลกจากมาตรการ QE เช่นกัน แต่เงินเก็งกำไรเหล่านั้นก็มีทางเลือกไปลงทุนในตลาดที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า โดยเฉพาะความร้อนแรงของตลาดโตเกียว ฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้ในยามนี้
นักวิเคราะห์ระบุว่า โอกาสที่ทุนเก็งกำไรจะไหลเข้าตลาดหุ้นไทยยามนี้และถัดจากนี้ไป มีน้อยกว่าการไหลออก ด้วยเหตุผลหลักคือ พี/อีของตลาดไทยแพงกว่าพื้นฐานผลประกอบการมากเกิน
เหตุผลต่อไปคือ ไม่มั่นใจในเศรษฐกิจในประเทศ เพราะตัวเลขส่งออกไตรมาสแรกลด (ขายของไม่ดี) และตัวเลขนำเข้าลดมากกว่า (คนลงทุนซื้อเครื่องจักรขยายกำลังผลิตลด) ทำให้ด้านหนึ่งตัวเลข GDP ครึ่งแรกปีไม่สวย และผลประกอบการธนาคารมี NPL เพิ่มขึ้น ทำให้กำไรลด ซึ่งต่อเนื่องไปจนสิ้นไตรมาสที่สอง ซึ่งหมายความว่า กำไรเฉลี่ยบริษัทจดทะเบียนจะลด (นักวิเคราะห์บางสำนักระบุว่า หากมองไปที่ EPS ของตลาดไทยที่มีการปรับลดลงเรื่อยๆ จนตอนนี้อยู่ที่ 101.3 บาท/หุ้น จากเมื่อต้นปีที่อยู่ 106.7 บาท/หุ้น) และทำให้ค่าพี/อีของตลาดที่ปัจจุบัน 21.5 เท่า อาจจะพุ่งขึ้นไปอีก สะท้อนว่าราคาหุ้นแพงเกินพื้นฐาน เป็นฟองสบู่ด้านราคา
ร้ายไปกว่านั้น ต่างชาติยังมีมุมมองอีกว่า โอกาสที่ กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะ กนง. ไม่ใส่ใจต่อการเติบโตเท่ากับเสถียรภาพ ดังนั้น วันนี้ กนง.ก็จะไม่ลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้อารมณ์ของตลาดเสียหาย
ที่สำคัญรัฐบาลไทยยังขาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่มีการลงทุนใหญ่สาธารณูปโภค ไม่มีการประมูลใบอนุญาต 4 จี จนกว่าจะถึงปีหน้า และไม่มีนโยบายการคลังเชิงรุกเพื่อให้มีความมั่นใจในการลงทุนภาคเอกชน
พูดง่ายๆ คือ หุ้นก็แพงและยังจะแพงยิ่งขึ้นเพราะกำไรลด แต่ไม่มีข่าวดีมารองรับ เผ่นดีกว่า ประเทศอะไรก็ไม่รู้ เศรษฐกิจยิ่งไม่ดี ยิ่งมีวันหยุดยาวขึ้นเรื่อยๆ ไม่เห็นมีใครทุกข์ร้อน
หลายคนอาจอยากโต้แย้ง โดยอ้างถึงคำพูดคลาสสิกของกูรูด้านหุ้นในอดีตบางคนที่ว่า “อย่าดูทิศทางของตลาดด้วยกระแสฟันด์โฟลว์ เพราะมันคือมายาภาพ” แต่ถ้าถามว่าตลาดเล็กๆ อย่างไทยนี่ หากไม่ดูกระแสฟันด์โฟลว์ที่ไหลออก และเข้าตามจังหวะ แล้วจะให้ดูอะไร
เป็นโจทย์ที่ท้าทาย เพราะแม้ต่างชาติจะลดอิทธิพลลงไปเยอะเมื่อเทียบกับการเข้ามาซื้อขายรายย่อย แต่อิทธิพลยังคงหลงเหลือ ไม่อาจประมาทได้เลย