โลกที่ซ่อนโรค
จู่ๆ ก็มีปรากฏการณ์ 3 อย่างเกิดขึ้นที่รบกวนตลาดหุ้นทั่วโลกประดังกันเข้ามา กระทบรุนแรงต่อทิศทางของกระแสฟันด์โฟลว์ ประกอบด้วย
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
จู่ๆ ก็มีปรากฏการณ์ 3 อย่างเกิดขึ้นที่รบกวนตลาดหุ้นทั่วโลกประดังกันเข้ามา กระทบรุนแรงต่อทิศทางของกระแสฟันด์โฟลว์ ประกอบด้วย
- ปัญหา “แรดสีเทา” และ “หงส์ดำ” ในจีน
- ปัญหาการเบี้ยวหนี้ในตลาดเช่าซื้อรถยนต์ในสหรัฐฯ
- ปัญหาเก่าเรื่อง สหราชอาณาจักรถอนตัวจากยูโรโซน ที่ยังหาทางออกไม่เจอ
เรื่องแรก เกิดขึ้นในวันจันทร์ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ถูกแรงขายกระหน่ำหนักจนร่วงปิดตลาดแรงมากถึง 45.95 จุด ในวันเดียว เพราะกระแสข่าวว่าทางการจีนหลายหน่วยงานสนธิกำลังกันเข้าตรวจค้นและจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมที่เรียกว่า สินเชื่อจำบัง หรือ Shadow banking โดยเฉพาะสินเชื่อบริษัทขนาดเล็ก
การดำเนินการดังกล่าว ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด แต่เพราะว่า เนื้อร้ายของปัญหานี้ยากและซับซ้อนมาก ดังนั้น จึงมีผลสะเทือนค่อนข้างสูงมาก
ปัญหาสินเชื่อจำบัง (มีชื่ออีกอย่างว่า WMPs-wealth management products ที่ทำกำไรสูงกว่าแผนกอื่นของธนาคาร) ที่ธนาคารต่างๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นของรัฐ ได้ใช้ช่องทางพิเศษปล่อยออกไปให้กับลูกค้าที่ส่วนใหญ่ก็เป็นรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานรัฐทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นเป็นเจ้าของ เคยเป็นที่กล่าวขานกันมานาน และเป็นเสมือนมะเร็งร้ายต่อเรื่องความมั่นคงของระบบการเงินจีนมายาวนาน
ความลึกลับและวิธีการแก้ปัญหาสินเชื่อจำบังอย่างลูบหน้าปะจมูกของรัฐจีนตลอดหลายปีมานี้ ทำให้ปัญหาหนี้เน่าในระบบพากันยักแย่ยักยัน แต่ไม่เคยมีการระบุว่า ปัญหาดังกล่าวลุกลามไปถึงสินเชื่อที่ปล่อยให้กับบริษัทขนาดเล็กและสตาร์ทอัพมาก่อน สะท้อนว่าปัญหาลึกซึ้ง และแก้ไขยากกว่าคาดหลายเท่า(ดูกราฟประกอบ)
ปฏิบัติการกวาดล้างธุรกรรมสินเชื่อจำบังที่เริ่มต้นขึ้นมาใหม่ จึงมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างมาก ซึ่งทำให้มีคนเปรียบเทียบว่า ไม่ต่างอะไรกับคำว่า แรดสีเทา (Red Rhino) และหงส์ดำ (Black Swan) ในนิยามทางการเงินของนักวิชาการอเมริกัน
คำว่า แรดสีเทา หมายถึงความเสี่ยงที่ร้ายแรงและมองเห็นได้ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องเพิกเฉยที่จะยอมรับหรือดำเนินการกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น
ส่วนคำว่า หงส์ดำ หมายถึงความเสี่ยงและสถานการณ์ที่คาดเดาอนาคตยากมาก
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นจีนยามนี้ มีทั้ง แรดสีเทา และหงส์ดำ พร้อมกัน ทำให้นักลงทุนหวาดวิตกว่าตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 2/2560 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.9 (YoY) การส่งออกที่ขยายตัว 9.4% (YoY) แต่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรที่เติบโตลงเหลือ 8.6% จากการลงทุนภาครัฐที่ชะลอ และภาคเอกชนที่ฟื้นตัวเปราะบางเป็นแค่มายาภาพเท่านั้น
ส่วนที่สหรัฐฯ ปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับสินเชื่อซับไพรม์ หรือ สินเชื่อชั้นรองของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จากตราสารอนุพันธ์(ที่แปลงกายจากสินเชื่อให้แก่ผู้กู้ยืมซึ่งไม่มีคุณสมบัติครบถ้วนพอจะได้รับอัตราดอกเบี้ยของตลาดที่ดีที่สุด อันเนื่องจากมีข้อด่างพร้อยในประวัติการกู้ยืมและชำระเงิน) ที่เคยทำให้เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี พ.ศ. 2551 กำลังตั้งเค้าส่งสัญญาณให้เห็นจากสินเชื่อแบบเดียวกันในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ หรือ Auto Subprime ซึ่งเริ่มออกมาสู่ท้องตลาดหลังวิกฤตยักษ์รถยนต์ในดีทรอยต์ของสหรัฐฯมีมูลค่าตลาดในปัจจุบันมากถึง 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐกำลังเริ่มออกอาการ “ฝีแตกหนอง” เห็นถึงความน่ากังวล
ตราสารหนี้และอนุพันธ์ที่ออกโดยธนาคาร Banco Santander SA ของสเปน (ธนาคารพาณิชย์อันดับหนึ่งของยุโรป) ที่ร่วมออกแบบกับ Fiat Chrysler Automobiles NV ยักษ์รถยนต์จากอิตาลีที่เป็นเจ้าของยักษ์อันดับสามรถยนต์สหรัฐฯ คือ ไครสเลอร์ เริ่มมีการเบี้ยวชำระกันเกิดขึ้นเป็นคดีความให้เห็นจนเป็นที่กังวลว่าจะเปิดเผยความเปราะบางของธุรกรรมซับไพรม์ในวงการรถยนต์เกิดขึ้น
แม้ซับไพรม์รถยนต์ในคราวนี้ อาจไม่ถึงขั้นทำให้เศรษฐกิจการเงินของสหรัฐฯล่มสลายเหมือนเมื่อ 9 ปีก่อน แต่ก็มีผลถ่วงรั้งขาขึ้นของตลาดหุ้นนิวยอร์กได้ชัดเจน
ส่วนเรื่องปัญหาสหราชอาณาจักรถอนตัวจากยูโรโซนหรือ Brexit ที่ยังหาทางออกไม่เจอ ก็ยังไม่จบง่าย และไม่มีใครรู้ว่าจะมีจุดลงเอยอย่างไร
ทั้ง 3 ปัญหานี้ เพียงพอจะทำให้ตลาดเงินตราและตลาดเก็งกำไรทั่วโลก เกิดความกังวลว่าจะผลักดันให้ตลาดไปสู่สถานการณ์ที่ควบคุมได้ยากอีกครั้ง ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้