เปิดงบฯ Q2 กลุ่มแบงก์หดตัวเกินคาด รับผลกระทบหนี้ตั๋วB/E
เปิดงบฯ Q2/60 หุ้นกลุ่มแบงก์หดตัวเกินคาด เหตุตั้งสำรองฯ เพิ่ม รับผลพวง บจ.เบี้ยวหนี้ตั๋วB/E
ช่วงประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/60 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บจ.) ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว พบว่ากำไรของกลุ่มแบงก์ส่วนใหญ่จะยังไม่สดใส เนื่องจากมีกำไรน้อยกว่าที่มีการคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้ หากรวมกำไรสุทธิของทั้งกลุ่มจะอยู่ที่ 4.57 หมื่นล้านบาท ปรับตัวลง 9.18% จากช่วงไตรมาส 2/59 ซึ่งมีกำไรอยู่ที่ 5.03 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตามช่วง 6 เดือนแรกของปี 60 มีกำไรสุทธิ 1.02 แสนล้านบาท ปรับตัวขึ้น 3.52% จากช่วง 6 เดือนแรกของปี 59 ซึ่งมีกำไรสุทธิจำนวน 9.82 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ผลประกอบการของกลุ่มดังกล่าวส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบจากการการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มมากขึ้น หลังจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นส่วนใหญ่ประสบปัญหาการชำระหนี้ตั๋วบี/อี ส่งผลให้กลุ่มแบงก์ต้องทำการตั้งสำรองฯเพิ่มตามไปด้วยเพื่อลดความเสี่ยง
ทางทีมงาน “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจและรวบรวมข้อมูลผลประกอบการของบจ.ในกลุ่มดังกล่าว ได้ทั้งหมด 11 บจ. โดยเรียงลำดับตามเปอร์เซ็นต์เปลี่ยนแปลงของกำไรจากมาไปน้อย ได้ดังนี้
อันดับที่ 1 ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 2/60 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.60 มีกำไรสุทธิ 356.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 794% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไร 39.89 ล้านบาท
โดยผลประกอบการประจำไตรมาส 2/60 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากธุรกรรมเพื่อค้า และปริวรรตเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาที่ 958.19 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไร 480.90 ล้านบาท ขณะที่ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลงร้อยละ 6.2 ส่งผลให้รายได้รวมจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นมาที่ 3.25 พันล้านบาท จากปีก่อนมีรายได้ 3.17 พันล้านบาท
อันดับที่ 2 บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 2/60 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.60 มีกำไรสุทธิ 1.50 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไร 1.21 พันล้านบาท
โดยผลประกอบการประจำไตรมาส 2/60 มีกำไรเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 2.76 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 69.99 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 1.50 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 121.02 ล้านบาท
ขณะเดียวกันบริษัทตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญและรายการขาดทุนจากการด้อยค่ารวมจำนวน 542.12 ล้านบาท คิดเป็นอัตราร้อยละ 0.99 ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย ลดลงเมื่อเทียบกับ 925.53 ล้านบาทในไตรมาส 2/59
อันดับที่ 3 บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 2/60 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.60 มีกำไรสุทธิ 1.67 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไร 1.46 พันล้านบาท
โดยผลประกอบการประจำไตรมาส 2/60 มีกำไรเพิ่มขึ้น เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิไตรมาส 2/60 เพิ่มขึ้นเป็น 7,234.39 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 7,078.64 ล้านบาท อีกทั้งรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการไตรมาส 1/60 เพิ่มขึ้นเป็น 2,094.16 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1,971.15 ล้านบาท
นอกจากนี้การตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญและรายการขาดทุนจากการด้อยไตรมาส 2/60 ลดลงมาอยู่ที่ 1,368.79 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1,408.31 ล้านบาท
อันดับที่ 4 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 2/60 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.60 มีกำไรสุทธิ 8.05 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.24% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไร 7.17 พันล้านบาท
ทั้งนี้ผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวมีกำไรเพิ่มขึ้นเนื่องจากธนาคารมีรายได้จากดอกเบี้ยสูทธิจำนวน 1.66 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/59 และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.31
สำหรับสินเชื่อด้อยคุณภาพคิดเป็นร้อยละ 3.7 ของเงินให้สินเชื่อรวม ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ
อันดับที่ 5 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 2/60 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.60 มีกำไรสุทธิ 5.87 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไร 5.27 พันล้านบาท
ทั้งนี้ผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวมีกำไรเพิ่มขึ้นเนื่องจากในไตรมาส 2/2560 บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานจำนวน 12,854 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2559 เพิ่มขึ้นจำนวน 851 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.1 โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ
อย่างไรก็ตามบริษัทมีหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญและการขาดทุนจากการปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 5,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 184 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/59