บนเส้นทางเสื่อมถอย

มีคนพูดกันมายาวนานพอสมควรแล้วว่า สักวันหนึ่งสหรัฐอเมริกาจะมีอิทธิครอบงำโลกในอัตราส่วนที่เสื่อมถอยลง แต่ยังไม่มีความชัดเจนที่เป็นทางการ เมื่อเทียบกับข้อสรุปล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

มีคนพูดกันมายาวนานพอสมควรแล้วว่า สักวันหนึ่งสหรัฐอเมริกาจะมีอิทธิครอบงำโลกในอัตราส่วนที่เสื่อมถอยลง แต่ยังไม่มีความชัดเจนที่เป็นทางการ เมื่อเทียบกับข้อสรุปล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF

เอกสารต้นสัปดาห์นี้ ของ IMF ระบุว่า เศรษฐกิจโลกกำลังลดการพึ่งพาเศรษฐกิจของสหรัฐฯลงไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการรักษาความยั่งยืนของการเติบโต

IMF ระบุว่า ปีนี้เศรษฐกิจโลกจะเติบโตในระดับ 3.5% ดีขึ้นกว่าปีก่อนที่มีอัตราเติบโตที่ 3.2% และคาดว่าในปีหน้า จะเติมโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 3.6% ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จากครั้งก่อนหน้าในเดือนเมษายน

ความน่าสนใจของข้อสรุปอยู่ที่รายละเอียดที่บอกว่า อิทธิพลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกนี้ ได้ย้ายจากสหรัฐฯและสหราชอาณาจักรไปลงน้ำหนักมากขึ้นในเศรษฐกิจจีน ญี่ปุ่น ยูโรโซน และแคนาดา

สาเหตุหลักของอิทธิพลที่ลดลงของสหราชอาณาจักรนั้นพอเข้าใจได้ แต่คำอธิบายว่า การที่ค่าดอลลาร์สหรัฐถดถอยลงถึงจุดต่ำสุดในรอบ 14 เดือน คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้คุณูปการของเศรษฐกิจสหรัฐฯมีพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกช้าลง เป็นข้อสรุปที่ควรตั้งคำถามอย่างยิ่ง

IMF ประเมินว่า สิ้นปีนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯจะเติบโตแค่ 2.1% และในปีหน้าก็มีอัตราไม่แตกต่างกัน ถือเป็นการปรับลดอย่างมีนัยสำคัญเพราะเคยคาดการณ์เมื่อเดือนเมายนที่ผ่านมาว่า จะเติบโตในปีนี้ 2.3% และปีหน้า 2.5%

เหตุผลสำคัญที่นำมาอธิบายการปรับลดคือ นโยบายการคลังของสหรัฐฯในการจ่ายเงินเพื่อเร่งการเติบโตจะต่ำกว่าที่เคยคาด เพราะรัฐบาลที่ทำเนียบขาวของนายโดนัลด์ ทรัมป์  มีปัญหาในการขับเคลื่อนนโยบายอัดฉีดและกระตุ้นทางเศรษฐกิจต่ำกว่าที่คาดเอาไว้มาก โดยเฉพาะแผนการลดภาษ๊ และการทุ่มเงินใช้จ่ายเพื่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่ทรัมป์เคยหาเสียงเอาไว้

IMF ยังเชื่อมั่นว่า ปีนี้เศรษฐกิจจีนจะยังสามารถรักษาการเติบโตที่ระดับ 6.7% เอาไว้ได้  โดยในปีหน้าจะมีตัวเลขการเติบโตที่ระดับ 6.4% และ ยังเชื่อมั่นว่าใน 4 ปีข้างหน้า จะยังคงรักษาค่าเฉลี่ยการเติบโตปีละ 6.4% ไว้ได้

ที่น่าสนใจกลับเป็นแคนาดา เพราะดูเหมือนว่าทำได้ดีมากในหลายเดือนมานี้ จน IMF เชื่อมั่นว่าสิ้นปีนี้ จะเติบโตทางเศรษฐกิจที่ระดับ 2.5% ดีขึ้นกว่าระดับเดิมในเดือนเมษายนที่เคยคาดว่าจะอยู่ที่เพียงแค่ 0.6% เท่านั้น

IMF ยังระบุเพิ่มเติมว่า การเติบโตที่ต่ำเพราะอุปสงค์ผู้บริโภคที่ต่ำ และเงินเฟ้อที่ถดถอยของชาติที่เศรษฐกิจก้าวหน้าในสมาชิก G-7 ยังคงต้องการกำกับดูแลต่อไปมากเป็นพิเศษ

เอกสารล่าสุดของ IMF ถือเป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่า บนเส้นทางมุ่งสู่อนาคตของชาติต่างๆ ในโลกนี้ กำลังมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระดับโลกที่ต่อเนื่องชัดเจนว่าชาติที่เคยร่ำรวยอย่าง G-7 เริ่มสูญเสียฐานที่มั่นในการแข่งขันลงรวดเร็วกว่าที่คาด และไม่อาจจะมีบทบาทชี้นำในการขับเคลื่อนความมั่งคั่งของโลกในอนาคตได้เหมือนเดิมอีกต่อไป

ตัวแปรขับเคลื่อนใหม่อย่างชาติในตลาดเกิดใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้นมาอย่างโดดเด่นอาจจะเห็นเพียงแค่จีนในยามนี้ แต่ ชาติที่ตามมาติดๆ อย่าง บราซิล อินเดีย อินโดนีเชีย รัสเซีย เม็กซิโก และตุรกี  (เรียกรวมๆ ว่า E-7) นับวันจะเริ่มมีบทบาทในฐานะตลาดส่งออกและนำเข้าสำคัญของโลกมากขึ้นเรื่อยๆ

ก่อนหน้านี้ นักวิจัยของสำนักบัญชีชื่อดังระดับโลกอย่าง PWC ได้เคยสรุปไว้ชัดเจนว่า ในปัจจุบันนี้ขนาดของเศรษฐกิจชาติที่เรียกว่า E-7 ได้มีขนาดที่เท่าเทียมกันกับชาติอย่าง G-7แล้ว และภายในปี 2050 หรือไม่ถึง 40 ปีข้างหน้า หากไม่มีเหตุแทรกซ้อนอะไรใหญ่หลวง (เช่นสงคราม หรือการล่มสลายทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่) บรรดาชาติ E-7 จะมีขนาดใหญ่ทางเศรษฐกิจแซงหน้าชาติ G-7 ได้ไม่ยาก

เหตุผลสำคัญอยู่ที่ว่า อัตราการเติบโตของชาติ G-7 หลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เมื่อ 9 ปีก่อน ยังคงไม่สามารถที่จะฟื้นตัวกลับมาโดดเด่นเหนือกว่าระดับ 5% ได้อีกเลย และดูเหมือนว่า ปัญหาภายในโครงสร้างของชาติ G-7 จะยิ่งถ่วงรั้งไม่ให้กลับมาฟื้นความมั่งคั่งดังเดิมได้อีกครั้ง

บทสรุปล่าสุดของ IMF มีนัยสำคัญที่บ่งชี้อนาคตได้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น แม้ว่าจะเป็นภาพที่ไม่น่ายินดีนักสำหรับคนที่ต้องการเสถียรภาพ และดุลยภาพของเศรษฐกิจของโลกในระยะยาวก็ตาม

Back to top button