รมว.คมนาคม จี้ AOT สรุปแผนพัฒนาสุวรรณภูมิ เฟส 2-ดอนเมือง-เชียงใหม่

รมว.คมนาคม จี้ AOT สรุปแผนพัฒนาสุวรรณภูมิ เฟส 2-ดอนเมือง-เชียงใหม่


พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า รมว.คมนาคม ได้เร่งรัดให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT หรือ ทอท.เร่งสรุปแผนการพัฒนาเพื่อขยายขีดความสามารถท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 วงเงิน 62,503.214 ล้านบาท ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อปี 2553 เพื่อขยายขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารเป็น 60 ล้านคนต่อปี ซึ่ง ทอท.จะต้องดำเนินการภายใต้กรอบที่ ครม.อนุมัติไว้

พร้อมกันนี้ ทอท.จะต้องอธิบายเหตุผลความจำเป็นในการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ด้านทิศเหนือของท่าอากาศยาน(Multi-Function Terminal) เพื่อรองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 20 ล้านคนต่อปีในอนาคต เพื่อรายงาน ครม.ให้เข้าใจเป็นภาพรวมด้วย

โดยทอท.จะต้องแยกเรื่องที่ติดขัด ปัญหา ความก้าวหน้าให้ชัดเจน เพื่อที่กระทรวงฯ จะได้ช่วยติดตามได้ถูกต้อง ซึ่งขณะนี้มี 3 ส่วนโดยเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนที่สุดคือ การก่อสร้างทางวิ่ง(รันเวย์) สำรองหรือรันเวย์ที่ 3, การพัฒนาตามแผนสุวรรณภูมิเฟส 2 และการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ซึ่งขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของแผนงานที่จะเสร็จก่อนหลัง โดยให้ ทอท.สรุปเรื่องสุวรรณภูมิเฟส 2 และอาคารผู้โดยสารใหม่ให้ มาภายในวันที่ 15 พ.ค.นี้ เพื่อกระทรวงจะได้นำแผนงานไปประสานงานกับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต่อไป

สำหรับสนามบินดอนเมืองนั้นอยู่ระหว่างการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ซึ่งจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ จากนั้นมีแผนจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศเดิมที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งได้ให้ ทอท.พิจารณาปรับปรุงอาคารคลังสินค้า 1-5 เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ามากที่สุด โดยเน้นใช้เป็นศูนย์ซ่อม ซึ่ง ทอท.จะต้องเร่งพิจารณารายละเอียดการใช้ประโยชน์พื้นที่ต่างๆ และระยะเวลาในการปรับปรุงที่ชัดเจนเสนอให้กระทรวงฯ พิจารณา

ส่วนสนามบินเชียงใหม่อยู่ระหว่างการจัดทำแผนการพัฒนาซึ่งจะมีการปรับปรุงเพื่อขยายลานจอดอากาศยานจาก 17 หลุมจอดเป็น 25 หลุมจอด ขยายขีดความสามารถอาคารผู้โดยสารจากรองรับผู้โดยสารได้ 8 ล้านคนต่อปีเป็น 12.5 ล้านคนต่อปี และปรับปรุงพื้นที่จอดรถ เป็นอาคาร 5-7 ชั้น ซึ่ง ทอท.รายงานว่ามีปัญหาเรื่องพื้นที่สนามบินเชียงใหม่ไม่เพียงพอสำหรับการพัฒนา ซึ่งอาจจะต้องมีการขยายพื้นที่เพิ่มจากเดิมหรือหาพื้นที่ใหม่เพื่อทำสนามบินแห่งที่ 2 ซึ่งเห็นว่า ควรใช้พื้นที่เดิมมากกว่า หาพื้นที่ใหม่ โดยให้เน้นออกแบบเพื่อใช้ประโยชน์ในแนวตั้ง โดยก่อสร้างเป็นอาคารจอดรถใต้ดินรองรับได้ประมาณ 100 คัน และมีอาคารจอดรถที่คร่อมเหนือลานจอดเดิมด้วย จึงได้มอบหมายให้ ทอท.นำไปพิจารณาแล้ว

               

Back to top button