ตีวัวกระทบคราด

ในที่สุดกรณีการล่มสลายของฐานะทางการเงินกะทันหันของบริษัท เอนเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ก็บานปลายในลักษณะ “ผลสะเทือนผีเสื้อ” หรือ Butterfly Effect ที่เกินจะควบคุมได้ เมื่อ นาย รพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. ออกมาระบุว่า จะทำการสอบสวนถึงกรณีผู้สอบบัญชีของสำนักงานไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส (PWC) ยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของโลกที่เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทดังกล่าว ตรวจไม่พบความผิดปกติของงบการเงินไตรมาสแรกของบริษัท


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

ในที่สุดกรณีการล่มสลายของฐานะทางการเงินกะทันหันของบริษัท เอนเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ก็บานปลายในลักษณะ “ผลสะเทือนผีเสื้อ” หรือ Butterfly Effect ที่เกินจะควบคุมได้ เมื่อ นาย รพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. ออกมาระบุว่า จะทำการสอบสวนถึงกรณีผู้สอบบัญชีของสำนักงานไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส (PWC) ยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของโลกที่เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทดังกล่าว ตรวจไม่พบความผิดปกติของงบการเงินไตรมาสแรกของบริษัท

เรื่องเช่นนี้ อาจจะเป็นปกติธรรมดา แต่ในวงการบัญชีแล้ว นี่มีความหมายที่รุนแรงอย่างมาก เพราะการที่ ก.ล.ต.ไทย ตั้งคำถามเกี่ยวกับ “คุณภาพ” ของผู้ตรวจสอบบัญชีในสังกัดของยักษ์ใหญ่หมายเลข 1 ของโลก อาจจะทำให้เกิดผลสะเทือนทั่วโลกได้อย่างแพร่ระบาด แบบเดียวที่เคยเกิดขึ้นกับชะตากรรมของบริษัทอย่าง อาร์เธอร์ แอนเดอร์เซน แอลแอลพี ที่เคยมีฐานะเป็น 1 ในกิจการบัญชีระดับ Big 5 ของโลก ที่ต้องล้มครืนอย่างกะทันหันในปี 2545 หลังจากกรณีของ บริษัทน้ำมันรายใหญ่ของโลก เอนรอน (Enron) และบริษัทมือถือ เวิลด์คอม (Worldcom) เมื่อปีเดียวกัน

ความเห็นในหมายเหตุประกอบงบการเงินไตรมาสแรกของ EARTH ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2560 ที่ระบุว่า “ข้าพเจ้าไม่พบสิ่งที่เป็นเหตุให้เชื่อว่า ข้อมูลทางการเงินรวม และข้อมูลทางการเงินเฉพาะกิจการระหว่างกาลดังกล่าว ไม่ได้จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 34 เรื่องงบการเงินระหว่างกาล ในสาระสำคัญจากการสอบทานของข้าพเจ้า” ซึ่งถือว่าเป็นการรับรองความชอบธรรมทางการเงินของงบการเงินดังกล่าว แม้จะมีการระบุเงื่อนไขก่อนว่า “…การสอบทานนี้ มีขอบเขตจำกัดกว่าการตรวจสอบตามมาตรฐานการสอบบัญชี ทำให้ข้าพเจ้าไม่สามารถได้ความเชื่อมั่นว่า จะพบเรื่องที่มีนัยสำคัญทั้งหมด ซึ่งอาจจะพบได้จากการตรวจสอบ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงไม่สามารถแสดงความเห็นต่อข้อมูลทางการเงินระหว่างกาลที่สอบทานได้”

สำหรับธุรกิจที่มีชื่อเสียงว่ามีมาตรฐานระดับโลก ชื่อเสียงที่เสียหายและถูกตั้งคำถามในประเทศใดประเทศหนึ่งจะถูกเชื่อมโยงไปถึงชื่อเสียงในระดับโลก ทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างที่เกินควบคุมได้

ตัวอย่างในอดีตของ อาร์เธอร์ แอนเดอร์เซน แอลแอลพี เป็นบทเรียนที่อาจจะเกิดขึ้นกับ PWC ได้ หากว่า ตรวจพบว่ามีความผิดหรือบกพร่องจริงในประเทศไทย

ในปี 2545 จู่ๆ เอนรอน ซึ่งเป็นกิจการที่ผู้คนกล่าวถึงในฐานะเป็นบรรษัทข้ามชาติที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางธุรกิจสูงติดอันดับ 1 ใน 7 ของโลกโดยการจัดอันดับของนิตยสาร Fortune ปี 2543 ได้ประกาศว่าบริษัทล้มละลาย และใช้สถานะความเป็นนิติบุคคลล้มละลายเป็นข้ออ้างในการลอยแพพนักงานทั้ง 21,000 คน โดยไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องจ่ายเงินชดเชยพนักงานแต่อย่างใด ยกเว้นแต่ผู้บริหารระดับสูงๆ ที่หาทางล้มบนฟูกได้

ก่อนหน้านั้น เอนรอนได้ชื่อว่าเป็นผู้นำและผู้บุกเบิกในการทำธุรกิจการค้ารายแรกๆ ซึ่งทำหน้าที่เป็นคนกลาง ในการซื้อขายไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการบริหารความเสี่ยงรูปแบบต่างๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของสินทรัพย์โรงไฟฟ้าหรือท่อก๊าซธรรมชาติใดๆ เพื่อนำมารองรับการซื้อขาย ซึ่งในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา สามารถสร้างอัตรากำไรสุทธิสูงถึงร้อยละ 70 ของรายได้ทั้งหมด

การประกาศล้มละลายกะทันหัน ทั้งที่เคยมีอัตรากำไรสุทธิและการเติบโตที่รวดเร็ว โดยไม่มีท่าทีจะเกิดปัญหาและแนวโน้มระยะยาวจากการวิเคราะห์งบการเงิน จนสามารถสร้างให้ราคาหุ้นเอนรอนในตลาดหลักทรัพย์ฯยามนั้นโดดเด่นทำนิวไฮครั้งแล้วครั้งเล่า มีเรตติ้งสูงมาก AAA+ ทำให้ผู้คนจำนวนมากได้ “ตาสว่างเมื่อสายเกิน” และรู้จักกับการทุจริตฉ้อฉลผ่านการตกแต่งบัญชี งบการเงินนอกระบบบัญชี และการสร้างภาพสวยหรูให้กับผลประกอบการ นอกจากทำให้นักวิเคราะห์ระดับเซียนทั้งหลายเสียชื่อมหาศาล และราคาหุ้นร่วงจนหมดสภาพ ยังทำความเสียหายให้แก่นักลงทุนทั้งที่ถือตราสารทุนและตราสารหนี้เป็นวงเงินหลายพันล้านดอลลาร์

การล้มละลายของ เอนรอน  และเวิลด์คอม นำมาสู่การตำหนิและตรวจสอบการทำงานของผู้ตรวจสอบบัญชี อาร์เธอร์ แอนเดอร์เซน และบรรดานักวิเคราะห์ในตลาดวอลล์สตรีทที่แนะนำว่าหุ้นของบริษัทนี้ดีแสนดีมาหลายปี

อาร์เธอร์ แอนเดอร์เซน ตกเป็นจำเลยในศาลอาญาของสหรัฐฯ และใช้เวลาพิจารณานาน 6 เดือน ก่อนที่คณะลูกขุนจะตัดสินเป็นเอกฉันท์ ว่าบริษัทมีความผิดฐานขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ปิดกั้นหน่วงเหนี่ยวเจ้าหน้าที่กำกับตรวจสอบหลักทรัพย์ (SEC) กรณีเอนรอน โดยที่หัวหน้าทีมผู้สอบบัญชีของแอนเดอร์เซน ได้สั่งให้ลบข้อความสำคัญมากออกจากบันทึกช่วยจำภายในบริษัท และ แก้ไขถ้อยคำในบันทึกช่วยจำ

คำตัดสินว่ามีความผิดในคดีที่วงการกฎหมายถือเป็นชัยชนะของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯอย่างเป็นชิ้นเป็นอันครั้งแรก นอกจากกลายเป็นโมเดลต้นแบบสำหรับการปฏิรูปวงการวิชาชีพด้านบัญชีต่อมาแล้ว ยังทำให้คณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (SEC) ออกคำแถลงยุติสิทธิที่จะสอบบัญชีบริษัทมหาชนในสหรัฐฯของอาร์เธอร์ แอนเดอร์เซน ปิดฉากความหวังจะอยู่รอดของกิจการเก่าอายุ 89 ปีโดยทันที จากการสูญเสียลูกค้าที่เป็นบริษัทมหาชนทั่วโลกไปถึงที่มีอยู่ทั้งสิ้นกว่า 2,300 ราย ทำให้พนักงานกว่า 700,000 คนทั่วโลกต้องตกงาน ต้องกระเสือกกระสนหนีไปอยู่กับพวกบริษัทคู่แข่ง หรือลดฐานะเป็นผู้สอบบัญชี “โรนิน” ที่ไร้สังกัด

บทเรียนจากกรณีอาร์เธอร์ แอนเดอร์เซนในกรณีเอนรอนและเวิลด์คอม อาจแตกต่างจาก PWC ในกรณีของ EARTH ตรงที่ว่าอาร์เธอร์ แอนเดอร์เซน มีการเบี่ยงเบนวัฒนธรรมองค์กรจากการพยายามเคลื่อนย้ายออกจากธุรกิจตรวจสอบบัญชีของดั้งเดิม มาเป็นธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ทำรายได้เฟื่องฟู ขณะที่โจทย์ของ PWC ในกรณีของ EARTH นั้น ยังเร็วเกินไปที่จะตอบได้

เพียงแต่ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ ก.ล.ต.ไทยล่าสุด มีผลสะเทือนลึกซึ้งมากเกินกว่าจะมองว่าเป็นกรณีโดดเดี่ยวได้

 

Back to top button