ความลับของลูกหนี้
การตัดสินใจของผู้บริหารบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ที่เปิดเผยว่า ฟ้องร้องต่อศาลแพ่งเพื่อดำเนินคดีข้อหาละเมิดต่อ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TBANK เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากธนาคารธนชาตได้นำข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินของบริษัทไปเปิดเผยต่อธนาคารกรุงไทย (KTB) จนเป็นเหตุให้ KTB ยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขออายัดเงินของ EARTH ที่อยู่ในบัญชีเงินฝากของธนาคารธนชาต
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
การตัดสินใจของผู้บริหารบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ที่เปิดเผยว่า ฟ้องร้องต่อศาลแพ่งเพื่อดำเนินคดีข้อหาละเมิดต่อ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TBANK เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากธนาคารธนชาตได้นำข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินของบริษัทไปเปิดเผยต่อธนาคารกรุงไทย (KTB) จนเป็นเหตุให้ KTB ยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขออายัดเงินของ EARTH ที่อยู่ในบัญชีเงินฝากของธนาคารธนชาต
ทั้งนี้ EARTH อ้างว่า เงินฝากดังกล่าวเป็นเงินที่บริษัทเตรียมจะโอนไปยังประเทศจีน เพื่อใช้สำหรับดำเนินธุรกิจซื้อขายถ่านหินให้กับคู่ค้าในจีน และขับเคลื่อนธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารแห่งชาติของจีนแล้วเช่นกัน
ผู้บริหารของ EARTH ระบุว่า การกระทำของธนาคารธนชาตส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจในประเทศจีน ซึ่งเป็นความหวังที่เหลืออยู่ในการที่จะฟื้นกิจการและธุรกิจให้กลับมายืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง ซึ่งทำให้มีสภาพคล่องหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ มีศักยภาพในการทำกำไรและชำระหนี้ในอนาคตได้ แต่ภายหลังจาการอายัดในบัญชีเท่ากับเป็นการตัดเส้นทางทำมาหากินของบริษัท เพราะทำให้ไม่มีเงินมาใช้จ่ายหรือทำธุรกรรมใดได้เลย แม้แต่การจ่ายเงินเดือนพนักงาน นอกจากนี้ ผู้บริหารของบริษัทมีสิทธิจะถูกดำเนินคดีอาญา เนื่องจากได้มีการเซ็นเช็คไปแล้วจ่ายให้กับกรมสรรพากร จ่ายค่าระวางเรือ เป็นต้น เช็คที่จ่ายออกไปเด้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา
ผลลัพธ์คือ การกระทำของธนาคารธนชาติ ที่ถือว่าทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงิน เนื่อจากไม่มีจรรยาบรรณ เพราะไม่ยอมเก็บรักษาความลับของลูกค้า ทำให้ EARTH เดินมาถึงทางตันแล้วจริงๆ ไม่สามารถดำเนินธุรกรรมใดได้เลย
นายขจรพงศ์ คำดี ประธานกรรมการบริหาร EARTH เรียกร้องว่า “หากว่าผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้รายใดอยากจะฟ้องร่วมธนาคารธนชาต บริษัทพร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานงานและดำเนินการให้ ‘นายขจรพงศ์’ ” นายขจรพงศ์ ระบุ
งานนี้ผู้บริหารธนาคารธนชาตก็ออกโรงตอบโต้สั้นๆ ว่าการอายัดดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งศาล ไม่ไดกระทำผิดใดๆ ซึ่งคงจะต้องว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม
ประเด็นคำถามที่เป็นโจทย์ใหย่ของการฟ้องร้องของ EARTH ไม่ได้อยู่ที่ค่าเสียหายที่เรียกร้อง แต่อยู่ที่การสร้างคำถามเรื่องจริยธรรมของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน ในการดูแลความลับของลูกค้า ซึ่งเป็นทั้งจรรยาบรรณและข้อกฎหมายพร้อมกันไป
โดยหลักการแล้ว ประเทศทุนนิยมที่เจริญแล้ว และมีหลักกฎหมายหรือนิติธรรมเรื่องการเงินที่ดี สถาบันการเงินจะถูกข้อกำหนดทางกฎหมายหลายด้านบังคับในพฤติรกรมเอาไว้ชัดเจนเพื่อป้อกงกันการกระทำความผิดว่าด้วยความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงิน (confidence and creditability) โดยรวมเอาไว้
โดยเฉพาะเรื่องของพันธกรณีของสถาบันการเงินว่าด้วยความลับของลูกค้า (Obligation of secrecy) ที่เป็นหัวใจของธุรกรรมทางการเงิน
หากไม่นับบางประเทศที่ระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศแล้ว ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องเช่น กฎหมายอาญา กฎหมายธนาคารและสถาบันการเงิน กฎหมายว่าด้วยการรักษาความลับของลูกค้าในบริการทางการเงิน (Law on Customer, Trade and Banking Secrets)
กฎหมายต่างๆ เหล่านี้จะมีกฎกติกาที่รัดกุมเพื่อป้องกันพนักงานของธนาคารหรือสถาบันการเงิน เอาความลับลูกค้าไปเผยแพร่บุคคลภายนอกที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลดังกล่าว พร้อมกับเงื่อนไขที่ให้สถาบันการเงินเหล่านี้ สามารถเปิดเผยข้อมูลกับหน่วยงานบางแห่งเพื่อป้องกันการกระทำผิดกฎหมายของลูกค้าที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่จะต้องกระทำภายใต้ขีดจำกัดที่ชัดเจนเท่านั้น
แม้ว่าตอนนี้จะเร็วเกินไปที่จะระบุว่าธนาคารธนชาตกระทำความผิดมากน้อยเพียงใด ห รือเพราะผู้บริหารของ EARTH จะแค่ “แก้เกี้ยว” แต่โจทย์ว่าด้วยจริยธรรมของสถาบันการเงินที่เกี่ยวกับความลับของลูกค้าหรือลูกหนี้ ที่ตั้งขึ้นมาถือว่าเป็นการ “กระตุกต่อมสำนึก” ของคนที่เกี่ยวข้องกับแวดวงการเงินและตลาดทุนดีกว่า ถึงเวลาที่จะต้องทบทวนพฤติกรรมกันได้ใหม่หรือยัง
บางทีข้ออ้างแบบขุ่นๆ ว่า ผู้บริหารสถาบันการเงินมีความรู้ชัดเจนที่จะไม่กระทำผิด อาจใช้การไม่ได้ หรือไม่เคยเป็นจริงก็ได้ ใครจะรู้