สัญญาณของความฉ้อฉล

การพูดถึงกระบวนฉ้อฉล หรือคอร์รัปชั่น อย่างเลื่อนลอย ที่เป็นข้ออ้างว่าเกิดจากนักการเมืองจากการเลือกตั้งที่แสวงหาค่าเช่าส่วนเกินจากการผูกขาดตัดตอนหรือผลประโยชน์ทับซ้อน กลายเป็นข้ออ้างพร่ำเพรื่อที่คุ้นหู แต่ข้อเท็จจริงล่าสุดจากงานสำรวจล่าสุดของ มหาวิยาลัยหอการค้าไทย บอกได้ชัดเจนยิ่งว่ามายาคติดังกล่าว เป็นไปไม่ได้เลย


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

การพูดถึงกระบวนฉ้อฉล หรือคอร์รัปชั่น อย่างเลื่อนลอย ที่เป็นข้ออ้างว่าเกิดจากนักการเมืองจากการเลือกตั้งที่แสวงหาค่าเช่าส่วนเกินจากการผูกขาดตัดตอนหรือผลประโยชน์ทับซ้อน กลายเป็นข้ออ้างพร่ำเพรื่อที่คุ้นหู แต่ข้อเท็จจริงล่าสุดจากงานสำรวจล่าสุดของ มหาวิยาลัยหอการค้าไทย บอกได้ชัดเจนยิ่งว่ามายาคติดังกล่าว เป็นไปไม่ได้เลย

นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย (Thai CSI) ที่สำรวจจากกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มคือ ประชาชน ข้าราชการ และนักธุรกิจ ในเดือนมิถุนายน 2560 อยู่ที่ 53 คะแนน จากเต็ม 100 คะแนน ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนเมื่อเดือนธันวาคม 2559 ที่อยู่ที่ 55 คะแนน

ส่วนดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยปัจจุบันอยู่ที่ 52 คะแนน เท่ากับการสำรวจครั้งก่อนและดัชนีแนวโน้มสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยอยู่ที่ 54 คะแนน ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อน ซึ่งอยู่ที่ 57 คะแนน

ทั้งนี้ เมื่อแยกดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่น ออกเป็น 4 หมวด จะพบว่าดัชนีปัญหาและความรุนแรงของการคอร์รัปชั่นเดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ 44 คะแนน ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนที่อยู่ที่ 49 คะแนน, ดัชนีการป้องกันการคอร์รัปชั่นอยู่ที่ 53 คะแนน ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อน 55 คะแนน, ดัชนีการปราบปรามการคอร์รัปชั่นอยู่ที่ 54 คะแนน ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนที่อยู่ที่ 57 คะแนน และดัชนีการสร้างจริยธรรมและจิตสำนึกอยู่ที่ 60 เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนที่อยู่ที่ 58 คะแนน

ตัวเลขที่เกิดขึ้นดูดีทีเดียวว่าสังคมปัจจุบันมีความโปร่งใสมากขึ้น แต่สัญญาณประหลาดกลับเกิดขึ้น เพราะนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ระบุเพิ่มเติมว่า ยังมีความกังวลต่อสถานการณ์คอร์รัปชั่นในอนาคต เนื่องจากนับจากนี้จะมีโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ทั้งโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านไปยังจังหวัดต่างๆ หรือ โครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่จะมีการประมูลและการจัดซื้อจัดจ้างมากขึ้น แม้ช่วง 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นมาโดยตลอด แต่เริ่มมีบางกลุ่มในภาครัฐและภาคเอกชน อาจเห็นช่องทางในการคอร์รัปชั่นได้

ปัญหาเงินลงทุนใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น และมีกลุ่มหน่วยงานของรัฐบางส่วนและเอกชนบางส่วน อาศัยช่องว่างอาจเริ่มมีแนวโน้มของการคอร์รัปชั่น สัดส่วนของเงินใต้โต๊ะจะเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เริ่มเห็นมากขึ้น โดยเริ่มเห็นสัญญาณเปอร์เซ็นต์การจ่ายเงินพิเศษ เฉลี่ยที่ 16-35% เริ่มกลับมา ซึ่งในช่วงรอบปีที่ผ่านมาไม่สูงขนาดนี้

“ความกังวล คือ การลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของรัฐบาล อาจมีกลุ่มคนเริ่มเห็นช่องและเริ่มเรียกเงินมากขึ้น” นายธนวรรธน์ กล่าว

ทั้งนี้จากผลการสำรวจพบว่า ความทานทนต่อการทุจริตคอร์รัปชั่นในเดือนมิถุนายน 60 ถือว่าต่ำกว่าในรอบ 7 ปีของการสำรวจ อยู่ที่ร้อยละ 2.23 แสดงให้เห็นว่า คนรับไม่ได้ต่อการที่จะมีคอร์รัปชั่น และเห็นถึงความสำคัญต่อปัญหาคอร์รัปชั่นและต้องร่วมกันรณรงค์ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น

สัญญาณดังกล่าว เป็นสิ่งที่พึงจับตา เพราะหากพิจารณาข้อเท็จจริงเรื่องคอร์รัปชั่น จะพบว่าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นมากนัก

ตัวเลขย้อนหลัง มีการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น ประจำปี 2557 โดยองค์กรโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) ซึ่งมีเครือข่ายใน 120 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยได้คะแนน 38 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน รั้งอันดับที่ 85 จากทั้งหมด 175 ประเทศทั่วโลก ถึงจะเป็นอันดับที่ดีขึ้นจากปี 2556 ที่ได้ 35 คะแนน และตกไปอยู่ในอันดับที่ 102 จากทั้งหมด 177 ประเทศทั่วโลก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ประเทศไทยมีการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ลดน้อยลง

ส่วนปีต่อมา มีการเปิดเผยดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น ประจำปี 2558 (Corruption Perceptions Index 2015) ผลคะแนนภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นโลกประจำปี 2558 ประเทศไทยได้ที่ 76 จาก 168 ประเทศ และเป็นอันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย

ครั้งนั้นมีข้อเสนอมากมาย ที่สรุปสั้นๆ ว่า ได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สำหรับนำไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น ดังนี้ 1) ภาครัฐต้องมีมาตรการที่มุ่งกําจัดจุดอ่อนของระบบ โดยการเสริมสร้างความเข้มแข็งและคุณธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ 2) ต้องมีกฎหมายที่เอื้ออํานวยทั้งภายในและระหว่างประเทศ 3) ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาสังคม ให้เป็นกําลังสำคัญในการช่วยตรวจสอบ 4) ภาครัฐต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง

ข้อเสนอดังกล่าว แม้จะอ้างว่ามีการดำเนินงานภายใต้รัฐบาลจากการรัฐประหารโดยกองทัพ แต่ข้อเท็จจริง (ดูตารางประกอบ) ระบุว่า ยังมีการย้อนกลับมาใหญ่โตเสมือนในปี 2557 แทบจะไม่แตกต่างกันเลย

สัญญาณจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และข้อเท็จจริงจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นระหว่างประเทศ คือคำเตือนของ เจมินี่ คริกเก็ต ที่น่าติดตาม ว่ารัฐบาลจากการรัฐประหารจะพาสังคมปลอดพ้นหรือถลำลึกสู่วังวนของการฉ้อฉลครั้งใหม่ในอนาคต

Back to top button