จะเอาวิน-วินหรือล็อส-ล็อส
กรณีบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) มีแง่มุมชวนคิดน่าสนใจหลายแง่มุม ที่ไม่เพียงแต่มุมมองมุ่งเฉพาะแค่ว่าใครถูกใครผิด หรือลูกหนี้เอิร์ธมีรายการ “ล้มบนฟูก” หรือไม่เท่านั้น
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
กรณีบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) มีแง่มุมชวนคิดน่าสนใจหลายแง่มุม ที่ไม่เพียงแต่มุมมองมุ่งเฉพาะแค่ว่าใครถูกใครผิด หรือลูกหนี้เอิร์ธมีรายการ “ล้มบนฟูก” หรือไม่เท่านั้น
แต่น่าจะมองในแง่มุมว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรให้มันเกิด “วิน–วิน” กันทุกฝ่าย ไม่ว่าลูกหนี้ เจ้าหนี้ ตลอดจนผู้ถือหุ้นที่มีมากเกือบ 7 พันรายมากกว่า
และถ้าหากแก้ไม่ถูกจุด ก็อาจจะเกิดผลลัพธ์ตรงข้ามคือ “ล็อส–ล็อส” ย่อยยับกันไปทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ ผู้ถือหุ้นรายย่อย ตลอดจนเครดิตความน่าเชื่อถือของตลท.และก.ล.ต.ในฐานะส่วนหนึ่งของผู้มีส่วนได้เสียในการแก้ปัญหา
บริษัทค้าขายถ่านหินแห่งนี้ กำเนิดขึ้นมาจากการเข้าตลาดทางประตูหลังหรือที่เรียกว่า “แบ๊คดอร์ ลิสติ้ง” โดยไปซื้อซากบริษัท แอ๊ดว้านซ์เพ้นท์ แอนด์ เคมิเคิล หรือ APC ซึ่งจดทะเบียนอยู่เก่าแล้วในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ข้อดีของการเข้าตลาดทางประตูหลัง คือเร็ว และยังประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นเก่า ที่ติดคาหุ้นราคาซากและถูกพักการซื้อขายอยู่ แต่ข้อเสียก็คือการเข้าประตูหลังแบบนี้ บริษัทเอิร์ธฯไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการระดมทุนเลย
มีแต่เสียเงินซึ่งอาจจะต้องไปชดใช้หนี้เก่าของบริษัทเดิมรวมทั้งภาระผูกพันอื่นๆ ฉะนั้นบริษัทที่เข้าตลาดมาแบบนี้ จึงต้องอาศัยเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินค่อนข้างมาก
ธุรกิจของเอิร์ธ เป็นธุรกิจซื้อมาขายไป และมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวคือ ต้องวางเงินซื้อสินค้าล่วงหน้า เพื่อล็อคราคาวัตถุดิบ แต่ตอนเอาไปขาย ดันรับเงินเป็นเครดิต ซึ่งลูกค้าบางรายให้เครดิตกันถึง 180 วัน
มันยิ่งกว่า ซื้อเงินสดราคาสป็อตไปขายให้เครดิตนะครับ แต่นี่ซื้อเงินสดราคาล่วงหน้าไปขายเครดิต
“การหมุนเงิน” จึงเป็นหัวใจใหญ่ของเอิร์ธ ซึ่งต้องมีเงินต่อเงินไปตลอด หากวงจรขาดเมื่อไหร่ก็สิ้นชีวาเมื่อนั้น
เอิร์ธเข้าประตูหลังมา 5 ปี แต่ก็เติบโตแบบบ้าระห่ำมาก อัตราเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักมาตลอด จากปีละ 2 ล้านตันเป็น 4 ล้านตัน, 6 ล้านตัน, 8 ล้านตันและ 12 ล้านตันในปี 2559 ที่ผ่านมา
ผลประกอบการก็บันทึกกำไรมาทุกปีตั้งแต่ปี 56-59 มีผลกำไร 1.1, 1.0, 1.0 และ 0.8 พันล้านบาทมาเป็นลำดับ
บันทึกทางบัญชีสุดท้ายที่ได้รับการรับรองจากสำนักตรวจบัญชี 1 ใน 4 ของบิ๊กโฟร์สิ้นสุดไตรมาส 1 ปี 60 ที่ผ่านมาก็ยังมีสินทรัพย์ 3.5 หมื่นล้านบาท และหนี้สินน้อยกว่าเพียงแค่ 2.5 หมื่นล้านบาท ส่วนผู้ถือหุ้นยังเหลือถึง 1 หมื่นล้านบาท
ตรงนี้สิที่สาธารณชนคลางแคลงใจว่า เอิร์ธล้มได้ยังไง! และล้มในขณะที่การค้าขายกับลูกค้ารายใหญ่ในจีนกำลังดำเนินไปด้วยดีเสียด้วย
แต่ก็อย่างที่บอกแหละครับ เอิร์ธวิ่งอยู่บนเส้นด้าย ที่เงินไปจมกับการสั่งซื้อถ่านหินล่วงหน้าอยู่ถึง 5-6 พันล้านบาท ดอกผลจะกลับคืนก็ต่อเมื่อส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าและรอเก็บเงิน
มันก็ไม่ทันกัน!
ยิ่งมีรายละเอียดว่า พอเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารธนาคารกรุงไทยจากวรภัค ธันยาวงษ์มาเป็นผยง ศรีวณิช นโยบายก็เปลี่ยน จากปล่อยเต็มที่มาเป็นทบทวนสินเชื่อ และก็สั่งระงับฉับพลันในที่สุด
ทางเอิร์ธก็หวังจะได้ออกหุ้นกู้ 5 พันล้านบาทมาล้างหนี้เก่าและเหลือส่วนหนึ่งไปเป็นเงินสดหมุนเวียนทำงาน แต่แบงก์โดยผยงก็ไม่อนุมัติ จึงเกิดผิดนัดตั๋วบี/อีก้อนแรก 40 ล้านบาท และก็ผิดนัดก้อนต่อๆ มาเป็นโดมิโน
“ฟางเส้นสุดท้าย” เห็นจะเป็นเงินฝาก 800 ล้านบาทของเอิร์ธที่ธนาคารธนชาตที่จะส่งไปให้บริษัทลูกไปทำการค้าต่อไส้ในเมืองจีน โดยทางธนชาตส่งข่าวไปให้กรุงไทย และกรุงไทยก็ไปขออำนาจศาลมาอายัดเงินก้อนนี้
เงื่อนงำก็คือ แบงก์ธนชาตมีสิทธิเปิดเผยความลับลูกค้าไปสู่ภายนอกได้หรือเปล่า ซึ่งมาตรา 154 พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินพ.ศ.2551 นั้นทำไม่ได้เลย เว้นแต่ข้อยกเว้น 10 ข้อ ซึ่งก็ยังกำกวม
แต่ก็มีความในวรรค 8 และ 9 ที่กำหนดว่า การเปิดเผยความลับสู่ภายนอกจะกระทำได้ด้วย “ความยินยอม” ของลูกค้าเท่านั้น และอนุญาตให้เปิดเผยความลับแค่ในขอบเขตบริษัทเครือข่ายที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจเดียวกันเท่านั้น
ธนาคารธนชาตเป็นเครือข่ายของธนาคารกรุงไทยตั้งแต่เมื่อไหร่กันหรือ?
ผมว่าค่อยๆ คิดกันให้ดีนะครับ คิดบวกให้มันวิน-วินด้วยกันทุกฝ่าย ดีกว่าจะคิดตามกระแสกดดันให้มันยับเยินกันทุกฝ่าย
ธุรกิจของเอิร์ธยังไม่ตายนะครับ และผู้บริหารก็ไม่ได้หลบลี้ภัยไปต่างประเทศ แบงก์เจ้าหนี้ใหญ่หมื่นล้านอย่างกรุงไทยน่ะ พอจะคิดทบทวนปรับลดวงเงินสินเชื่อลงได้ไหม และทำธุรกิจกับลูกค้ากันต่อไปแทนจะตัดสายออกซิเจนเฉียบพลัน
เพราะก็ยังมีเงินล่วงหน้าของเอิร์ธที่ไปจมอยู่ในเหมืองอินโดฯอยู่ 5-6 พันล้านบาท เมื่อไหร่ส่งมอบลูกค้าเมืองจีนได้ ก็จะได้เงินกลับมาคืนเจ้าหนี้
ส่วนตลาดหลักทรัพย์ฯดูจะเล่นตามเกมคือสั่งพักซื้อขายและเรียกให้ชี้แจงข้อมูลกันไป แต่ทางฝั่งก.ล.ต.นี่สิ เรื่องที่เรียกให้ชี้แจงเรื่องหนี้ที่งอกมาจากฝั่งเมืองจีนอีก 2.6 หมื่นล้านบาทก็ชอบแล้ว
แต่เรื่องให้หา “สเปเชียล ออดิต” จากบิ๊กโฟร์ภายใน 1 เดือนนี่สิ ยากมากๆ! เพราะเอิร์ธก็ส่งเทียบเชิญไปแล้วอีก 3 ใน 4 ที่เหลือคือ ดีล็อยท์, อีวาย และ KPMG แต่ไม่มีใครตอบรับ ในขณะที่ก็ยังใช้บริการ PwC ที่ท่านเลขาฯรพีก.ล.ต.เคยยกย่องเชิดชูอยู่
ทำอย่างไรอย่าให้เรื่องนี้เป็นอุปสรรค หาก 3 ใน 4 โฟร์ที่เหลือไม่รับเผือกร้อน จะใช้บริการเจ้าเก่า PwC โดยเปลี่ยนคนได้ไหม เพราะการปฏิเสธให้ไปไช้บิ๊กโฟร์รายอื่นก็ไม่ได้ระบุนี่ว่าเจ้าเก่าบกพร่องอย่างไร
ส่วนเรื่องธนาคารธนชาตกระทำตนเป็นพลเมืองดีให้อายัดเงินต่อไส้ส้ก้อนสุดท้ายของเอิร์ธ จะผิดกฎหมายหรือผิดจริยธรรมหรือไม่เพียงใด คงต้องไปว่ากันเอาเองที่แบงก์ชาติแล้วนะ