พาราสาวะถี

ไม่อยากให้ทำประชามติก็บอกไปเสียตรงๆ ไม่ต้องมาเล่นบทอมพะนำหรือโยนหินถามทางในแบบฉบับตีหน้าเศร้าเล่าความเท็จ เหมือนอย่างที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยกเมฆสารพัดอ้างไม่อยากทำให้คณะรัฐมนตรีและคสช.ลำบากใจ จึงเสนอให้ทำประชามติหลังจากที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ไปแล้วภายใน 90 วันและอาจทำกันแค่บางมาตรา บางประเด็น


ไม่อยากให้ทำประชามติก็บอกไปเสียตรงๆ ไม่ต้องมาเล่นบทอมพะนำหรือโยนหินถามทางในแบบฉบับตีหน้าเศร้าเล่าความเท็จ เหมือนอย่างที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยกเมฆสารพัดอ้างไม่อยากทำให้คณะรัฐมนตรีและคสช.ลำบากใจ จึงเสนอให้ทำประชามติหลังจากที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ไปแล้วภายใน 90 วันและอาจทำกันแค่บางมาตรา บางประเด็น

เช่นนี้ก็ทำให้เห็นแล้วว่า มีเจตนาอย่างไรเพราะกรรมมันชี้ออกมาชัดๆ ในเมื่อเสนอว่าควรทำประชามติเป็นบางมาตรา ก็แสดงรู้อยู่แก่ใจว่ามันมีปมที่จะสร้างปัญหาตรงไหนบ้าง ทำไมถึงไม่เลือกที่จะแก้ไขเสียให้เรียบร้อยในชั้นของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ยิ่งอ้างเหตุอ้างผลสารพัด มันยิ่งจะกลายเป็นภาพมัดว่า การที่ต้องดันทุรังกันอย่างนี้ เพราะมีพิมพ์เขียวกันไว้หมดแล้ว

ในมิติของฝ่ายการเมืองนั้นไม่ต้องพูดถึงว่าอยากให้ออกมาแบบไหน ไม่ว่าจะประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทยล้วนเห็นตรงกันคือต้องทำประชามติ เพียงแต่ท่วงทำนองที่แสดงออกสู่สาธารณะนั้นจะมีลีลาที่ต่างกันก็เท่านั้นเอง ส่วนพรรคการเมืองขนาดกลางและเล็กคงหวังพึ่งพาอะไรได้ยาก เนื่องจากไม่ว่าผลแห่งรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร ก็น่าที่จะเอื้อประโยชน์ให้ได้ไม่มากก็น้อย

ความเห็นของ วิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคเก่าแก่ น่าสนใจ ยืนยันประชามติเป็นเรื่องที่รัฐบาลและคสช.ต้องทำ ซึ่งประเด็นที่คิดว่าเป็นตัวถ่วง เช่น มาตรา 181 และ 182 การให้สิทธิ์กลุ่มการเมืองลงเลือกตั้ง รวมทั้งการเขียนรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจส.ว.จนล้นเกินกรอบ สมควรจะต้องมีการปรับ ซึ่งเชื่อว่า ทั้งหมดนี้รัฐบาลและคสช.ต่างรู้ว่าเป็นปัญหาสุ่มเสี่ยง

ไม่เพียงเท่านั้น ประสาคนพรรคนี้ที่มักจะมีวาทกรรมเด็ดอยู่เสมอ จึงมองว่า คณะกรรมาธิการยกร่างฯ มีความโลภเกินไป จึงใส่เนื้อหาจนรัฐสภาไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่างกันอยู่ดูเหมือนว่าจะมีความก้าวหน้ากว่าทุกฉบับที่ผ่านมา แต่ความโลภเกินพอดีของผู้ยกร่าง จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญ ดังนั้น ต้องเอาสิ่งที่เกิดจากความโลภออกไป บ้านเมืองจะเดินหน้าต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญสำหรับการเขียนกฎหมายสูงสุดของประเทศนั้น คงหนีไม่พ้นการฟังเสียงของประชาชน หากในชั้นของการยกร่างฯ ไม่ได้เปิดโอกาสให้อย่างเต็มที่ ก็ต้องใช้ประชามติเป็นเครื่องพิสูจน์ ไม่ใช่แสดงอาการเกี่ยงงอนอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งจะว่าไปแล้วความจริงไม่ใช่มีเฉพาะนักการเมืองเท่านั้นที่คัดค้านในหลายเรื่องหลังจากเห็นร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก

ก่อนหน้านั้น ทั้งแวดวงศาล ตำรวจ และนักวิชาการ ต่างก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงเป็นเครื่องหมายคำถามตัวโตจาก ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทยว่า แล้วประเทศจะไปต่อได้อย่างไร อีกประการที่คนของสองพรรคใหญ่เห็นตรงกันคือให้คสช.พิจารณายกเลิกคำสั่งที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม

ทั้งๆ ที่ในช่วงของการปฏิรูปและยกร่างรัฐธรรมนูญ ควรที่จะเปิดโอกาสให้ทุกพรรคการเมืองได้เริ่มประชุมพูดคุย มีส่วนร่วมในการนำเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงแนวทางการปฏิรูปอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ที่ท่านผู้มีอำนาจบอกว่าแม้จะมีกฎหมายห้ามแต่นักการเมืองก็มีการนัดพบปะกันอยู่แล้ว

ไม่รู้ว่าคนที่พูดนั้นสีข้างถลอกปอกเปิกไปแล้วหรือยัง รวมทั้ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยที่จะต้องเข้าใจคำว่า มติของพรรคอย่างเป็นทางการกับความเห็นส่วนตัวของสมาชิกพรรค หากต้องการได้ยินได้ฟังทุกภาคส่วนก็ต้องผ่อนปรน เว้นเสียแต่ว่าจะยืนยันประเทศไทยจากนี้ไปอีกสิบยี่สิบปี ห้ามนักการเมืองเข้ามาข้องแวะกับงานทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติก็ประกาศกันเสียให้ชัด

ทว่าก็เสียงท้วงติงมาจาก สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่แสดงตัวว่ายืนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยอย่างเพื่อไทยได้แสดงบทบาทต่อต้านการรัฐประหารให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ใช่อาศัยจังหวะเคลื่อนของกลุ่มคนเสื้อแดงแต่ฝ่ายเดียว ในฐานะพรรคการเมืองต้องมีจุดยืนให้ชัดไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ

มากไปกว่านั้น แม้ว่าจะมองกันว่าหากมีการเลือกตั้งตามโรดแม็พแล้ว รัฐบาลหลังเลือกตั้งอาจไม่แข็งแรง แต่การมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ก็ยังทำให้สถานการณ์คืบหน้าไปกว่าการปกครองโดยเผด็จการทหารเต็มรูปที่ดำรงอยู่ในขณะนี้ เพียงแต่ว่า พรรคเพื่อไทยจะต้องสรุปบทเรียนและต่อสู้มากกว่าที่เป็นอยู่

แต่ดูท่าจะเป็นเรื่องยากในการหวังให้คนของพรรคคิดใหม่ทำใหม่แสดงปฏิกิริยาอย่างว่า เพราะทุกย่างก้าวจะต้องรอรับสัญญาณจากคนแดนไกล เมื่อใช้สถานการณ์วิเคราะห์แล้ว ทางที่ดีที่สุดสำหรับนายใหญ่คือ ให้นิ่งไว้ก่อน ไม่จำเป็นต้องเร่งเครื่องเต็มสูบ โดยเชื่อว่าสุดท้ายแล้ว มีโอกาสที่ทุกอย่างจะพลิกผัน อันเป็นผลมาจากการขัดขากันเองของผู้มีอำนาจและอำนาจนอกระบบ

ยุ่งเป็นยุงตีกันจริงๆ สำหรับปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายที่ถูกอียูให้ใบเหลืองและการค้ามนุษย์ที่ถูกสหรัฐลดอันดับไปอยู่ในระดับเทียร์ 3 ตั้งแต่ปีก่อน ขณะที่ทุกฝ่ายกำลังเร่งรัดสางปัญหาหูตูบ ข่าวการพบหลุมศพ 32 หลุม และศพ 26 ศพ ในบริเวณที่เป็นค่ายพักเถื่อนที่ควบคุมชาวโรฮิงญา บริเวณเขาแก้ว บ้านตะโล๊ะ ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ไม่น่าจะเป็นผลดีสำหรับรัฐบาล

แม้จะเป็นความสำเร็จที่เจ้าหน้าที่ขยายผลในการจับกุมขบวนการที่นำพาชาวโรฮิงญาเข้ามาในประเทศ แต่อีกด้านก็เป็นการประจานการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในแง่ของผลประโยชน์ เพราะการลงมือทำในลักษณะขบวนการเช่นนี้ คงจะดำเนินการโดยคนธรรมดาไม่ได้แน่นอน ขณะที่ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีชาวโรฮิงญาถูกฆ่าและฝังอีกเป็นจำนวนมากพื้นที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา

ทั้งหมดเหล่านี้คือปัญหาใหญ่ เพราะหากข้อมูลไปถึงต่างชาติโดยเฉพาะบรรดาประเทศยักษ์ใหญ่ แม้ฝ่ายรัฐของไทยจะแสดงความตั้งใจต่อการแก้ไขปัญหา แต่อีกฝ่ายมองว่ายังไม่ดีพอ โอกาสที่จะถูกแบนจากปมการค้ามนุษย์ย่อมมีสูงอยู่เหมือนเดิม นั่นทำให้ไม่อยากนึกต่อไปถึงผลกระทบต่อภาพใหญ่ในเรื่องเศรษฐกิจของประเทศว่าจะมีสภาพเช่นไร

Back to top button