พาราสาวะถี
เห็นรายชื่อกับแล้วสำหรับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 คณะ 120 คน ตามพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ซึ่งที่ประชุมครม.เห็นชอบไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นคนหน้าเดิม ไม่ได้นอกเหนือความคาดหมาย ขาประจำที่ได้ตำแหน่งจากการแต่งตั้งมาเมื่อคราวคมช. ก็ยังคงเหนียวแน่นกันต่อในยุคคสช. ไม่ว่าจะแปรสภาพมาในรูปแบบใดก็ตาม
อรชุน
เห็นรายชื่อกับแล้วสำหรับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 คณะ 120 คน ตามพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ซึ่งที่ประชุมครม.เห็นชอบไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นคนหน้าเดิม ไม่ได้นอกเหนือความคาดหมาย ขาประจำที่ได้ตำแหน่งจากการแต่งตั้งมาเมื่อคราวคมช. ก็ยังคงเหนียวแน่นกันต่อในยุคคสช. ไม่ว่าจะแปรสภาพมาในรูปแบบใดก็ตาม
คำถามที่สำคัญกระบวนการปฏิรูปที่เกิดขึ้น จะเป็นการนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงพาประเทศเดินไปข้างหน้า หรือว่าพายเรืออยู่ในอ่างบางอย่างจะพากันย้อนยุคถอยหลังไปหลายสิบปี ห้วงเวลานับแต่นี้ที่จะต้องมีคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ควบคู่กันไปด้วย จะเป็นบทพิสูจน์ ที่วาดหวังกันไว้ 20 ปีข้างหน้าบ้านเมืองจะสู่ความศิวิไลซ์นั้นเป็นจริงหรือแค่คำคุยโวโอ้อวด
แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงจุดนั้น สิ่งหนึ่งซึ่งคนจำนวนไม่น้อยต้องการให้เกิดการปฏิรูปเช่นกันนั่นก็คือกองทัพ นับตั้งแต่พลโทเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ ล่าสุดมีทั้งพลตรีที่ถูกดำเนินคดีอุ้มรีดเงินนักธุรกิจชาวต่างชาติ มีทั้งร้อยเอกและสิบเอกตกเป็นผู้ต้องหาอุ้มฆ่าอย่างโหดเหี้ยมสองสาวสองพื้นที่ นี่น่าจะเป็นภาพสะท้อนอะไรบางอย่าง
เพราะการปฏิรูปตำรวจก็น่าจะมีจุดเริ่มต้นที่ไม่ต่างกัน เกิดจากปลาเน่าบางตัวที่ทำให้องค์กรทุ่งปทุมวันเหม็นไปทั้งบาง กรณีของทหารก็ไม่ควรมีข้อยกเว้น เหตุผลที่ทำให้คนเหล่านั้นเดินบนเส้นทางสายโจรถามว่าเป็นเพียงสันดานดิบส่วนบุคคลหรือมีปัจจัยเรื่องของอำนาจ บารมีที่ตัวเองสังกัดเป็นตัวผลักดันให้ฮึกเหิม ลืมความดีงาม ลืมศีลธรรมไปเสียสิ้น
ประเด็นนี้ท่านผู้นำไม่ควรมองข้าม ไม่ใช่เอาแต่อ้างว่ากองทัพผ่านกระบวนการปฏิรูปมาโดยตลอด ย้ำมาหลายหน หากผ่านกระบวนการดังว่า ปัญหาการเมืองของประเทศคงไม่จบด้วยการรัฐประหารและทิ้งระยะห่างกันเพียงแค่ 8 ปีมีการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถึง 2 หน และหากผ่านการปฏิรูปจริง จะต้องไม่มีคนมีสีไปเที่ยวกร่าง แสดงอำนาจบาตรใหญ่ในหลายๆแห่งและหลายหน
อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ไม่มีใครกล้าแตะกองทัพ ทั้งๆที่เมื่อพูดถึงการปฏิรูปแล้วทุกองคาพยพจะต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน เรื่องนี้คงต้องไปสะกิดถาม อลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสปท. เพราะในวันที่มีหัวโขน ถูกนักข่าวกระตุกกระตุ้นถามหลายครั้งหลายหน เจ้าตัวจะบ่ายเบี่ยงมาโดยตลอด สุดท้ายแล้วหากมุ่งแต่จะปฏิรูปสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นปัญหา แต่ละเลยต้นตอแห่งปัญหาของการบอนไซ ทำลายกระบวนการประชาธิปไตย การปฏิรูปที่เกิดขึ้นก็เปล่าประโยชน์
ประชุมกันถี่ยิบสำหรับฝ่ายความมั่นคง เป้าหมายคือการประเมินสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 25 สิงหาคม ทั้งที่ความเป็นจริงมันก็เป็นแค่วันหนึ่งที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีจะได้ฟังคำพิพากษาในคดีปล่อยปละละเลยจนเกิดความเสียหายในโครงการจำนำข้าว ผลออกมาอย่างไรทุกอย่างก็เป็นไปตามกระบวนการที่มีอยู่
ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นอะไร คนที่จะมาให้กำลังใจเชื่อแน่ว่าจะไม่มีโวกเวกโวยวาย เพราะทุกอย่างจะต้องเดินตามขั้นตอน ต้องอย่าลืมว่าฝ่ายที่เชียร์และชื่นชอบระบอบทักษิณนั้นถูกกระทำกันมาเสียจนชิน ดังนั้น การที่จะร้องแร่แห่กระเซอคงไม่ได้เห็นภาพแบบนั้น ผิดกับบางพวกที่ถูกเอาใจ กลายเป็นม็อบมีเส้นพอมีอะไรตัดสินไม่ได้ดั่งใจก็จะแหกปากโวยวาย เพราะติดนิสัยคุณหนูเสียจนเคยตัว
ยิ่งเรื่องมือที่ 3 ที่ฝ่ายความมั่นคงหยิบมาเป็นประเด็นใหญ่ ก็ขนาดถึงขั้นไปบล็อก ล็อกตัวหรือคุยกันถึงหน้าบ้าน เกาะติดกันขนาดนั้นมันจะมีใครมาสร้างความวุ่นวายได้ ยิ่งมีกฎหมายพิเศษอยู่ในมือ ทุกอย่างหากปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัดและตรงไปตรงมา ถามหน่อยเถอะว่าจะมีใครหน้าไหนกล้าหือหรือลองดีกับอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ปมวันตัดสินคดียิ่งลักษณ์หากจะมองว่ามุ่งใช้ปฏิบัติการด้านการข่าวและปฏิบัติการเชิงจิตวิทยามากเกินไปคงไม่ผิดนัก
ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนหรือกสม. จากเดิมที่มองว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะกรธ.ชงให้เซตซีโร่ทั้งคณะโดยเหตุผลจาก มีชัย ฤชุพันธุ์ คือให้เป็นไปตามหลักการปารีสและเป็นที่ยอมรับขององค์กรระหว่างประเทศ แต่ล่าสุด คณะกรรมาธิการวิสามัญของสนช.กลับปรับแก้จะให้กรรมการกสม.ชุดปัจจุบันอยู่ไปอีกครึ่งวาระเสียอย่างงั้น
พอเป็นเสียอย่างนี้มีชัยเลยโวยกลับว่า อาจมีปัญหาเกิดขึ้น เพราะกรรมการกสม.ชุดปัจจุบันกระบวนการสรรหาไม่เป็นไปตามหลักการปารีส ขณะที่ วัส ติงสมิตร ประธานกสม.ก็ขอรอฟังเหตุผลจากฝั่งสนช.ก่อนว่าเหตุใดจึงใจดีให้อยู่แต่อีกครึ่งวาระ ทำไมไม่ให้อยู่เต็มวาระเหมือนผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่องทั้งหมดเหล่านี้น่าจะมีคำตอบภายในวันนี้พรุ่งนี้
เนื่องจากสนช.จะมีการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยกสม.ในวันนี้ ต้องดูว่าที่ประชุมสนช.เสียงส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการหรือคล้อยตามที่กรธ.ยกร่างมา แต่หากไปคลี่ดูว่าถ้ากสม.ได้อยู่อีกครึ่งวาระ ก็จะไปครบกำหนดเอาในเดือนพฤศจิกายนปีหน้าก็ถือว่าอีกไม่นาน ซึ่งจะว่าไปแล้วประเด็นการอยู่ต่อหรือไม่ไม่น่าจะสำคัญกับกรรมการกสม.ทั้งหมดเท่าไหร่
หากเป็นไปได้ เชื่อว่ากสม.น่าจะอยากให้มีการปรับแก้แทนที่จะให้อยู่ต่อ เปลี่ยนเป็นให้กรรมการทั้งหมดถูกเซตซีโร่ แต่สามารถกลับเข้าสู่กระบวนการสรรหาใหม่ได้มากกว่า ทว่าประเด็นนี้ถ้าสนช.ไม่ให้อยู่ต่อ ก็เชื่อว่าร่างกฎหมายกสม.น่าจะต้องไปจบในชั้นของศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน เนื่องจากยังมีปมที่ทำให้กรรมการกสม.สามารถไปยื่นร้องได้นั่นก็คือ สถานะของกสม.
ถ้ายึดตามที่มาจากรัฐธรรมนูญปี 2550 กสม.ถือเป็นองค์กรอื่นไม่ใช่องค์กรอิสระ ซึ่งนั่นจะทำให้กรรมการสามารถไปสมัครสรรหาเป็นกรรมการองค์กรอิสระได้ แต่หากยึดตามที่มีชัยยืนยันคือรัฐธรรมนูญปี 2560 กสม.จะมีสถานะเป็นองค์กรอิสระ กรรมการทั้งหมดก็จะไม่มีสิทธิ์เข้าสู่กระบวนการสรรหาเป็นกรรมการองค์กรอิสระใดๆได้อีก เรื่องนี้แม้แต่มีชัยเองก็บอกว่าต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ให้คำตอบ ต้องยอมรับร่างกฎหมายลูกแต่ละฉบับนั้น แม้เนติบริกรชั้นครูจะกำกับดูแลแล้ว แต่ก็ยังมีความหละหลวม เปิดช่องให้ต้องตีความเกิดขึ้นอยู่ดี