ความเสี่ยงขาขึ้น
เวลาที่เศรษฐกิจเป็นขาขึ้น คนจะเข้าใจกันเป็นการทั่วไปว่า ความเสี่ยงในการลงทุนทางธุรกิจหรือเก็งกำไร จะต่ำกว่าขาลง แต่นั่นเป็นมายาคติ เพราะยามนี้ สุ้มเสียงของนักวางกลยุทธ์และนักวิเคราะห์ตลาดเก็งกำไร เริ่มกล่าวถึงความเสี่ยงขาขึ้น หรือ upside risks มากขึ้น
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
เวลาที่เศรษฐกิจเป็นขาขึ้น คนจะเข้าใจกันเป็นการทั่วไปว่า ความเสี่ยงในการลงทุนทางธุรกิจหรือเก็งกำไร จะต่ำกว่าขาลง แต่นั่นเป็นมายาคติ เพราะยามนี้ สุ้มเสียงของนักวางกลยุทธ์และนักวิเคราะห์ตลาดเก็งกำไร เริ่มกล่าวถึงความเสี่ยงขาขึ้น หรือ upside risks มากขึ้น
คิดดูก็แล้วกัน ขนาดหัวข้อสนทนาของเฟดในการประชุมวิชาการประจำปีที่ “รูแจ็กสัน” หรือ “Jackson Hole” ที่จะมีขึ้นปลายสัปดาห์นี้ ในสหรัฐฯที่หลายคนจับตามอง ก็ยังมีหัวข้อที่สะท้อนความกังวลช่วงขาขึ้นที่เกินระดับธรรมดา
หัวข้อ “Fostering a Dynamic Global Economy” ยอมรับโดยปริยายว่า เศรษฐกิจโลกยามนี้และอนาคตอันสั้น ยังคงผันผวนรุนแรงอย่างมีพลวัต ซึ่งเท่ากับมีความเสี่ยงปะปนอย่างมีนัยสำคัญ
เหตุผลสนับสนุนว่าความเสี่ยงในยามเศรษฐกิจขาขึ้นยามนี้และต่อไปในอีกหลายเดือนข้างหน้าโดยเฉพาะครึ่งหลังของปีนี้ ประกอบด้วยตัวแปรหลักหลายด้าน
– เศรษฐกิจสหรัฐฯแข็งแกร่งขึ้นในเขตเมืองใหญ่และบางกลุ่มอุตสาหกรรม แต่เข้าข่าย “ฝนตกไม่ทั่วฟ้า” ไม่กระจายตัวไปทั่วประเทศหรือไม่ทุกกลุ่มผลประโยชน์ ทำให้เฟดไม่กล้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้ค่าดอลลาร์อ่อนตัวลง
– โดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงมีปัญหามากมายรอบตัวที่ทำให้เขาผลักดันนโยบายที่หาเสียงไว้ไม่เป็นไปตามเป้า ความสามารถในการตัดสินใจรวดเร็วที่หลายคนชื่นชอบ กลับกลายเป็นปัญหาเสียเอง เมื่อเวลาผ่านไป แม้ว่าดัชนีทางเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯส่วนใหญ่ยังคงบ่งชี้ความแข็งแกร่งต่อเนื่อง
– การก่อการร้ายและความรุนแรงเป็นครั้งคราวในประเทศยูโรโซน สร้างความกังวลเป็นระยะๆ แม้ว่าผลกระทบจะเป็นทางด้านจิตวิทยามากกว่าด้านกายภาพ
– การพลิกกลับเป็นขาขึ้นอย่างช้าๆ ของการค้าโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และการลงทุน ทำให้ทุนส่วนเกินของโลกที่ท่วมท้น ถดถอยลง ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้บรโภคแข็งแกร่งเข้าสู่ระดับดีขึ้น แต่ในระดับที่ยังไม่มากเพียงพอทำให้เกิดแรงเหวี่ยงที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อ และกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ส่งผลให้อัตราเติบโตของจีดีพีรวมไม่กระเตื้องมากนัก
– การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเศรษฐกิจโลก ที่ชาติในตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะที่เรียกว่าชาติ E7 (บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเชีย รัสเซีย เม็กซิโก และตุรกี) มีอัตราเติบโตสูงกว่าชาติร่ำรวยอย่าง G7 ที่เคยมีบทบาทเดิมมายาวนานกว่า 30 ปี (ไม่มีชาติ G7 ชาติใดมีอัตราเติบโตสูงกว่า 3% มายาวนานกว่า 5 ปีแล้ว) อย่างชัดเจน
– ผลิตภาพหรือความสามารถในการเพิ่มผลผลิต และอัตราค่าแรงเฉลี่ยในทุกประเทศ มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่ามาตรฐานก่อนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ทำให้กำลังซื้อไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ และทำให้ความเสี่ยงของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ และบริหารคุณภาพหนี้ ถดถอยต่อไปอีกนานพอสมควร
– การบริโภคที่ยังอยู่ในระดับสูง(แม้จะมีอัตราเติบโตถดถอยลงในอีก 2 ปีข้างหน้า)ของจีน เพราะแรงกระตุ้นจากภาครัฐที่ยังเข้มข้น ยังคงมีบทบาทแบกรับและประคองการเติบโตของเศรษฐกิจโลกต่อไป ท่ามกลางความเสี่ยงในปัญหาคุณภาพหนี้ของสถาบันการเงินภายในของจีน ที่ยังต้องการสะสางในลักษณะ “ล้างบ้าน” อีกมากและนาน
– อัตราเงินเฟ้อของชาติสำคัญ ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทำให้เกิดความเสี่ยงของสถาบันการเงิน เพราะทำให้อัตราดอกเบี้ยยากจะผงกหัวขึ้นในช่วงฟื้นตัวไม่เต็มที่(reflation stage) และโอกาสพลิกกลับเป็นวิกฤตหนี้เน่าระลอกใหม่ยังมีความเป็นไปได้ต่อไป หากไม่ระมัดระวัง
ปัจจัยความเสี่ยงขาขึ้นในระดับโลกดังกล่าว ปรากฏให้เห็นเป็นตัวเลขสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ยังไม่รวมความถึงปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองและสังคมในบางประเทศที่เป็นตัวแปรจำเพาะเท่านั้น โดยเฉพาะในรัฐบางแห่งที่ล้มเหลวกับ 3ประเด็น คือ1) การกระจุกตัวของความมั่งคั่งที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำมีมากเกินขนาด 2) อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำต่อเนื่องจากนโยบายที่ผิดพลาดหรือบกพร่อง จนขีดความสามารถในการแข่งขันลดลงโดยเปรียบเทียบ 3) ความล้มเหลวในการปฏิรูปโครงสร้างและทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจระยะกลาง
ในกรณีหลังนี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่า เศรษฐกิจไทย มีองค์ประกอบครบครันในการเผชิญกับความเสี่ยงขาขึ้น โดยเฉพาะความเสี่ยงทางการเมืองทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
ปัญหาคอขวดอยู่ที่ว่าชนชั้นนำในสังคมไทยในช่วง 10 ปีมานี้ ล้มเหลวที่จะยอมรับข้อเท็จจริงของพลวัตที่ดำเนินไปบนโลก เสมือนถูกครอบงำจาก “ความฝันในหอแดง”
บทพิสูจน์ที่ท้าทายชนชั้นนำไทยยามนี้มากที่สุดอยู่ที่การชี้ขาดคดีรับจำนำข้าวที่มีอดีตนายกรัฐมนตรีนางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตกเป็นจำเลยร่วมที่จะรู้ผลเบื้องต้นในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ ซึ่งถือเป็นทั้งแรงกดดันและปัจจัยเสี่ยงที่จะบอกถึง “วินาทีชี้ชะตา” ว่าความเสี่ยงขาขึ้น หรือแรงเหวี่ยงของพลวัตเศรษฐกิจ ที่ประเทศจะเผชิญในอนาคตจะร้ายแรงแค่ไหน และกินเวลานานเพียงใด