ดอลลาร์โรยแรง
โจทย์เล็กๆ ที่นายกรภัทร วรเชษฐ์ นักวิเคราะห์คนเก่งแห่ง บล.โนมูระ พัฒนสิน จำกัด ให้ไว้เมื่อวันเสาร์ที่จะเป็นการบ้านสำหรับนักลงทุนต่อไปคือ เมื่อใดที่การสูญเสียโอกาสของตลาดหุ้นไทยที่จะตักตวงในช่วงทุนไหลเข้าได้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่กะปริบกะปรอยอย่างที่ผ่านมาตลอด 8 เดือนนี้
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
โจทย์เล็กๆ ที่นายกรภัทร วรเชษฐ์ นักวิเคราะห์คนเก่งแห่ง บล.โนมูระ พัฒนสิน จำกัด ให้ไว้เมื่อวันเสาร์ที่จะเป็นการบ้านสำหรับนักลงทุนต่อไปคือ เมื่อใดที่การสูญเสียโอกาสของตลาดหุ้นไทยที่จะตักตวงในช่วงทุนไหลเข้าได้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่กะปริบกะปรอยอย่างที่ผ่านมาตลอด 8 เดือนนี้
คำตอบอาจจะดูวังเวงเหว่ว้าพอสมควร เพราะตราบใดที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ยังคงเติบโตถดถอย และค่าพี/อีเฉลี่ยของตลาดหุ้นไทยยังสูงลิ่ว ก็ยากพอสมควรที่จะเห็น แรงซื้อจริงจังของต่างชาติและรายย่อย ที่เป็นมากกว่า “เล่นสั้น ขยันซอย” อย่างที่เป็นอยู่
โจทย์ข้างต้นนี้ เชื่อได้เลยว่าจะยังเป็นโจทย์หลักของตลาดหุ้นไทยอีกตลอดครึ่งหลังของปีนี้อย่างคาดเดาได้
ค่าดอลลาร์อ่อน ที่ไม่ได้เกิดจากเจตนาของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แต่อย่างใด หากเกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่า ยังไม่มีใครค้นพบทางออกใหม่ในอนาคตของโจทย์ในช่วงเวลาเศรษฐกิจผงกหัวขึ้นมา แต่อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมาย
เรื่องดังกล่าว เป็นประเด็นสำคัญที่หาข้อยุติไม่ได้ ในการประชุมวิชาการประจำปีที่ “รูของแจ็กสัน” ปีนี้
คำปราศัยหลังการประชุมของ นางเยลเลน ประธานเฟดฯ และนายดรากี ประธาน ECB กล่าวสุนทรพจน์ที่ “รูของแจ็กสัน” โดยไม่มีสาระสลักสำคัญอะไรที่เปิดเผยถึงทิศทางนโยบายทางการเงินในอนาคต ซึ่งทำให้ ไม่เพียงแค่เกิดแรงเทขายท้ายตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมาเท่านั้น ยังมีผลให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กด้วย
คำพูดของนางเยลเลน ถูกตีความว่ากำลัง “แทงกั๊ก” อย่างมีลีลาเพื่อซื้อเวลาในยามที่คิดอะไรไม่ออก มากกว่าจะส่งสัญญาณใดๆ
นางเยลเลนกล่าวเตือนว่า วิกฤตทางการเงินในอนาคตอาจเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ก็ป้องกันตัวเองล่วงหน้าว่า ภาวะทรุดตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์หรือซับไพรม์เมื่อ 9 ปีก่อน ก็ได้ให้บทเรียนที่สำคัญแก่ทุกคนในแง่ที่ได้เรียนรู้จากความเจ็บปวดที่เกิดจากวิกฤตการณ์ จึงมีเหตุผลที่จะเชื่อว่าระบบการเงิน และเศรษฐกิจมีโอกาสน้อยลงที่จะเผชิญกับวิกฤตการณ์ และจะสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ได้เร็วขึ้น ทำให้ภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจไม่ต้องเผชิญกับปัญหาเหมือนที่ได้ประสบในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์เมื่อ 1 ทศวรรษก่อนหน้านี้
นักวิเคราะห์และเทรดเดอร์ระบุว่า ถ้อยแถลงของนางเยลเลนที่ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ส่งผลให้ดอลลาร์ถูกเทขาย เนื่องจากตลาดต้องการจะฟังในสิ่งที่เธอไม่เคยได้กล่าวมาก่อน ไม่ใช่ประโยคกล่าวซ้ำซากที่คุ้นหูแล้ว
ท่าทีโลเลของนางเยลเลนและนายดรากี สะท้อนชัดเจนว่า ประเด็นเศรษฐกิจแข็งแกร่ง แต่เงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมาย หรือ เงินเฟ้อถดถอย ยังเป็นปริศนาที่ท้าทายโลกครึ่งหลังปีนี้ และอาจรวมถึงครึ่งแรกของปีหน้าด้วย
เงินเฟ้อถดถอย (negative inflation หรือ disinflation) เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินยังไม่ติดลบ และสินค้าบางรายการก็มีราคาสูงขึ้น ไม่ได้ถูกลงทั่วทั้งตลาด
ภาวะเงินเฟ้อถดถอยและเงินฝืด (วัดได้จากอัตราดอกเบี้ยและดัชนีราคาสินค้า) แม้จะมีค่าที่ใกล้เคียงกันมาก แต่ภาวะเงินเฟ้อถดถอยก็ยังถือว่าดีกว่าเงินฝืด เพราะในกรณีปกติ ราคาสินค้าทั่วไปลดลงต่อเนื่อง โดยที่กำลังซื้อของตลาดหรืออุปสงค์ของผู้บริโภคไม่ได้ลดตามไปด้วย โอกาสที่เศรษฐกิจจะไม่ถดถอยตามไปด้วยยังคงสูง ยกเว้นกรณีที่เกิดมีแรงเหวี่ยงเป็นแนวโน้มสำคัญที่ไม่พึงปรารถนาเกิดขึ้นคือ อัตราดอกเบี้ยทั่วไปในตลาดลดต่ำลงจนกระทั่งเกิดเป็นภาวะ “กับดักสภาพคล่อง” เพราะการลงทุนต่ำกว่าการออม และการบริโภคต่ำจนบีบให้ราคาสินค้าต้องลดราคาต่ำลงทั่วหน้า เพราะผู้บริโภคขาดกำลังซื้อ
อีกมุมหนึ่ง เงินเฟ้อที่ถดถอย ย่อมโยงเข้ากับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ถดถอย ผสมเข้ากับปริมาณการไหลเวียนของปริมาณเงินในตลาดมีแนวโน้มช้าลง ส่งผลต่อราคาสินค้าที่จะมีแนวโน้มถดถอยลงอย่างมีนัย สอดรับกับทฤษฎีที่ว่า มูลค่าของเงิน มีส่วนแปรผกผันกับเงินเฟ้อ ในขณะที่มูลค่าของสินค้า แปรผันตรงกับเงินเฟ้อ
จีดีพีเพิ่ม แต่เงินเฟ้อต่ำกว่าเป้า เป็นมากกว่าการส่งสัญญาณ เพราะปรากฏการณ์บ่งบอกว่าปัจจัยของภาวะเงินฝืด ยังคงดำรงแฝงตัวในช่วงขาขึ้นของเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ (จากผลของการจ้างงานต่ำ ค่าแรงเฉลี่ยเพิ่มต่ำ ปริมาณเงินท่วมโลก และความไม่มั่นคงรบกวนการลงทุนใหม่ๆ) เสมือนมีอาการ “กล้ามเนื้ออ่อนแรง” ที่ทำให้ขาขึ้นของเศรษฐกิจที่เปราะบาง พร้อมจะซวนเซ
ค่าดอลลาร์ที่โรยแรง จึงเป็นปรากฏการณ์ที่สัมผัสได้ แต่ยังไม่สามารถวิเคราะห์หาเหตุผลที่สนับสนุนเพียงพอได้