“วิธีประเมิน”ย้อนเกล็ดGLตั้งด้อยค่าฯอ่วมเหตุซื้อหุ้นCCFแพงลิ่ว ผงะ!กำไรหด-รูปีฯทรุด10%
"วิธีประเมิน" ย้อนเกล็ด GL ตั้งด้อยค่าฯ อ่วมเหตุซื้อหุ้น "ซีซีเอฟ" แพงลิ่ว ผงะ! กำไรหด-รูปีฯทรุด 10%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่นายโสภณ เพิ่มศิริวัลลภ ผู้สอบบัญชีสังกัดบริษัท สำนักงาน อีวาย จำกัด ในฐานะผู้สอบบัญชี บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL ได้ระบุถึงการด้อยค่าเงินลงทุนใน Commercial Credit and Finance Public Company Limited หรือ CCF บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ซึ่งบริษัทฯได้เข้าลงทุนผ่านบริษัทย่อยในประเทศสิงคโปร์
โดยได้ทำการซื้อหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 29.99 ของหุ้น CCF ทั้งหมด ผ่านบริษัทย่อยในสิงคโปร์ คิดเป็นมูลค่าราว 2.58 พันล้านบาท
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากมูลค่าหุ้นดังกล่าวปรับตัวลดลงมาเหลือเพียง 909 ล้านบาท ณ วันสิ้นงวดไตรมาส 2/2560 (30 มิ.ย.) นายโสภณจึงได้ระบุในรายงานการสอบทานข้อมูลทางการเงินระหว่างกาลของรอบบัญชีดังกล่าวว่า ผลต่างระหว่างมูลค่าตามบัญชีราว 2.58 พันล้านบาทและมูลค่าตลาดในตลาดหลักทรัพย์โคลัมโบราว 909 ล้านบาท มีจำนวนที่เป็นสาระสำคัญ และต้องได้รับการให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
โดยนายโสภณระบุด้วยว่า การที่มูลค่าดังกล่าวมีการปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจเป็นข้อบ่งชี้ว่าอาจมีการด้อยค่าของเงินลงทุน ซึ่งขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างการวัดมูลค่ายุติธรรมของหุ้น CCF ด้วยการให้ผู้ประเมินราคาอิสระเป็นผู้ประเมินมูลค่าดังกล่าว เบื้องต้นคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ปีนี้ (2560)
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าวพบว่า ราคาหุ้น CCF ล่าสุด ณ วันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ปิดที่ระดับ 44.10 รูปีศรีลังกา (LKR) ปรับตัวลดลงราว 66.90 รูปีฯ จากระดับที่ GL เข้าซื้อที่ราคา 111 รูปีฯ หรือคิดเป็นผลขาดทุนทางบัญชี โดยไม่รวมความผันผวนจากค่าเงินราว 60.27%
ส่วนราคาหุ้น CCF ณ วันเข้าทำรายการซื้อขายโดยบริษัทย่อยของ GL คือวันที่ 8 ธ.ค. 2559 อยู่ที่ระดับ 61.20 รูปีฯ หรือเท่ากับ GL ซื้อในราคาที่มีส่วนเกินมูลค่า (พรีเมี่ยม) สูงถึง 81.37%
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้าการเข้าทำรายการ ผู้ประเมินราคาภายนอกของบริษัทย่อย รวมถึงที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) ได้เคยตีมูลค่าหุ้น CCF ตามสัดส่วนการลงทุนไว้ที่ระดับ 1.90-2.50 พันล้านบาท และ 1.60-1.70 พันล้านบาทตามลำดับ
โดยทาง GL เคยระบุว่า วิธีการประเมินจนนำมาซึ่งตัวเลขของผู้ประเมินราคาภายนอกที่ระดับสูงสุดถึง 2.50 พันล้านบาท ถือเป็นวิธีการประเมินที่เหมาะสมสำหรับบริษัทที่ประกอบธุรกิจสถาบันการเงินมากที่สุด ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเกิดขึ้นจากการใช้วิธีกำไรคงเหลือ (Residual Income Approach) และวิธีคิดลดเงินปันผล (Dividend Discount Model)
ทั้งนี้ การประเมินดังกล่าวได้มีการนำตัวเลขกำไรสุทธิจาก 3 ปีงบประมาณย้อนหลัง คือระหว่างปี 2557-2559 และไตรมาส 1/60 (สิ้นสุด 30 มิ.ย. 2559) มาใช้ทำการประเมิน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า CCF มีกำไรสุทธิราว 1 พันล้านรูปีฯ 2.20 พันล้านรูปีฯ 2.30 พันล้านรูปีฯ และงวดสุดท้ายก่อนหน้าการประเมินคือ ไตรมาส 1/60 มีกำไรสุทธิราว 650 ล้านรูปีฯ
จากนั้น CCF สามารถสร้างกำไรเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 2/60 (สิ้นสุด 30 ก.ย. 2559) มีกำไรสุทธิราว 655 ล้านรูปีฯ และต่อมาอีก 1 ไตรมาสคืองวดสิ้นสุด 31 ธ.ค. 2559 สามารถสร้างตัวเลขกำไรสุทธิได้สูงสุดเป็นรายไตรมาสที่ระดับราว 950 ล้านรูปีฯ
อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิของ CCF เริ่มปรับตัวลดลงในช่วงหลังจากนั้น โดยในไตรมาส 4/60 (สิ้นสุด 31 มี.ค. 2560) รายงานกำไรสุทธิราว 800 ล้านรูปีฯ และล่าสุดคือ ไตรมาส 1/61 (สิ้นสุด 30 มิ.ย.) มีกำไรสุทธิลดลงมาที่ระดับเพียงไม่ถึง 600 ล้านรูปีฯ
ขณะเดียวกัน การปรับตัวลดลงของกำไรดังกล่าวถือว่า สอดคล้องกับตัวเลขกำไรจากการลงทุนซึ่ง GL ได้รับจากการจ่ายเงินปันผลของ CCF โดยก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เคยระบุในบทวิเคราะห์เกี่ยวกับตัวเลขดังกล่าวว่ามีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
อย่างเช่น จากไตรมาส 4/59 (ไตรมาส 3/60 ของ CCF) มีการรับรู้รายได้ส่วนนี้เข้ามาในงบการเงินรวมของ GL จำนวน 48 ล้านบาท โดยถือเป็นการรับรู้เพียง 1 เดือนหลังจากการเข้าลงทุนเท่านั้น ขณะที่ไตรมาส 1/60 มีการรับรู้แบบเต็มไตรมาส แต่มีการบันทึกเข้ามาเพียง 55 ล้านบาท และล่าสุด งวดไตรมาส 2/60 กำไรจากการลงทุนใน CCF ปรับตัวลดลงมาเหลือเพียง 35 ล้านบาท
ดังนั้น จึงเป็นที่น่าจับตาว่า การที่ผู้ประเมินราคาภายนอก ซึ่งกรณีนี้คือ PwC Sri Lanka เคยใช้ Residual Income Approach และ Dividend Discount Model ในการประเมินมูลค่าของ CCF ก่อนหน้านี้ และคณะกรรมการ GL มีความเห็นชอบว่า 2 วิธีการดังกล่าวมีความเหมาะสมในการประเมินมูลค่ามากกว่าวิธีคิดลดกระแสเงินสด (Discounted Cash Flow Methodology) จะมีผลอย่างไรต่อการประเมินมูลค่ายุติธรรมซึ่งมีการดำเนินการอยู่ ณ ขณะนี้หรือไม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความสามารถในการสร้างผลกำไรของ CCF ลดน้อยลง ซึ่งยังส่งผลให้การจ่ายเงินปันผลได้รับผลกระทบ และมีการจ่ายปันผลน้อยลงอีกด้วย
อย่างไรก็ดี นอกจากประเด็นเรื่องราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และความสามารถในการทำกำไรลดลงแล้ว ผู้สื่อข่าวรายงานเกี่ยวกับการอ่อนค่าของสกุลเงินรูปีศรีลังกาเมื่อเทียบกับเงินบาทไทยว่า ปัจจุบันมีการปรับตัวลดลงราว 9.57% นับตั้งแต่วันที่บริษัทย่อยของ GL เข้าทำรายการซื้อหุ้น CCF
โดยพบว่า ณ วันที่ 8 ธ.ค. 2559 อัตราแลกเปลี่ยนเงินของ 2 สกุลอยู่ที่ระดับ 0.24043 บาทต่อ 1 รูปีฯ (THB/LKR = 0.24043) ขณะที่ล่าสุด วันที่ 27 ส.ค. 2560 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0.21742 บาทต่อ 1 รูปีฯ (THB/LKR = 0.21742) หรือคิดเป็นสกุลเงินรูปีฯมีการปรับตัวอ่อนค่าลงประมาณ 9.57%
ทั้งนี้ หากคำนวณมูลค่าเงินลงทุนจำนวน 2.58 พันล้านบาท โดยการอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันเปรียบเทียบ ณ วันทำรายการ เงินลงทุนจำนวนดังกล่าวจะมีมูลค่าลดลงมาอยู่ที่ราว 2.35 พันล้านบาท
อย่างไรก็ดี หากอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน ประกอบกับราคาหุ้น CCF ที่มีการปรับตัวลดลงจากราคาซื้อกว่า 60% จะทำให้มูลค่าหุ้น CCF ในบัญชีของ GL คงเหลืออยู่ราว 914.62 ล้านบาทเพียงเท่านั้น