SCB กับจตุจักรดิจิทัล

สัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ “จตุจักรดิจิทัล” เริ่มต้นขึ้น เมื่อผู้บริหารระดับสูง ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) นำทีม “คาราวานสีม่วง” ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดตัวโครงการที่ชื่อว่า Products of Chatuchak : ยกระดับตลาดนัดสวนจตุจักรสู่ตลาดดิจิทัล เพื่อก้าวสู่ความเป็น “ชาวจตุจักรกับชีวิตไร้เงินสด” ด้วยการนำเสนอแพลตฟอร์มช็อปปิ้งคือ....


พลวัตปี 2017 : สุภชัย ปกป้อง (แทน)

สัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ “จตุจักรดิจิทัล” เริ่มต้นขึ้น เมื่อผู้บริหารระดับสูง ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) นำทีม “คาราวานสีม่วง” ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดตัวโครงการที่ชื่อว่า Products of Chatuchak : ยกระดับตลาดนัดสวนจตุจักรสู่ตลาดดิจิทัล เพื่อก้าวสู่ความเป็น “ชาวจตุจักรกับชีวิตไร้เงินสด” ด้วยการนำเสนอแพลตฟอร์มช็อปปิ้งคือ….

Merchant mPOS แอพพลิเคชั่นสำหรับร้านค้า ที่เสมือนเป็นระบบช่วยในการขายที่ครบวงจรให้แก่ร้านค้าโดยผู้ขายสามารถบริหารจัดการสต๊อกสินค้า เช็ครายงานการขายรายวัน และรับชำระเงินด้วยพร้อมเพย์ได้ ช่วยให้ผู้ประกอบการบริหารจัดการต้นทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันยังเพิ่มความคล่องตัวในการรับชำระเงินที่สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น

SCB EASY QR Code แอพพลิเคชั่นสำหรับลูกค้าที่ได้รับการพัฒนาให้ลูกค้าสามารถค้นหา และเดินหาร้านค้าโดยไม่หลง ด้วยแผนที่อัจฉริยะ (Chatuchak Guide) ที่สามารถระบุตำแหน่งที่ตั้งร้านค้า ที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยี Geomagnetic สามารถนำทางให้ลูกค้าเดินหาร้านค้าโดยง่าย ที่สำคัญสามารถรับโปรโมชั่นจากร้านค้าได้แบบเรียลไทม์ด้วย

อีกจุดจุดสำคัญ คือ สามารถรองรับการใช้งานทั้งภาษาไทย อังกฤษและจีน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าทุกกลุ่มทั้งชาวไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีกำหนดเปิดให้ร้านค้าและลูกค้าได้ใช้งานแพลตฟอร์มดังกล่าวเต็มรูปแบบภายในพฤศจิกายนนี้

โดย “อาทิตย์ นันทวิทยา” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCB ระบุว่า ผู้ประกอบการในตลาดนัดสวนจตุจักรจะให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากการค้าขายปัจจุบันการมีหน้าร้านเพียงช่องทางเดียวและดำเนินธุรกิจด้วยรูปแบบเดิมนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป และอนาคต SCB จะขยายผลนำโมเดลต้นแบบจตุจักรบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม ไปใช้กับเอสเอ็มอีทั่วประเทศต่อไป

“การพลิกโฉมร้านค้าตลาดนัดจตุจักร จะกลายเป็นโมเดลต้นแบบให้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ไปสู่เอสเอ็มอีอื่นๆ ทั่วประเทศในอนาคต”

หากวิเคราะห์เชิงลึกสำหรับธนาคารไทยพาณิชย์ แน่นอนโครงการนี้ เป็นการตอบโจทย์ว่าด้วยทิศทางและเทรนด์ของโลกดิจิทัล ที่เข้ามามีบทบาทในทุกวงการ อีกทั้งพฤติกรรมการใช้บริการทางการเงินเปลี่ยนไปจากอดีตอย่างมาก และธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบกำลังเผชิญหน้าความเปลี่ยนแปลง ทำให้ไม่สามารถทำธุรกิจรูปแบบเดิมได้อีกต่อไป

การขยับตัวของ SCB ครั้งนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจหลักของการลงทุนครั้งใหญ่ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดย เฉพาะดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Platform) ควบคู่กับการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้า (Customer Experience) จะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน

แน่นอนว่า “ใครเปิดตัวก่อน เดินหน้าก่อน ทำได้ก่อน..จะกลายเป็นผู้ยึดฐานลูกค้าและครองตลาดก่อน” นั่นเอง..!??

ขณะที่ “ตลาดนัดจตุจักร” จะมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความหลากหลายของรูปแบบการบริการมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฐานลูกค้ากว้างขึ้น การนำเสนอสินค้าเข้าตรงสู่ลูกค้ามากยิ่งขึ้น (แม้ปัจจุบันมีหลายร้าน นำเสนอผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียบ้างแล้วก็ตาม) ด้วยแอพพลิเคชั่น Merchant mPOS นั้นทำให้เกิดการรับรู้ดีมานด์แท้จริง เพื่อนำไปสู่กระบวนการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่การจัดซื้อจัดหา (Procurement) การผลิต (Manufacturing) การจัดจำหน่าย (Distribution) การขนส่ง (Transportation) และการจัดเก็บ (Storage)

สุดท้ายนำไปสู่ “ภาระต้นทุนลดลง..กำไรเพิ่มขึ้น” นั่นเอง

ในแง่ “ลูกค้าของตลาดนัดจตุจักร” สิ่งที่เห็นชัดคือช่วยให้มีเป้าหมายการเลือกซื้อสินค้าชัดเจนยิ่งขึ้น หลังมีการศึกษา -จับจองสินค้าและตรวจสอบข้อมูลผ่านฐานข้อมูลร้านค้าและสินค้าในแอพพลิเคชั่นที่มีอยู่..สิ่งสำคัญคือความสะดวกเรื่องการชำระค่าสินค้าผ่าน SCB EASY QR Code ที่จะเป็นกระเป๋าสตางค์ออนไลน์ให้กับบรรดาลูกค้านั่นเอง..!!

แต่..ทั้งหมดนี้ถือเป็นเพียงปฐมบทของ “จตุจักรดิจิทัล” เท่านั้นเอง..!!

Back to top button