พาราสาวะถี

การขยับของประชาธิปัตย์จาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประสานเสียง วิรัตน์ กัลยาศิริ ว่าด้วยการไม่ตั้งใจไล่ล่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของรัฐบาลคสช.และการถอนพาสปอร์ตของอดีตนายกฯหญิง ตามมาด้วยการกระทุ้งเรื่องทุจริตจีทูจีโดย องอาจ คล้ามไพบูลย์ และกวาดเก็บประเด็นรายทางตอบโต้กล่าวหาฝ่ายตรงข้ามโดย มัลลิกา บุญมีตระกูล ไม่น่าจะใช่เรื่องบังเอิญที่ออกมาพูดในเวลาเดียวกันอย่างแน่นอน


อรชุน

การขยับของประชาธิปัตย์จาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประสานเสียง วิรัตน์ กัลยาศิริ ว่าด้วยการไม่ตั้งใจไล่ล่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของรัฐบาลคสช.และการถอนพาสปอร์ตของอดีตนายกฯหญิง ตามมาด้วยการกระทุ้งเรื่องทุจริตจีทูจีโดย องอาจ คล้ามไพบูลย์ และกวาดเก็บประเด็นรายทางตอบโต้กล่าวหาฝ่ายตรงข้ามโดย มัลลิกา บุญมีตระกูล ไม่น่าจะใช่เรื่องบังเอิญที่ออกมาพูดในเวลาเดียวกันอย่างแน่นอน

คำถามก็คือ การขับเคลื่อนของพลพรรคประชาธิปัตย์ในส่วนที่เกี่ยวกับอดีตนายกฯหญิงนั้น เป็นภาระหลักของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่จะชี้แจงเองหรือจะส่งไม้ต่อมอบหมายให้ใครก็ตามในองคาพยพของครม.หรือ คสช.เป็นผู้อธิบาย แต่ในส่วนที่มีการกล่าวหากันนั้น ต้องตั้งคำถามว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องเฮทสปีชหรือไม่

เหมือนอย่างที่ ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษานปช.ตั้งข้อสังเกต กรณีดังกล่าวเป็นตัวอย่างของการสร้างความเกลียดชัง โดยใช้ข้อมูลเป็นเท็จ คนซึ่งมีฐานะเป็นถึงรองโฆษกพรรค ออกมาพูดอะไร คนในกลุ่ม ในพรรคของตัวเองต้องตรวจสอบและพิจารณาและเป็นเรื่องที่สังคมควรจะเรียนรู้ ถ้าทำนิสัยอย่างนี้แล้วสังคมจะเดินหน้าไปสู่การปรองดองได้อย่างไร

พร้อมทั้งตั้งปุจฉาต่อว่า คนที่พูดเท็จและกล่าวร้ายคนอื่นง่ายๆอย่างนี้ สมควรจะถูกลงโทษจากสังคมและกฎหมายหรือไม่ ความจริงแล้วกรณีของมัลลิกา นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ใช้ท่วงทำนองดังว่า น่าเสียดายในความเป็นอดีตคนข่าว ที่ไม่ได้ใช้วาทศิลป์หรือสิ่งที่ตัวเองมีของดีอยู่ให้เกิดประโยชน์ กลับทำตัวเป็นพวกปากไม่มีหูรูด หรือความหยาบคายมันเป็นสิ่งที่ฝังลึกอยู่ในตัวใครแล้วมันดัดยากจริงๆ

ด้วยท่วงทำนองเช่นนี้ จึงต้องรีบถามกลับไปยังคสช.ที่เตรียมจะแถลงสัญญาประชาคมอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะกับท่าทีของ พลตรีคงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมที่จ้อในเรื่องดังกล่าวเป็นวรรคเป็นเวร เกรงว่าจะหน้าแหกกันเป็นแถวๆ หากคนการเมืองยังมีนิสัยสาดโคลน โดยที่พวกหนึ่งถูกจับตาและเข้มงวดเอาผิด แต่อีกพวกกลับปล่อยให้เคลื่อนไหวกันได้อย่างอิสระ เสรี

ถ้อยแถลงที่บอกว่าสาระของสัญญาประชาคมเป็นเรื่องที่มีอยู่แล้วในจิตสำนึกของคนไทย เพียงแต่ว่าอาจจะถูกปิดบังและลบเลือนไปบ้างในช่วงความขัดแย้งที่ผ่านมา เห็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย เรื่องที่ผิดกติกาสังคมกลายเป็นความถูกต้องชอบธรรมและเป็นเรื่องปกติ ถ้าช่วยกันปลุกจิตสำนึกของคนจะรู้กันว่าอะไรที่ควรปฏิบัติ ถ้าเป็นอย่างนี้สังคมจะเดินหน้าไปได้ เราจะไม่ยอมให้ความรุนแรงในอนาคตเกิดขึ้นอย่างในอดีต

สิ่งที่โฆษกกระทรวงกลาโหมว่ามาทั้งหมดนั้น เมื่อนำมาเทียบเคียงกับสิ่งที่เห็นและเป็นไป ณ ปัจจุบัน มีการลืมเรื่องในอดีต ไม่ขุดคุ้ยหรือหาเหตุเพื่อที่จะกระทืบซ้ำฝ่ายตรงข้ามแล้วหรือยัง หากคำตอบยังไม่ใช่ นั่นหมายความว่า ปล่อยให้ฝ่ายหนึ่งถูกกระทืบซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยที่ฝ่ายกระทำไม่ได้มีจิตสำนึกที่จะยอมรับกลไกซึ่งผู้มีอำนาจได้วางเอาไว้ แล้วสังคมมันจะเดินไปด้วยกันภายใต้สัญญาประชาคมได้อย่างไร

ยืนยันว่าไม่ได้ปล่อยให้ยิ่งลักษณ์หนี แต่สิ่งที่ยืนยันมาจากปากของพลเอกประวิตรต่อข้อคำถามที่ว่าหากปล่อยเรื่องนี้เอาไว้นานจะสร้างความคลางแคลงใจต่อสังคมหรือไม่ว่า ไม่คาใจหรอก เพราะรู้กันอยู่แล้วว่าไปแล้ว ถือเป็นสัญญาณอันชัดเจนจากผู้มีอำนาจว่าอดีตนายกฯหญิงไม่ได้อยู่ในเมืองไทยแล้วแน่นอน เหลือเพียงแค่ว่าจะเปิดข้อมูลกันให้ชัดๆว่าอยู่ที่ไหนแค่นั้นเอง

นาทีนี้ผู้มีอำนาจทำได้แค่ติ๊ดชึ่งไปวันๆจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการอ้างถึงคำยืนยันของประเทศแหล่งกบดานที่ยิ่งลักษณ์ไปอาศัยหรือรอให้อดีตนายกฯหญิงปรากฎตัวด้วยตนเอง แล้วตามมาด้วยแถลงการณ์หรืออะไรก็แล้วแต่ เมื่อเป็นเช่นนั้นสถานการณ์ต่อเรื่องนี้ก็ต้องบอกได้คำเดียวว่า”รอ”เท่านั้น จนกว่าเงื่อนไขพิเศษจะบรรลุเป้าประสงค์ที่ตกลงกันไว้

ไม่สนใจใครจะทุกข์ร้อนอย่างไร ศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต.จัดประชุมเตรียมความพร้อมการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว.ให้กับผู้อำนวยการการเลือกตั้งทั้ง 77 จังหวัดไปเมื่อวันวาน ยืนยันแม้กฎหมายที่เกี่ยวข้องจะยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่กกต.ต้องเตรียมความพร้อมสำหรับเจ้าหน้าที่กกต. เพราะเป็นหน่วยงานปฏิบัติ ซึ่งจะต้องทำตามกฎหมายและจะต้องทำให้ดี

ส่วนแนวคิดของกรธ.ที่กำหนดรูปแบบเลือกตั้งส.ส.แบบแยกเบอร์รายเขต ที่ก่อนหน้านี้ สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ได้จำลองการเลือกตั้งเพื่อสะท้อนถึงปัญหาไปแล้วว่าจะมีความยุ่งยากอย่างไร แต่กกต.จะไม่ส่งความเห็นเพิ่มเติมไปยังกรธ. เว้นแต่จะเห็นว่าจำเป็นจริงๆ เพราะกกต.เป็นผู้ปฏิบัติ ไม่ว่ากฎหมายจะออกมาอย่างไรจะต้องปฏิบัติให้ได้

เป็นอันว่าเตรียมพร้อมเพื่อส่งไม้ต่อไม่ได้หวังจะอยู่ต่อ(เพราะเป็นไปไม่ได้) หากดูตามปฏิทินของกกต.จะพบว่า ในส่วนของส.ว.จะเริ่มกระบวนการสรรหาประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน 2561 จากนั้นจะเลือกผู้สมัครระดับประเทศและประกาศผลการคัดเลือกส.ว. 200 คนได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2561 ก่อนจะส่งให้คสช.คัดเลือกให้เหลือ 50 คน

ก่อนนำไปรวมกับส.ว.ในสัดส่วนที่คสช.เป็นผู้คัดเลือกอีก 200 คน รวมเป็น 250 คน โดยคสช.จะต้องประกาศผลการคัดเลือกก่อนการเลือกตั้งส.ส. 15 วัน ส่วนการเลือกตั้งส.ส.มีการคาดการณ์ว่าร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.จะมีผลใช้บังคับประมาณมีนาคม 2561 จากนั้นจะเริ่มกระบวนการเลือกตั้ง โดยช่วงที่จะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งน่าจะเป็นเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2561 และมีการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคม 2561

แต่ วิษณุ เครืองาม มือกฎหมายของรัฐบาลกลับว่า ไม่ทราบเรื่องนี้ ตอบไม่ถูก ตอนนี้รู้เพียงว่าหากประกาศใช้กฎหมายที่สำคัญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับเสร็จเมื่อไหร่ มีผลใช้บังคับเมื่อใด ก็จะจัดการเลือกตั้ง 5 เดือนหลังจากนั้น ส่วนจะเป็นวันไหนก็แล้วแต่กกต.เป็นผู้กำหนด ส่วนกฎหมายเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับ จะออกมาเมื่อใดตนไม่ทราบและรัฐบาลไม่เคยเร่งรัดอะไร หรือเป็นเพราะว่ายิ่งลักษณ์ไม่อยู่แล้วเลยสบายๆ อะไรก็ได้เมื่อไหร่ก็ได้อย่างนั้นหรือเปล่า

Back to top button