ศาลฯชี้ชัด ขสมก. ริบเงินประกัน “เบสท์ริน” ได้โดยชอบธรรม
ศาลปกครองสูงสุด สั่งกลับคำศาลปกครองกลาง ให้ยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว "เบสท์ริน" ตามคำอุทธรณ์ของ ขสมก. ส่งผลให้ขสมก. ริบเงินประกันจำนวน 338 ล้านบาทได้โดยชอบธรรม
สืบเนื่องจากกรณี บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ได้นำเข้ารถเมล์ NGV หลังชนะการประมูลโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV489 คันขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. แต่ทางกรมศุลการกรได้พิจารณาการนำเข้ารถเมล์เอ็นจีวี 489 คันมีการกระทำความผิดในลักษณะสำแดงการนำเข้าสินค้าเป็นเท็จ
ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มี.ค.60 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ตามคำฟ้องของบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ในคดีหมายเลขดำที่ 502/2560 โดยศาลมีคำสั่งให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ตรวจรับรถเมล์เอ็นจีวีจำนวน 390 คัน ที่ออกจากด่านกรมศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบังแล้ว ทั้งนี้ให้ขสมก.ปฏิบัติตามคำสั่งศาล จนกว่าจะมีคำพิพากษา หรือ มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ต่อมาเมื่อวันที่ 3 เม.ย.60 ขสมก.ได้พิจารณาหาแนวทางการเตรียมข้อมูลในการยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลาง เพื่อเข้าชี้แจงต่อศาลปกครองสูงสุด
ล่าสุด ศาลปกครองกลางได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ 502/2560 และคดีหมายเลขดำที่ 955/2560 คดีพิพาทระหว่าง บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ในฐานะผู้ฟ้องคดี กับ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดี กรณีการจัดซื้อรถยนต์โดยสารปรับอากาศที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) เป็นเชื้อเพลิง (รถเมล์เอ็นจีวี) โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ยกคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดี
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในกรณีที่ศาลปกครองเห็นสมควรกำหนดมาตรการหรือวิธีการใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่คู่กรณีที่เกี่ยวข้องเป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี ให้คำนึงถึงความรับผิดชอบของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐและปัญหาอุปสรรคที่อาจะเกิดขึ้นแก่การบริหารงานของรัฐประกอบด้วย และต้องทำเท่าที่สภาพของเรื่องจะเปิดช่องให้กระทำได้และโดยไม่ขัดต่อระเบียบนี้และหลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง
โดยคดีดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ขสมก.ได้ทำสัญญาซื้อรถยนต์โดยสารและว่าจ้างซ่อมแซมบำรุงรักษารถยนต์โดยสารดังกล่าวกับผู้ฟ้องคดี จำนวน 489 คัน ตามสัญญาเลขที่ ร.50/2559 ลงวันที่ 30 ก.ย.59 แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีได้ส่งมอบรถยนต์โดยสารจำนวน 390 คันให้แก่ ขสมก.กลับไม่ยอมตรวจรับมอบรถยนต์โดยสารดังกล่าว และต่อมาได้บอกเลิกสัญญา ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฏหมาย ทำให้ได้รับความเสียหาย
ทั้งนี้ จากการชี้แจงของ ขสมก.ต่อศาลปกครองชั้นต้นให้เหตุผลในการบอกเลิกสัญญา เนื่องจากผู้ฟ้องคดีไม่มีเอกสารยืนยันว่ารถยนต์โดยสารที่ส่งมอบประกอบที่ประเทศมาเลเซีย และผู้ฟ้องคดีไม่สามารถส่งมอบรถยนต์โดยสารให้แก่ ขสมก.ครบจำนวนภายในระยะเวลาตามที่กำหนดในสัญญา ซึ่งเป็นการปฏิบัติผิดสัญญา ข้อ 2.1 และข้อ 7 ดังนั้น การเลิกสัญญายังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ ข้อเท็จจริงในชั้นนี้ยังไม่อาจรับฟังได้ว่า ขสมก.กระทำผิดสัญญา
และเมื่อ ขสมก.บอกเลิกสัญญากับผู้ฟ้องคดีแล้วก็ย่อมมีสิทธิริบหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาและเรียกให้ธนาคารผู้ค้ำประกันใช้เงินตามหนังสือค้ำประกัน แต่หากต่อมาปรากฎข้อเท็จจริงว่า ขสมก.เป็นฝ่ายผิดสัญญา ศาลย่อมกำหนดบังคับให้ ขสมก.ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ จึงไม่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง
นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงยังปรากฎอีกว่า ก่อนที่ศาลปกครองชั้นต้นจะได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราวนั้น ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ในฐานะธนาคารผู้ค้ำประกันได้ใช้เงินตามหนังสือค้ำประกันสัญญาให้แก่ ขสมก.ไปแล้วเป็นเงินจำนวน 338,971,082 บาท จึงไม่มีเหตุเพียงพอที่ศาลจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว
อย่างไรก็ตาม การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งให้ ขสมก.ระงับการกระทำการใดๆ เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องเงินประกันการปฏิบัติตามสัญญาจากธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย