เผยโฉมหน้า 32 หุ้นหมดแรงไปต่อ 8 เดือนรูด 30% พา นลท.ขาดทุนยับ!

เผยโฉมหน้า 32 หุ้นหมดแรงไปต่อ แค่ 8 เดือนราคาหุ้นรูดเกิน 30% พานักลงทุนขาดทุนป่นปี้!


ภาวะตลาดหุ้นไทยในระยะสัปดาห์ดูเหมือนจะปรับตัวขึ้นได้ดี ทั้งนี้หากนับตั้งแต่ต้นปีดัชนีมีการปรับตัวขึ้นถึง 14.42 จุด หรือคิดเป็น 5.81% นับตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.2559 อย่างไรก็ตามยังคงมีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) อยู่หลายบจ.ด้วยกันที่ปรับตัวลงสวนกระแสตลาดหุ้นไทย หลังเจอประเด็นข่าวร้าย และผลประกอบการไม่เป็นไปตามคาด

ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงได้ทำการสำรวจราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียน  (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในรอบ 8 เดือนที่ผ่านมา โดยเทียบราคาปิด ณ วันที่ 30 ธ.ค.59-30 ส.ค.60 ซึ่งใช้เกณฑ์การคัดเลือกราคาหุ้นที่ปรับตัวลงเกิน 30% และเป็นบริษัทที่มีการซื้อขายสม่ำเสมอ

สำหรับหุ้นที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวประกอบด้วย GL ,NPP ,FN ,TRITN ,FER ,STA ,NMG ,SCN ,SMT ,SLP ,ALT ,SCI ,STPI ,PERM ,SOLAR ,KAMART ,VIH ,NOK , PTG ,TNR ,PACE ,EVER ,ILINK ,AMC ,AMARIN ,TGPRO ,BIG ,HPF ,TFI ,EMC ,DEMCO และTKN

โดย บจ.5 อันดับแรกที่ราคาปรับตัวขึ้นเกิน 20% มีดังนี้

อันดับ 1 บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL ราคาหุ้นในรอบ 8 เดือนปรับตัวลง 65.76% มาอยู่ที่ระดับ 19.60 บาท (30 ส.ค.) ลบไป 37.65 บาท จากระดับ 57.25 บาท (30 ธ.ค.59)

โดยราคาหุ้นปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งผู้สอบบัญชีตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการปล่อยกู้ให้แก่บริษัทย่อย Group Lease Holdings Pte. Ltd (GLH) และ GLH ได้นำเงินดังกล่าวไปปล่อยกู้ให้บริษัทย่อยในสิงคโปร์ และไซปรัส โดยมีการนำหุ้น GL มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืม

ขณะที่ก่อนหน้านี้สำนักงานกำกับการบริการทางการเงินแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ FSA อนุมัติคำสั่งปรับบุคคลซึ่งถูกกล่าวโทษโดยคณะกรรมาธิการตรวจสอบและกำกับหลักทรัพย์ประเทศญี่ปุ่น ต่อนายมิทซึจิ โคโนชิตะ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GL กรณีซื้อ-ขายหลักทรัพย์ Wedge Holdings Co.,Ltd ด้วยวิธีการฉ้อฉลเป็นจำนวนเงิน 4.10 พันล้านเยน หรือราว 1.30 พันล้านบาท ซึ่งประเด็นดังกล่าวนั้นส่งผลกระทบต่อความโปร่งใสในการทำธุรกรรมของบริษัท

นอกจากนี้ยังมีประเด็นของการตั้งด้อยค่า หลังจากที่ GL ได้เข้าทำการซื้อหุ้นบริษัท Commercial Credit and Finance PLC หรือ CCF ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศศรีลังกา ทั้งหมดร้อยละ 29.99 ของหุ้นทั้งหมด ผ่านบริษัทย่อยในราคาซื้อ 2.46 พันล้านบาท โดยบริษัทย่อยเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวทั้งหมดราว 95.37 ล้านหุ้น ที่ราคาประมาณ 25.81 บาทต่อหุ้น แต่เมื่ออ้างอิงจากราคาหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ประเทศศรีลังกา ณ วันสิ้นไตรมาส 2/60 คือ 30 มิ.ย.2560 มูลค่าหุ้นดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 909 ล้านบาท

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการวัดมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ ซึ่งคาดว่าการประเมินมูลค่ายุติธรรมจะแล้วเสร็จในไตรมาสสามของปี 2560 จึงส่งผลให้เกิดความกังวลต่อผลประกอบการในไตรมาสดังกล่าว ว่าหากมีการตั้งด้อยค่าดังกล่าวจะส่งผลให้บริษัทประสบผลขาดทุนสุทธิได้

 

อันดับที่ 2 บริษัท นิปปอน แพ็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ NPP ราคาหุ้นในรอบ 8 เดือนปรับตัวลง 55.65% มาอยู่ที่ระดับ 0.55 บาท (30 ส.ค.) ลบไป 0.69 บาท จากระดับ 1.24 บาท (30 ธ.ค.59)

โดยราคาหุ้นปรับตัวลงต่อเนื่อง รับผลประกอบการที่ยังขาดทุนต่อเนื่อง ล่าสุดไตรมาส 2/60 บริษัทขาดทุนสุทธิ 3.48 ล้านบาท จากปีก่อนขาดทุนสุทธิ 52.91 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับกรณีที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับอดีตผู้บริหารของ NPP และผู้ถือหุ้นใหญ่รวม 2 ราย ได้แก่ นายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย และนางสาวรินนภา คุณะวัฒน์สถิตย์  กรณีซื้อหุ้นและชักชวนให้บุคคลอื่นซื้อหุ้น NPP และหลักทรัพย์ NPP-W1 โดยอาศัยข้อมูลภายใน โดยเรียกให้ชำระค่าปรับทางแพ่งรวม 10,336,293.33 บาท และส่งคืนผลประโยชน์รวม 7,602,368 บาท

นอกจากการถูกลงโทษด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งดังกล่าว ก.ล.ต. สั่งห้ามมิให้นายสุรพงษ์ เป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีมหาชนเป็นผู้ถือหุ้นเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน

 

อันดับที่ 3 บริษัท เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท จำกัด (มหาชน) หรือ FN ราคาหุ้นในรอบ 8 เดือนปรับตัวลง 55.58% มาอยู่ที่ระดับ 4.22 บาท (30 ส.ค.) ลบไป 5.28 บาท จากระดับ 9.50 บาท (30 ธ.ค.59)

โดยราคาหุ้นปรับตัวลงต่อเนื่อง รับผลประกอบการที่ยังไม่สดใส ล่าสุดไตรมาส 2/60 บริษัทมีกำไรสุทธิ 20.88 ล้านบาท ลดลง 42% จากปีก่อนขาดทุนสุทธิ 36.29 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา ราคาหุ้น FN ปรับตัวขึ้นแรง 19.67% ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศให้ FN เป็นหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย ระดับ 1 : Cash Balance มีผลตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย.2560 สิ้นสุดวันที่ 25 ก.ย. 2560

 

อันดับที่ 4 บริษัท ไทรทัน โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TRITN ราคาหุ้นในรอบ 8 เดือนปรับตัวลง 52.08% มาอยู่ที่ระดับ 0.23 บาท (30 ส.ค.) ลบไป 0.25 บาท จากระดับ 0.48 บาท (30 ธ.ค.59)

โดยราคาหุ้นปรับตัวลงต่อเนื่องรับผลประกอบการที่ยังขาดทุนต่อเนื่อง ล่าสุดไตรมาส 2/60 บริษัทขาดทุนสุทธิ 13.24 ล้านบาท จากปีก่อนขาดทุนสุทธิ 44.66 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนเกิดความวิตกและไม่กล้าเข้าลงทุนในหุ้นดังกล่าว

 

อันดับที่ 5 บริษัท เฟอร์รั่ม จำกัด (มหาชน) หรือ FER ราคาหุ้นในรอบ 8 เดือนปรับตัวลง 50% มาอยู่ที่ระดับ 0.44 บาท (30 ส.ค.) ลบไป 0.44 บาท จากระดับ 0.88 บาท (30 ธ.ค.59)

โดยราคาหุ้นปรับตัวลงต่อเนื่องรับผลประกอบการที่ยังขาดทุนต่อเนื่อง ล่าสุดไตรมาส 2/60 บริษัทขาดทุนสุทธิ 20.19 ล้านบาท จากปีก่อนขาดทุนสุทธิ 42.61 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนเกิดความวิตกและไม่กล้าเข้าลงทุนในหุ้นดังกล่าว

 

ทั้งนี้จะเห็นว่าบจ.ดังกล่าวที่ปรับตัวลง เกิดจากผลประกอบการที่ไม่สู้ดีนัก ขณะที่บางบจ.มีประเด็นข่าวที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของบริษัท ทำให้นักลงทุนเกิดความวิตกและทำการขายหุ้นออกมา อย่างไรก็ตามหุ้นที่ปรับตัวลงแรงนั้น หุ้นบางตัวอาจถูกปัจจัยลบส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลงแรง ทั้งนี้นักลงทุนยังสามารถเลือกซื้อหุ้นที่มีราคาถูกเหล่านี้ได้ หากบริษัทนั้นๆยังมีผลการดำเนินงานที่ดี และพื้นฐานยังแข็งแกร่ง เพราะหากมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งหุ้นจะมีโอกาสปรับตัวกลับขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว

*อนึ่งข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button