การปฏิวัติแพลตฟอร์ม

คำว่าแพลตฟอร์ม (ที่เป็นมากกว่าแท่นเครื่องหรือโครงรถยนต์) ยังไม่มีความหมายที่เหมาะสมกับภาษาไทย


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

คำว่าแพลตฟอร์ม (ที่เป็นมากกว่าแท่นเครื่องหรือโครงรถยนต์) ยังไม่มีความหมายที่เหมาะสมกับภาษาไทย นี่ถือเป็นข้อจำกัดของภาษาไทย

วันนี้ถ้อยคำที่ปราชญ์ภาษายังบัญญัติศัพท์ไม่ทันนี้ กำลังมีคนพูดถึงในบรรดาผู้บริหารองค์กรระดับยักษ์ใหญ่ทุกหนแห่งว่า นี่คือการปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้การฟื้นฟูศิลปวิทยาการของกรีก-โรมันที่หายไปนับพันปีเศษในคริสต์ศตวรรษที่ 15  และปฏิวัติอุตสาหกรรม 2 ครั้งในกลางและปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในยุโรปทีเดียว

ผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่ระดับหัวแถวของประเทศ หรือข้ามชาติคนไหน ไม่รู้จักคำนี้ติดอยู่ที่ริมฝีปาก มีโอกาสได้ตกงานเอาง่ายๆ เหมือนเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ผู้บริหารที่ไม่รู้จักคำว่า “โลกาภิวัตน์” จะต้องเชยระเบิดหรือกลายเป็นกึ่งไดโนเสาร์กันเลยทีเดียว

มีคนพยายามเอ่ยอ้างและอธิบายว่า การปฏิวัติแพลตฟอร์มที่โดดเด่นใน 10 ปีมานี้คือ การประดิษฐ์สินค้าจำพวกอุปกรณ์พกพาสารพัดรูปแบบ (iPod, iTune, iPhone, และ iPad) ที่มียอดขายถล่มทลายของ แอปเปิ้ล อิงค์ นำโดยสตีฟ จ๊อบส์ และพวกในอเมริกา และอื่นๆ จากเกาหลีใต้ และไล่ตามมาติดโดยจีน

ล่าสุด การปฏิวัตินี้ ยังไม่จบสิ้น และนักคิดร่วมสมัยทางด้านเทคโนโลยี ยังงมโข่งกับการลองผิดลองถูกเพื่อก้าวข้ามยุคสมัยที่กำลังจะผ่านไปเข้าสู่ยุคใหม่ของการเปลี่ยนโลกอันน่าตื่นใจ

คำอธิบายพื้นฐานที่ชัดเจนบนความคลุมเครือที่สุดที่เป็นไปได้ สำหรับไขปัญญาให้ทะลวงกระโหลกอันหนาเตอะของคนที่ปัญญามืดบอด แต่ต้องการแสงสว่างปลายอุโมงค์ ดูเหมือนจะมีสาระที่กว้างๆ แบบครอบจักรวาลที่ไม่ลงลึกเกินไป เพื่อเปล่งประกายปัญญาเหมือนผู้คนในอดีต โดยครอบคลุมสาระต่อไปนี้คือ

  • การปรับเปลี่ยนกระบวนการสนองตอบความต้องการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเชิงกว้างและลึกในการบริโภคสินค้า บริการ ค่าเงินสกุลต่างๆ และหลักทรัพย์ ที่สามารถเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงและรู้เท่าทันทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์
  • การสร้างหรือยกระดับคุณภาพและมูลค่าเพิ่มของการใช้ทรัพยากรที่มีขีดจำกัด เพื่อให้คนที่ไม่ได้ครอบครองหรือควบคุมทรัพย์สินทางกายภาพ ได้มีส่วนหาประโยชน์ด้วยในอัตราที่เร็วกว่าผู้ที่ครอบครองในแบบเดิมที่คุ้นเคยกันมา
  • แพลตฟอร์มใหม่ที่ผ่านการแปรสภาพที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผู้มีส่วนได้เสียที่ถูกสร้างขึ้นมาในระดับที่โดดเด่นกว่าเดิม 
  • แพลตฟอร์มที่ฉีกกระจุยช่องว่าง หรือปริมณฑลทางธุรกิจในแบบจารีต และแปรเปลี่ยนบริษัทที่มีจารีตให้หันมาสร้างมุมมองใหม่กับโลกหรือปัจจัยภายนอกในเชิงบวก
  • การถือกำเนิดของแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่มีส่วนดัดแปลงหรือพัฒนาให้เกิดแพลตฟอร์มใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคธุรกิจหรือองค์กรเดิมและคู่แข่งด้วย

นิยามข้างต้น นำไปสู่คำอธิบายว่า ธุรกรรมทางด้านปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่เริ่มตั้งแต่ครั้งยักษ์สีฟ้า (IBM) ของสหรัฐฯ สร้างปรากฏการณ์ระลอกแรกของการปฏิวัติทางกระบวนทัศน์ครั้งที่พลิกโฉมเทคโนโลยีระดับโลกชนิดผ่าทางตัน ด้วยการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์แบบเมนเฟรมเป็นเครือข่ายการประเมินผลยุคใหม่ โลกไม่เคยหวนย้อนกลับไปเหมือนเดิมได้อีก

คำถามคือ ภายใต้เส้นทางของการปฏิวัติแพลตฟอร์ม (ที่ยามนี้กลายเป็นคำติดปากผู้บริหาร องค์กรธุรกิจจนเริ่มเกร่อ ทำนองเดียวกับคำว่า global village และ โลกไร้พรมแดน ในยุคเริ่มต้นการประดิษฐ์คำว่าโลกาภิวัตน์) จะส่งผลสะเทือนต่ออนาคตของปุถุชนและโครงสร้างทางสังคมมากน้อยแค่ไหน

แพลตฟอร์มของโลกร่วมสมัยและอนาคตอันใกล้ เป็นที่ยอมรับกันชัดเจนแล้วว่า ตลาดที่เป็นเครือข่ายมากกว่าสองมิติ ได้ผลักดันให้องค์กรธุรกิจจำต้องค้นหาโมเดลธุรกิจที่ยืดหยุ่นรับมือการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ เศรษฐกิจ และสังคมอย่างลึกซึ้ง

เพียงแต่กระแสสร้างโมเดลธุรกิจรับมืออนาคตยังกระจุกตัว จำกัดในกลุ่มคนที่เป็นระดับหัวกะทิขององค์กรขนาดกลางและใหญ่มากเท่านั้น เรื่องดังกล่าวย่อมมีโอกาสถูกคนที่เป็นนักฉวยโอกาสยึดอำนาจรัฐที่เปราะบางได้ง่ายแบบ “ผีเสื้อกระพือปีก” ฉกฉวยเอาไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายๆ

โอกาสสำเร็จมหาศาลในขอบเขตทั่วโลก แบบที่เคยเกิดกับเทพนิยายเดินดินอย่าง Google, Amazon, Alibaba , Uber, Airbnb, และ Tencent จึงโดดเด่นในการสร้างแบรนด์ใหม่ ในฐานะตัวแทนร่วมชะตากรรมท่ามกลางปัญหาสารพัด รวมทั้งข้อสังเกตว่า จะกลับมาเกิดอีกได้หรือไม่

แพลตฟอร์มที่โดดเด่นในการเชื่อมโยงเครือข่ายมวลชนมากที่สุด มีโครงสร้างและวิสัยทัศน์ เพื่อเปิดทางให้กับการสนทนากลายเป็นรูปธรรมเพื่อส่งมอบภารกิจให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักในศักยภาพของมนุษย์ทั่วไป ถือว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในอนาคต

ยิ่งใครสามารถใช้ประโยชน์จากเครือข่ายมวลชนที่มากสุด คนนั้นคือผู้ที่ทรงอิทธิพลที่อยู่เหนืออำนาจเชิงบวกเสียที

การปฏิวัติแพลตฟอร์มระลอกนี้ จะมีผลมากน้อยต่อโครงสร้างทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของทุกประเทศมากน้อยแค่ไหน ยังต้องตามประเมิน

รวมทั้ง สังคมไทยจากรูปธรรมของอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จที่พยายามควบคุมสถานการณ์ไว้ใต้พรม และสวนทางกับ “ไทยแลนด์ 4.0” ก็ไม่มีใครรู้ว่าจะนำไปสู่อะไร เพราะยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ว่า จะรับมือกับการปฏิวัติแพลตฟอร์มนี้ดีเพียงใดในห้วงยามที่เกิดการการเคลื่อนย้ายฐานที่มาของภาคเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ จากการล่มสลายของภาคเกษตรและอาหารแบบเดิม และการชะลอตัวของภาคการผลิต มาสู่ภาคการค้าและภาคบริการ

Back to top button