พาราสาวะถีอรชุน
๑๑ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดอกเตอร์ปื๊ด ยังเป็นปมถกเถียงกันว่าจะทำหรือไม่ทำประชามติ ขณะที่ผู้มีอำนาจเต็มเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังแทงกั๊กพร้อมออกปากบ่น ทำหรือไม่ทำต้องดูความเหมาะสม งบประมาณ 3 พันล้านบาทจะคุ้มค่าหรือไม่ จุดใหญ่ใจความคือ อย่าให้ใครไปชี้นำประชาชน
๑๑ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดอกเตอร์ปื๊ด ยังเป็นปมถกเถียงกันว่าจะทำหรือไม่ทำประชามติ ขณะที่ผู้มีอำนาจเต็มเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังแทงกั๊กพร้อมออกปากบ่น ทำหรือไม่ทำต้องดูความเหมาะสม งบประมาณ 3 พันล้านบาทจะคุ้มค่าหรือไม่ จุดใหญ่ใจความคือ อย่าให้ใครไปชี้นำประชาชน
๑๑พอเกิดอาการแทงกั๊กจึงเป็นช่องทางให้มีคนนำไปขยายผลต่อ หรือว่าบิ๊กตู่ต้องการจะสืบทอดอำนาจอยู่ยาวกว่าโรดแมป คำตอบสุดท้ายคงจะจบในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ ที่จะมีการประชุมร่วมกันระหว่างคสช.กับครม.เพื่อเคาะประเด็นในการเสนอความเห็นไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะได้รู้กันเสียทีฟังหรือไม่ฟังความเห็นประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
๑๑ต้องเป็นไปตามนั้น วิษณุ เครืองาม บ่น ไม่ว่าทำหรือไม่ทำรัฐบาลก็โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง แต่จะใช้ตรรกะเช่นนี้อย่างเดียวไม่ได้ ไม่ว่าจะทำหรือไม่ ต้องอธิบายให้สังคมทั้งคนไทยและต่างชาติเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นประชาธิปไตยแบบไหน เป็นไปตามหลักสากลและเกิดความเป็นธรรมกับคนโดยส่วนใหญ่หรือไม่
๑๑แต่ไม่ว่าจะอย่างไรสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักข่าวไทยพับลิก้า ประชาไท และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ ก็ได้จัดงานเปิดตัวเว็บไซต์ประชามติไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมหลากหลาย ทั้งนักการเมือง นักวิชาการ เอ็นจีโอ กรรมาธิการยกร่างบางรายและสื่อมวลชน
๑๑โดย จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการไอลอว์และผู้ผลักดันคนสำคัญที่ทำให้เกิดเว็บไชต์ประชามติ ระบุว่า ในฐานะภาคประชาชนต้องคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีพื้นที่อิสระที่จะแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีผลกระทบระยะยาวต่อประชาชน และที่สำคัญคือในเรื่องของการแก้ไขถูกออกแบบมาให้แก้ไขได้ยาก การที่จะให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดว่าจะผ่านหรือไม่ผ่านมีความสำคัญ
๑๑ขณะที่ เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา อธิบายต่อว่า แม้จะบอกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชนมาแล้ว แต่อย่าลืมว่าความเป็นตัวแทนประชาชนมันไม่สามารถครอบคลุมได้ทั้งหมด ดังนั้น การทำประชามติจึงควรจะเกิดขึ้น แต่ตอนนี้ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ จึงต้องมาทำผ่านเว็บไซต์ประชามติ อย่างน้อยผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตก็สามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็นได้
๑๑อย่างไรก็ตาม ในช่วงจังหวะที่มีการตั้งคำถามเรื่องการทำประชามติ สภาพัฒนาการเมืองได้มีข้อสรุปที่ชัดเจนต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว โดย ธีรภัทร เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมืองนำคณะแถลงมติของที่ประชุมสภาพัฒนาการเมือง “ไม่เห็นชอบ” กับร่างแรกของรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯพิจารณาแล้วเสร็จ เนื่องจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองและปัญหาความขัดแย้งของประเทศได้อย่างแท้จริง
๑๑พร้อมๆ กับเสนอแนวคิดให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯนำไปปรับแก้ใน 3 ประเด็นคือ กรอบแนวคิดของการยกร่างฯ ไม่ให้ความสำคัญกับภาคพลเมืองอย่างแท้จริง ควรทำให้ภาคพลเมืองเป็นใหญ่ มีสภาพลเมืองขับเคลื่อนงานใน 3 ระดับคือ ระดับตำบล จังหวัดและระดับชาติ ปมตรงนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นเพียงการมองต่างมุมหรือไม่ เพราะในร่างของคณะกรรมาธิการนั้นก็วางแนวทางไว้อยู่
๑๑แต่อีกสองประเด็นนั้นน่าสนใจคือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้เสถียรภาพและโครงสร้างทางการเมืองเกิดปัญหา หากรัฐธรรมนูญบังคับใช้จะทำให้รัฐบาลเกิดความอ่อนแอ โดยเฉพาะที่มาของนายกรัฐมนตรี การได้มาซึ่งส.ส.และส.ว. จะทำให้เกิดการต่อรองอำนาจ การขับเคลื่อนงานต่างๆ จะเกิดปัญหา
๑๑สุดท้ายคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจ เพราะการตั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศและการสรรหาคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเป็นการต่อยอดการทำงานของสปช.และขั้วอำนาจในปัจจุบัน ทั้งยังเป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขยาก เป็นรัฐธรรมนูญฉบับศรีธนญชัยที่เขียนแบบซ่อนเงื่อนและจะสร้างปัญหาตามมาภายหลัง
๑๑ตรงไปตรงมา ซึ่งคงไม่ต้องให้คณะกรรมาธิการยกร่างฟัง แต่อยากให้ถึงหูของครม.และคสช. ส่วนนำไปเป็นข้อเสนอ เพราะเชื่อว่ามีพลังมากพอที่จะทำให้ บวรศักดิ์ อุวรรณโณและ 35 มหาปราชญ์ยอมทำตาม แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเวลานี้ เริ่มมีคนการเมืองที่หนีไปห่มผ้าเหลืองออกมาแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญถี่ยิบ ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ปกติแน่นอน
๑๑ไม่รอดสันดอนตามคาด บุญทรง เตริยาภิรมย์ พร้อม ภูมิ สาระผล และ มนัส สร้อยพลอย ถูกสนช.มีมติสอยให้พ้นจากตำแหน่งกรณีทุจริตขายข้าวในโครงการรับจำนำแบบจีทูจีให้รัฐบาลจีน ผลคือต้องเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี นี่อาจเป็นสัญญาณอันตรายไปถึงอดีต 250 ส.ส.ที่เรื่องอยู่ในชั้นของสนช.เช่นเดียวกัน เมื่อต่อจิ๊กซอว์เข้ากับการต่ออายุให้ประธานและกรรมการป.ป.ช.ที่กำลังจะหมดวาระโดยมาตรา 44 ยิ่งน่าคิด
๑๑หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่มีการแก้ไข หมายความว่า อดีตสมาชิกบ้านเลขที่ 109 และ 111 จะตายเกลี้ยงพ่วงเอาอดีตส.ส.ไปอีก 250 ชีวิต เป็นพรรคของนายใหญ่และเครือข่ายล้วนๆ เช่นนี้คงจะเข้าทางพรรคเก่าแก่เห็นๆ
๑๑แต่อย่าลืมว่า กติกาเลือกตั้งที่ร่างโดยหลักกูเพื่อหวังจะทำลายล้างพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดนั้น ท้ายที่สุด ต้องดูมติเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนว่าจะเลือกใครมาบริหารประเทศ พรรคของระบอบทักษิณแม้หัวเรือใหญ่จะถูกประหารชีวิตไปหมด แต่ถ้ากองหนุนอยากจะเลือกเป็นใครก็ได้ ดีไม่ดีอาจจะมีการรณรงค์เรื่องโหวตโนเสียด้วยซ้ำ
๑๑ตรงนั้นแหละที่จะเป็นบทพิสูจน์ใจที่อ้างเรื่องหลักการและความเป็นธรรมของผู้มีอำนาจและองคาพยพที่เกี่ยวข้องเวลานี้ ถ้าเสียงไม่เลือกใครมีมากกว่าเสียงที่เลือกหวยล็อก จะเดินหน้ากันอย่างไร และหากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นจะผ่าทางตันกันแบบไหน หากไม่ใช่กฎหมายพิเศษเชื่อได้ว่าน่าจะคุมสถานการณ์ได้ยาก ซึ่งนั่นหมายความว่า ประชาธิปัตย์ที่ดูเหมือนจะได้เปรียบรับอานิสงส์จากผลของรัฐธรรมนูญ อาจจะไม่เป็นเช่นนั้น