ครม.เห็นชอบแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ปี 60-64 ชู 5 มาตรการหลัก เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
ครม.เห็นชอบแผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่ 3 (ปี 60-64) ชู 5 มาตรการหลัก เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้มีมติเห็นชอบในหลักการร่างแผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่ 3 (ปี 60-64) ภายใต้วิสัยทัศน์ เข้าถึง แข่งขันได้ เชื่อมโยง และ ยั่งยืน โดยมีมาตรการหลัก 5 มาตรการ แบ่งเป็นมาตรการย่อย 14 มาตรการ และ แผนงานสนับสนุน 44 แผนงาน
สำหรับมาตรการหลักที่ 1 การเป็นแหล่งทุนสำหรับ SMEs และนวัตกรรม ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับ SMEs เช่น กลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) หรือกลุ่มผู้ที่มีความรู้ความคุ้นเคยเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเงินอย่าง FinTech โดยจะมีการออกหลักเกณฑ์เพื่อพัฒนาเครื่องมือระดมทุนจากบุคคลจำนวนมากด้วย Crowdfunding สำหรับตราสารหนี้และการให้กู้ยืมโดยใช้สัญญาเงินกู้ผ่าน Social Media/Platform, จัดทำกลไก credit scoring ให้แก่ SMEs, สนับสนุนการจับคู่ธุรกิจและเปิดโอกาสการระดมทุนสำหรับ Startup/Venture Capital, พัฒนา Platform รองรับการซื้อขายสำหรับนักลงทุนที่ได้รับการรับรอง (Accredited Invester) และนักลงทุนบุคคลที่ยอมรับความเสี่ยงได้
มาตรการหลักที่ 2 การเป็นแหล่งระดมทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น การเพิ่มรูปแบบการระดมทุนแบบ PPP ในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยจะมีการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรค เพื่อให้หน่วยงานสามารถนำส่วนแบ่งรายได้จากทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานมาเข้ากองทุนได้ และเพิ่มขนาดตลาดทุนไทย แก้เกณฑ์รองรับการตั้ง Thailand Future Fund และปรับปรุงเกณฑ์ภาษีของ Infrastructure Fund
มาตรการหลักที่ 3 การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งทุนด้วยต้นทุนที่แข่งขันกับคู่แข่งในต่างประเทศ ตลอดจนดูแลให้ประชาชนมีโอกาสและทางเลือกในการเข้าถึงช่องทางลงทุนในต้นทุนที่เหมาะสมและได้รับการคุ้มครองที่เพียงพอ
ทั้งนี้ จะมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับผู้ประกอบธุรกิจและจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนให้กับนักลงทุน เช่น การแก้ไข พ.ร.บ.บริษัทมหาชนฯ ให้ บมจ.รองรับ E-proxy E-voting และ ออกหุ้นกู้โดยไม่ต้องขอมติผู้ถือหุ้น, เปิดให้บุคคลที่ไม่ใช่ผู้ออกหลักทรัพย์สามารถนำหลักทรัพย์มายื่นขอจดทะเบียนเพื่อทำการซื่อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้, การออก Covered Bond, ผ่อนคลายให้สามารถทำธุรกรรมตลาดทุนเป็นเงินตราต่างประเทศได้ เป็นต้น
นอกจากนั้น เพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมในธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจตลาดหลักทรัพย์เพิ่มทางเลือกให้แก่นักลงทุนรองรับรูปแบบการทำธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยี เช่น การปรับกติการองรับรูปแบบการทำธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีแทนคน, แก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพื่อให้สมาชิกซื้อขายผ่านระบบทางเลือกได้, แก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพื่อให้การเปิด trading access เป็นการตัดสินใจของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อชื่อมโยงตลาดอื่น, ศึกษาการจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมสำหรับตลาดทุนไทย
พร้อมกันนั้นจะมีการยกระดับมาตรฐานและความน่าเชื่อถือของตลาดทุนไทย ทั้งในเรื่องโครงสร้างและการตัดสินใจของ ตลท.การรองรับมาตรฐานสากลและประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย และการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อใช้วิเคราะห์การลงทุน แก้ไขกฎหมายเพื่อให้สามารถนำมาตรฐานบัญชีระหว่างประเทศมาใช้แทนมาตรฐานบัญชีไทยได้ รวมทั้งการสร้างบุคลากรในตลาดทุน ซึ่งจะมีการพัฒนาทักษะความรู้ และเพิ่มจำนวนบุคลากร
มาตรการหลักที่ 4 การพัฒนาให้ตลาดทุนไทยเป็นจุดเชื่อมโยงของภูมิภาค ส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขันเชื่อมโยง สามารถเป็นแหล่งระดมทุนสำคัญของภูมิภาคและมีผลิตภัณฑ์ในระดับภูมิภาคที่พร้อมรองรับการเป็นแหล่งลงทุนสำคัญสำหรับนักลงทุนทั่วโลกที่ต้องการลงทุนในภูมิภาค โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV เช่น การอำนวยความสะดวกให้เกิด GMS-related product อำนวยความสะดวกให้แต่นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการนำเงินไปลงทุนใน CLMV ผลักดันให้บริษัทในกลุ่ม CLMV ใช้ไทยเป็นแหล่งลงทุนและระดมทุน เตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้ไทยเป็นจุดเชื่อมโยงให้บริการด้านการเงินของภูมิภาค ขจัดอุปสรรคและส่งเสริมให้ผู้ให้บริการรทางการเงินของไทยสามารถให้บริการธุรกรรมด้านตลาดทุนและนักลงทุนใน CLMV
มาตรการหลักที่ 5 การมีแผนรองรับสังคมผู้สูงอายุ มีระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุ จัดให้มีผู้ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและกำกับดูแลระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุทุกระบบของประเทศ และจัดตั้งระบบทำเบียนกลางด้านบำเหน็จบำนาญของประเทศ (central registrar) และมีระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบเพื่อเพิ่มรายได้หลังเกษียณ พัฒนาความรู้ทางการเงินขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชนเพื่อให้สามารถตัดสินใจทางการเงินได้อย่างมีเหตุผล และออกกฎหมายรองรับธุรกิจสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) โดยให้ผู้สูงอายุได้รับเงินเป็นงวดสำหรับการอุปโภคบริโภคผ่านการจำนองที่อยู่อาศัยของตนกับสถาบันการเงิน