อันตรายกฎหมายฟอกเงิน

ศาลอาญายกฟ้อง “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” หลังจาก ปปง.ยึดอายัดทรัพย์สินบริษัทโอเอทรานสปอร์ต 13,200 ล้าน แทนที่สังคมไทยจะตั้งคำถามว่า ถ้าคดีถึงที่สุดแล้วจำเลยไม่มีความผิด ใครจะรับผิดชอบธุรกิจของเขาที่ล้มทั้งยืน ข่าวที่ตามมากลับกลายเป็นข่าวย้ายผู้กำกับ ข่าว “เกาเหลา” พลตำรวจตรี ใหญ่กว่า พลตำรวจเอก และ “ข่าวลือ” วิ่งเต้นล้มคดี 50 ล้าน


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

ศาลอาญายกฟ้อง “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” หลังจาก ปปง.ยึดอายัดทรัพย์สินบริษัทโอเอทรานสปอร์ต 13,200 ล้าน แทนที่สังคมไทยจะตั้งคำถามว่า ถ้าคดีถึงที่สุดแล้วจำเลยไม่มีความผิด ใครจะรับผิดชอบธุรกิจของเขาที่ล้มทั้งยืน ข่าวที่ตามมากลับกลายเป็นข่าวย้ายผู้กำกับ ข่าว “เกาเหลา” พลตำรวจตรี ใหญ่กว่า พลตำรวจเอก และ “ข่าวลือ” วิ่งเต้นล้มคดี 50 ล้าน

กลายเป็นสื่อและสังคมตัดสินแทนศาลไปแล้วว่า “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ผิดจริง แต่ดิ้นหลุดเพราะวิ่งเต้นให้สำนวนอ่อน

พูดอย่างนี้ไม่ได้มารับประกันว่า บริษัทที่เกี่ยวข้องกับทัวร์ศูนย์เหรียญไม่มีความผิด หรือไม่มีวิ่งเต้น ฯลฯ นั่นเป็นคดีที่ยังสู้กันอีก 2 ศาล

แต่ประเด็นที่สังคมควรตั้งคำถามในเชิงหลักการ คือการให้อำนาจ ปปง.ยึดอายัดทรัพย์สินผู้ถูกกล่าวหาไปก่อน ทั้งที่ศาลยังไม่ตัดสิน สอดคล้องหลักความยุติธรรมหรือไม่ แล้วถ้าศาลยกฟ้องในภายหลัง จะทำอย่างไร

คดีนี้เริ่มจากตำรวจจับทัวร์จีน 2 บริษัท ระบุว่านำนักท่องเที่ยวเข้ามาแบบ “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” แล้วใช้รถทัวร์ฟรีของบริษัทโอเอทรานสปอร์ต ซึ่งนำนักท่องเที่ยวไปซื้อสินค้าจากร้านค้าในเครือในราคาแพงกว่าท้องตลาด

พฤติกรรมเหล่านี้ฟังดูไม่ถูกหรอก แต่ย้อนดูข่าวในสื่อช่วงนั้นก็มีคนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอธิบายว่าปัญหามาจากต้นทาง บริษัทในจีนขายทัวร์ต่ำกว่าทุน แล้วส่งมาให้บริษัทในไทยหารายได้เอง ทำเช่นนี้มานาน ทำกันเกือบทุกประเทศที่รับทัวร์จีน

กระนั้น ประเด็นสำคัญที่ศาลยกฟ้องคือ นักท่องเที่ยวไม่ได้ให้การว่าถูกบังคับหรือถูกเอารัดเอาเปรียบ

ว่าที่จริงเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลมีนโยบายจัดระเบียบ จับกุมแล้วตั้งข้อหาเป็นคดีๆ ไป เช่น ฉ้อโกง บังคับข่มขืนใจ ฯลฯ แต่คดีนี้ตำรวจตั้งข้อหา “อั้งยี่ซ่องโจร” มีพฤติกรรมเป็นขบวนการ เข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงิน

แล้วจากความเสียหายในคดี 98 ล้านบาท ปปง.ก็สั่งอายัดทรัพย์สินโอเอทรานสปอร์ต 3,600 ล้าน ส่งฟ้องศาลแพ่งให้ยึด ขณะที่รถทัวร์ 2,500 กว่าคัน ก็ถูกอายัดไว้จนเลย 90 วันตามกฎหมาย

คำถามคือถ้าสู้คดีกันถึงฎีกาแล้วศาลยกฟ้อง ศาลแพ่งเพิกถอนอายัดทรัพย์ จะทำอย่างไร เพราะธุรกิจหมื่นกว่าล้านของโอเอทรานสปอร์ตพังพินาศไปแล้ว ไหนจะดอกเบี้ยเงินกู้ ไหนจะต้องรับผิดชอบพนักงานหลายพันคน ไหนจะรถทัวร์ที่จอดทิ้งไว้ข้ามปี (หรือ 2-3 ปี)

ถ้าคดีจบแบบนี้ เขาฟ้องกลับแน่ (เพราะศาลชี้ว่าข้อหาอั้งยี่ไม่มีข้อเท็จจริง) แต่สังเกตให้ดีตำรวจก็เตรียมคดีหนีภาษีไว้อีกข้อหา

คดีโอเอทรานสปอร์ตไม่ใช่คดีแรก ที่ ปปง.ยึดอายัดแล้วศาลยกฟ้อง แต่เป็นคดีที่มีมูลค่าสูงสุด คดีอื่นๆ ไม่ปรากฏเป็นข่าวว่า “ผู้เสียหาย” ประสบชะตากรรมอย่างไรหลังได้กลับมาเป็นผู้บริสุทธิ์อีกครั้งและได้ทรัพย์สินคืน

สมัย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินออกมาใหม่ๆ เมื่อปี 2542 ก็เคยวิตกกันว่าจะเป็น “ดาบสองคม” แต่เวลาผ่านไป ดูเหมือนสังคมไทยกลับนิยม “ยาแรง” มีการแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจเรื่อยๆ จากฐานความผิด 7 ฐานก็ขยายเป็น 21 ฐาน ที่เคยให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมเสนอชื่อคณะกรรมการธุรกรรมด้วย ก็ตัดออกไป (ในยุคนี้นี่เอง)

กฎหมายฟอกเงินมีใช้ทั่วโลก แต่การให้อำนาจยึดอายัดทรัพย์ก่อนศาลตัดสิน (ก่อนส่งฟ้องศาลด้วยซ้ำ) เป็นอำนาจอันตรายที่ต้องใช้อย่างจำกัด ระมัดระวัง ใช้กับความผิดที่เป็นภัยร้ายแรงเท่านั้น เพราะถ้าเกิดความผิดพลาดแล้ว จะเกิดความเสียหายที่เยียวยาไม่ได้ในภายหลัง

Back to top button