ฝนตกไม่ทั่วฟ้า
คำถามตัวใหญ่ๆ ว่าเหตุใดตัวเลขที่ตอกย้ำว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตฟื้นตัวชัดเจน แต่คนทั่วไปกลับไม่รู้สึกดีเอาเสียเลย ไม่ใช่เรื่องแปลก
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
คำถามตัวใหญ่ๆ ว่าเหตุใดตัวเลขที่ตอกย้ำว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตฟื้นตัวชัดเจน แต่คนทั่วไปกลับไม่รู้สึกดีเอาเสียเลย ไม่ใช่เรื่องแปลก
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบ “ฝนตกไม่ทั่วฟ้า” เช่นนี้ เคยทำให้เกิดการปฏิวัติในฝรั่งเศสปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 มาแล้ว และมีส่วนทำให้อังกฤษหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สองมีความวุ่นวายทางการเมืองมากมาย ยังไม่นับรวมถึงเหตุการณ์ “ฟองสบู่แตก” ที่ฮอลแลนด์และฝรั่งเศสจากเหตุการณ์ Tulip Bubble กับ Southsea Bubble …แล้วก็ตลาดหุ้นพังในสหรัฐฯหลังยุค Rolling Twenties อันเป็นตำนานยุคแจ๊ส
หากไม่อยากทบทวนความทรงจำเก่าๆ ทางประวัติศาสตร์ให้ยุ่งยาก แล้วหันมาพิจารณาตัวเลขที่สะท้อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างอสมมาตรในรอบนี้ นักคิดทางเศรษฐศาสตร์จะเห็นความไม่ปกติได้ชัดเจนว่า ไม่แปลกใจที่คนส่วนใหญ่ของประเทศจะรู้สึกแบบนั้น
จะน่าแปลกกว่าหากไม่รู้สึกรู้สาอะไรเลย
ในด้านบวก สภาพัฒน์ หรือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2560 ขยายตัวถึง 3.7% ขยายตัวมากกว่าที่ “นักวิเคราะห์” คาดการณ์เอาไว้
ปัจจัยเติบโตมาจากภาคส่งออกที่ขยายตัวถึง 8% ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวในระดับ 8.8% สะท้อนภาพดีมานด์ในฝั่งของต่างประเทศได้ชัดเจน ขณะที่ดีมานด์ในประเทศ คือ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน โดยทั้งสองตัวก็เติบโตเล็กน้อย ในระดับ 3% และ 3.2% ตามลำดับ
ตัวเลขจากสถาบันวิจัยป๋วยอึ๊งภากรณ์ ซึ่งเก็บข้อมูลการส่งออกและนำเข้าสินค้ากว่า 500 ล้านรายการในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา พบว่า ภาคส่งออกไทยมีการ “กระจุกตัว” ในระดับที่สูงมาก โดยจำนวนผู้ส่งออกไทยที่ใหญ่ที่สุด 5% มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึง 88% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ขณะเดียวกันยังพบว่า ประเทศไทยมีบริษัทจดทะเบียนรวม 435,121 บริษัท ในจำนวนนี้มีการค้าขายระหว่างประเทศเพียง 12.2% และเป็นบริษัทที่ส่งออกเพียง 5.7%
ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนความอุปลักษณ์เชิงโครงสร้างที่ชัดเจนว่า ธุรกิจเกี่ยวการส่งออกเป็นกิจการของผู้ประกอบการ “ส่วนน้อย” ทั้งที่เป็นหัวขบวนของเครื่องจักรหลักของเศรษฐกิจไทย ผลลัพธ์คือ การส่งออกที่เติบโตดี มีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้นที่ได้ประโยชน์เต็มๆ และส่วนใหญ่ยังเป็นบริษัทข้ามชาติ
หากลงลึกไปกว่านั้น จะพบว่า ในกรณีค่าบาทแข็งจนถึงขั้นกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติต้องขัดแย้งทางมุมมองต่อกันล่าสุด มีประเด็นส่วนหนึ่งเกิดจากนักลงทุนข้ามชาติเองก็ไม่ค่อยมีที่ไป เพราะราคาทรัพย์สินในหลายประเทศได้ปรับสูงเกินปัจจัยพื้นฐาน แต่สำหรับตลาดไทยยังมีช่องว่างให้ปรับขึ้นได้อีกจากราคาสินทรัพย์ที่ยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว และความเสี่ยงเรื่องภาวะฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ต่ำ ก็เป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวเท่านั้น
ความผันผวนของค่าเงิน ทั้งจากฟันด์โฟลว์ไหลออกแรงอย่างปี 2558 และไหลเข้าแรงในปีนี้ หากเจาะลึกลงไป จะพบว่า บริษัทขนาดใหญ่แทบไม่ได้รับผลกระทบกับเงินที่แปรปรวน เพราะส่วนหนึ่งมีการนำเข้าสินค้าทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งยังทำประกันความเสี่ยง (เฮดจิ้ง) จากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน ต่างจากผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ ทั้งยังไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะทำเฮดจิ้งค่าเงิน
ร้ายลึกลงไปกว่านั้น ตัวเลขการบริโภคในประเทศที่เติบโตได้ระดับ 3% ส่วนใหญ่เป็นผลจากการบริโภคของ “นักท่องเที่ยว” และกลุ่มคนในระดับกลางถึงบนขึ้นไป ที่ยังมีศักยภาพสูงในการใช้จ่าย
ความจริงแล้ว หากยึดเอาข้อมูลของ สศช. ที่ชี้ชัดว่า การบริโภคภาคเอกชน (ไม่นับรวมการใช้จ่ายของคนไทยในต่างประเทศ และคนต่างประเทศที่มาเที่ยวในไทย) จะพบว่าขยายตัวได้เพียง 2.5% เท่านั้น และการขยายตัวในส่วนนี้ยังเกิดจาก การซื้อสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ เป็นหลัก ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปค่อนข้างทรงตัว
ยอดรายได้และกำไรที่ถดถอยของธุรกิจค้าปลีกที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ที่จำต้องจัดแผนส่งเสริมการขาย (ลดแหลก แจก แถม ชิงโชค ฉลองครบรอบปี) ล้วนบ่งบอกว่า กำลังซื้อของคนในประเทศยังอ่อนแอ โดยเฉพาะกลุ่มคนระดับกลาง-ล่าง
ภาวะ “แข็งนอก อ่อนใน” ของเศรษฐกิจไทย จึงน่าอึดอัดยิ่งยามนี้ เพราะไม่มีใครบอกได้ว่าเป็นภาวะชั่วคราวหรือยั่งยืน
สุ้มเสียงของฝ่ายราชการที่พยายามป่าวร้องตัวเลขทางบวก ที่สวนทางกับอารมณ์ของตลาดยามนี้ ยังเป็นภาวะย้อนแย้งที่ต้องการคำตอบว่า เมื่อใดจะเกิดสภาพไปในทิศทางเดียวกันได้เสียที
คำตอบน่าจะอยู่ที่ว่าเมื่อใดที่ “ฝนตกทั่วฟ้า” หรือ “ฝนแล้งทั่วเมือง” ซึ่งน่าจะเป็นคำตอบที่ง่าย แต่ไม่พึงปรารถนามากที่สุด