‘ภาษีบาป’ มีพระคุณ

กรมสรรพสามิตขึ้นภาษีเหล้าบุหรี่อีกรอบหลังประกาศใช้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ ซึ่งอ้างว่าไม่ได้ต้องการจัดเก็บรายได้ แต่มุ่งสร้างมาตรฐานการจัดเก็บภาษีให้เป็นสากล โดยใช้ราคาขายปลีกมาคำนวณภาษีสรรพสามิต จากเดิมที่ใช้ราคานำเข้าหรือราคาหน้าโรงงาน


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

กรมสรรพสามิตขึ้นภาษีเหล้าบุหรี่อีกรอบหลังประกาศใช้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ ซึ่งอ้างว่าไม่ได้ต้องการจัดเก็บรายได้ แต่มุ่งสร้างมาตรฐานการจัดเก็บภาษีให้เป็นสากล โดยใช้ราคาขายปลีกมาคำนวณภาษีสรรพสามิต จากเดิมที่ใช้ราคานำเข้าหรือราคาหน้าโรงงาน

การขึ้นภาษีก็เลยลักลั่น ขึ้นมากขึ้นน้อยแตกต่างกัน พ่อค้าแม่ค้ายังสับสน เพราะประกาศภาษีใหม่แล้วยังไม่รู้ราคา ต้องรอให้บริษัทเหล้าเบียร์บุหรี่กำหนดราคาขายปลีกแต่ละยี่ห้อ ซึ่งจะมีผลย้อนไปคำนวณภาษี

เอาไว้ราคานิ่งแล้วคงถูกชำแหละอีกที เพราะหลายคนวิจารณ์ว่า การกำหนดภาษีตามราคาขายปลีก จากเดิมที่เก็บตามราคาโรงงานหรือตามปริมาณ (เช่นเหล้าเบียร์คิดตามดีกรี) จะทำให้เบียร์กับเหล้ามีราคาไม่ต่างกัน คนจะหันกลับไปดื่มเหล้าขาวซึ่งมีดีกรีสูงกว่า เช่นเดียวกับไวน์นำเข้า ราคาเกิน 1,000 บาท เก็บภาษีแพง ก็จะเกิดการบิดเบือนราคา แล้วถ้าโครงสร้างภาษีทำให้คนหันไปดื่มแอลกอฮอล์ราคาถูก ก็แปลว่าไม่ได้คำนึงถึงสุขภาพประชาชนเป็นสำคัญ

พูดไปทำไมมี การขึ้นภาษีเหล้าบุหรี่ประเทศนี้ รู้กันมานานแล้วว่าไม่ได้หวังให้คนเลิกเหล้าบุหรี่ เพราะขึ้นกี่ทีๆ ก็ไม่เห็นเก็บภาษีได้น้อยลง เช่นครั้งนี้ กรมสรรพสามิตประเมินว่า จะมีรายได้เพิ่มปีละ 12,000 ล้านบาท ถ้าเชื่อว่าภาษีแพงทำให้คนเลิกดื่มเลิกสูบ จะประเมินแบบนั้นได้ไง

ถ้าเชื่อว่าสามารถรณรงค์ให้ประชาชนงดเหล้าเลิกบุหรี่ได้ รัฐบาลก็คงไม่ออกกฎหมายให้เอา “ภาษีบาป” 2% ไปใช้กับกองทุนกีฬา กองทุนผู้สูงอายุ อ้าว ถ้าคนไทยกลายเป็นคนดีมีศีลธรรม เลิกเหล้าเลิกบุหรี่ สุขภาพร่างกายแข็งแรงกันหมด นักกีฬาไทยก็อดเงินสนับสนุนสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ ผู้สูงอายุก็คงอดตาย คนชายขอบก็อดดูไทยพีบีเอส (ปีละ 2 พันล้าน) แถมนักรณรงค์ต้านเหล้าบุหรี่ที่ใช้เงิน สสส. (ปีละ 4 พันกว่าล้าน) ก็ตกงานหมด

เห็นไหมว่ามันย้อนแย้ง ระหว่างการหารายได้ กับการใส่ใจห่วงใยสุขภาพประชาชนยิ่งเอาภาษีบาปมาใช้ทำสิ่งดีๆ ก็ยิ่งลดเลิกยาก แต่แทนที่จะยอมรับว่าภาษีบาปมีพระคุณ รัฐบาลทุกยุคสมัยกลับปากว่าตาขยิบ ด่าคนดื่มเหล้าสูบบุหรี่ แล้วขึ้นภาษีได้ขึ้นภาษีเอา

บ้างก็ว่า คนดื่มเหล้าสูบบุหรี่เป็นภาระให้รัฐดูแลรักษา ดูตัวเลขหน่อยไหม ปีงบประมาณ 2559 กรมสรรพสามิตเก็บภาษียาสูบได้ 65,438.27 ล้านบาท ภาษีสุรา 61,652.65 ล้านบาท ภาษีเบียร์ 86,143.13 ล้านบาท สิริรวม 213,234.05 ล้านบาท (ยังไม่นับเงินเข้า สสส. กองทุนกีฬา และไทยพีบีเอสอีกหมื่นกว่าล้าน) ขณะที่งบบัตรทองรักษาประชาชน 48 ล้านคนทุกโรค ปี 2559 ใช้เพียง 147,772 ล้านบาท

นี่ถ้าเอาภาษีบาปส่งเข้าบัตรทองและประกันสังคมทั้งก้อน หมอคงไม่ต้องทะเลาะกันเพราะเงินเหลือเฟือ

ไม่ได้ว่าเฉพาะรัฐบาลนี้หรอกครับ ถ้าจำกันได้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ขึ้นภาษีเหล้าบุหรี่ แล้วก็ถูกวิจารณ์ว่า “ถังแตก” เอาเงินไปใช้ประชานิยม ว่าที่จริงทุกรัฐบาลนั่นแหละ พออยากได้เงินอุดงบ ก็โขกเหล้าบุหรี่เพราะง่ายดีแต่มีข้อสังเกตว่ารัฐบาลรัฐประหาร 2 ครั้ง ที่ยกตนคนดีมีศีลธรรม กลับเป็นเจ้าไอเดียเอาภาษีบาปไปทำบุญ ตั้งแต่ไทยพีบีเอส กีฬา ผู้สูงอายุ

ถ้าคิดแบบนี้เดี๋ยวคงมีกองทุนสารพัด จนไม่ต้องรณรงค์ลดเลิก แค่ด่าๆๆ แล้วเอาเงินถลุงกันดีกว่า

Back to top button