พาราสาวะถี

เตือนเรื่องอารมณ์และนิสัยของท่านผู้นำเหมือนกัน แต่ด้วยท่วงทำนองและผลที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง คนหนึ่งคือผู้ที่ชงแนวทางรัฐบาลแห่งชาติ ที่ถูกวิจารณ์ว่าเสนอมาผิดที่ผิดเวลา พิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่เปิดบ้านฉลองวันเกิด 92 ปีไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เสนอให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลดความโหดห้าว เพิ่มความนิ่มนวลเข้าไปอีก 20-30 เปอร์เซ็นต์


อรชุน

เตือนเรื่องอารมณ์และนิสัยของท่านผู้นำเหมือนกัน แต่ด้วยท่วงทำนองและผลที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง คนหนึ่งคือผู้ที่ชงแนวทางรัฐบาลแห่งชาติ ที่ถูกวิจารณ์ว่าเสนอมาผิดที่ผิดเวลา พิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่เปิดบ้านฉลองวันเกิด 92 ปีไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เสนอให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลดความโหดห้าว เพิ่มความนิ่มนวลเข้าไปอีก 20-30 เปอร์เซ็นต์

แต่ความเห็นตามมาทำให้ถูกด่าโดยฝ่ายประชาธิปไตยทันที นั่นก็คือ ปู่พิชัยเชื่อว่าบิ๊กตู่ถ้าปรับท่วงทำนองให้ซอฟต์ลงแล้วจะสามารถเดินตามรอย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้แน่นอน นั่นหมายความว่า หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าหัวหน้าคณะรัฐประหารสามารถรวบรวมพรรคการเมืองเป็นรัฐบาลได้

แน่นอนว่าประเด็นนี้คนส่วนใหญ่ก็มองแนวโน้มไปในทิศทางนั้น  เพียงแต่ว่ามันจะเดินไปในแบบใดเท่านั้นเอง แต่อีกหนึ่งเสียงที่เห็นต่างอย่างสิ้นเชิงคือ วีระ สมความคิด โดยหยิบยกเอาประเด็นที่บิ๊กตู่ว้ากใส่สื่อเมื่อวันก่อน ด้วยความไม่พอใจที่มีการนำเสนอข่าวของคนที่มีคดีติดตัว ซึ่งไม่รู้ว่าหมายถึงฝ่ายนปช.อันเป็นปฏิปักษ์หรือคนอื่นๆ ด้วย อยู่ตลอดเวลา

โดยวีระแสดงความเห็นอย่างดุเดือดว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคือการเป็นผู้รับใช้ประชาชน ไม่ใช่พ่อของประชาชน ไม่ใช่พ่อของสื่อมวลชน อย่าบังอาจมาแสดงอำนาจบาตรใหญ่กับสื่อมวลชน หน้าที่สื่อมวลชนเขาก็ต้องการทราบรายละเอียดของข่าว เพื่อนำเสนอต่อสาธารณะ ประชาชนส่วนใหญ่เขาไม่ได้บังคับร้องขอให้คุณเข้ามาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี

คุณทำการยึดอำนาจไปจากประชาชน คุณต้องการเข้ามาทำหน้าที่นี้เอง ดังนั้น คุณต้องอดทนอดกลั้นทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด ถ้าคุณไม่สามารถทำหน้าที่นี้ให้ดีได้ก็ลาออกไปเถอะ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีใครเสียดายคุณหรอกนะ เวลาที่ผ่านมากว่า 3 ปี ประชาชนหมดหวังกับการปฏิรูปประเทศของคุณ การลาออกและรีบคืนอำนาจให้กับประชาชนนั่นแหละ คือการคืนความสุขให้กับประชาชนอย่างแท้จริง

ไม่ได้เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมาย เพราะสไตล์ฮาร์ดคอร์ต้องเป็นคนแบบวีระนี่แหละ เพียงแต่ว่าสิ่งที่แสดงออกมานั้นจะมีผลอย่างไรต่อตัวเองหรือเปล่านั่นต้องติดตามกันต่อไป อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงเรื่องการเลือกตั้งกับการลากยาวออกไป ไม่เดินตามโรดแมปคือภายในปี 2561 จากที่คนยังไม่ค่อยเชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น แต่พิจารณาจากสถานการณ์ที่เป็นไปเริ่มจะทำให้คิดว่ามีโอกาสมากขึ้น

แม้กระทั่ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ล่าสุดก็ออกมากระตุกพร้อมกระทุ้งท่านผู้นำและชาวคณะว่า อย่าได้บิดพลิ้วเรื่องโรดแมป ตามสไตล์ของผู้นำพรรคเก่าแก่ย่อมอ้างในหลักการ โดยเจ้าตัวบอกว่า  เราเลี่ยงการจัดการเลือกตั้งไม่ได้ เพราะหากไม่มีการเลือกตั้งเชื่อว่าจะเกิดความขัดแย้งอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเจ้าตัวไม่ได้อธิบายให้ชัดเจนว่า ความขัดแย้งดังว่านั้นจะเกิดขึ้นโดยใครและกลุ่มไหน

แต่ที่น่าสนใจคือ หนนี้อภิสิทธิ์ยกเอาความที่ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก จึงควรคิดด้วยว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ได้รัฐบาลที่ซื่อสัตย์ สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้ โดยเชื่อว่าหากไม่มีอะไรขัดแย้งการเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่น แต่หากโรดแมปเลือกตั้งตามที่พลเอกประยุทธ์กำหนดเองถูกเปลี่ยนแปลง อาจกระทบความน่าเชื่อถือจากสายตาทั่วโลกได้

นั่นเป็นเพียงการมองด้วยโจทย์เพียงโจทย์เดียวคือ ท่านผู้นำไปประกาศเป็นสัญญาประชาคมโลกในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อ 2 ปีก่อน แต่คนที่มองกว้างกว่านั้นอย่าง จาตุรนต์ ฉายแสง กลับเห็นว่า การเลือกตั้งคงถูกเลื่อนออกไปช้ากว่าเดิม เพราะ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.พูดเองว่า การเขียนกฎหมายลูกมีความยากลำบากมาก ดังนั้น มีความเป็นไปได้มากที่จะใช้เวลานานเพื่อให้การเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไป

ไม่เพียงเท่านั้น บิ๊กตู่ยังได้ชี้แจงกับนักลงทุนญี่ปุ่นเองว่าการเลือกตั้งในปีหน้าจะดำเนินการต่อเมื่อกระบวนการกฎหมายพร้อมและทุกฝ่ายปรองดอง นั่นเท่ากับเป็นการเพิ่มเงื่อนไขใหม่ขึ้นมา คือถ้าให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือปรองดองเกิดขึ้นแล้วจะมีการเลือกตั้ง ถ้าพูดอย่างนี้ก็อาจจะไม่มีการเลือกตั้งไปอีกนาน เพราะที่ผ่านมารัฐบาลและคสช.ก็ไม่ได้ทำอะไรให้เกิดความปรองดองขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น ฝ่ายผู้มีอำนาจยังได้สะสมความขัดแย้ง สร้างเงื่อนไขมากมาย รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างคสช. –รัฐบาลและประชาชนที่เห็นต่าง โดยคสช.มีการใช้อำนาจที่ไม่มีการตรวจสอบ สามารถตั้งตัวเองเป็นกฎหมายและอยู่เหนือกฎหมาย รวมทั้งกระบวนการปรองดองที่ผ่านมาก็ล้มเหลวไม่เกิดผลอะไร ถ้าตั้งเงื่อนไขปรองดองก่อนแล้วจะมีการเลือกตั้งก็คล้ายกับว่า จะไม่มีการเลือกตั้งเลื่อนไปเรื่อยๆ

ยิ่งวันนี้มีความชัดเจนมากขึ้นว่า คสช.เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง และในแง่ของการสร้างความปรองดองทำให้ประเทศอยู่ในสภาพที่มีการรักษากฎหมายอย่างยุติธรรมเท่าเทียมกัน และทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายก็ไม่ได้ดีขึ้น และอาจเท่ากับว่าได้แสดงให้เห็นแล้วด้วยว่า ความพยายามที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ตามที่อ้างในการเข้ามา ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

ความจริงที่สัมผัสได้นับตั้งแต่การรัฐประหารของคสช. กรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก่อนการรัฐประหาร ปรากฏว่านอกจากสิ่งที่ประกาศว่าจะทำให้กฎหมายเป็นกฎหมาย กลับพบว่าในทางปฏิบัติไม่ได้เป็นเช่นนั้น สิ่งที่เห็นคือ เกิดการจัดการกรณีเหล่านี้ที่แตกต่างกันอย่างมาก ทำให้มีผู้ที่ถูกลงโทษอยู่ฝ่ายเดียว สภาพอย่างนี้ทำให้คนไม่เชื่อมั่นในระบบยุติธรรม เป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง เป็นอุปสรรคปรองดอง

อย่างไรก็ตาม หากมองอย่างเข้าใจสัจธรรมและตามกฎแห่งธรรมชาติเหมือนอย่างที่นักการเมืองจำนวนไม่น้อยทำใจและเข้าใจคือ ความพยายามที่จะให้การเลือกตั้งยืดออกไปให้นานที่สุด เป็นความมุ่งหมายตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเมื่อไปตอบคำถามประเทศต่างๆแต่ละครั้ง มักจะถูกบีบให้ไม่สามารถยืดออกไปเรื่อยๆ ได้อย่างไม่มีกำหนด แต่ดูเหมือนจุดมุ่งหมายนี้ยังดำรงอยู่ นั่นย่อมนำมาซึ่งบทสรุปที่ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ไม่มีผลอะไรต่อประเทศมากนักในทางการเมือง ส่วนความเชื่อถือ เชื่อมั่นด้านอื่นๆ นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

Back to top button