การเมือง(แน่)นิ่ง
ระยะนี้นักวิเคราะห์เศรษฐกิจพูดเสียงเดียวกันว่า การเมืองนิ่ง เศรษฐกิจโลกดี EEC ดึงดูดนักลงทุน ญี่ปุ่นแห่มา 600 คน มองทางไหนก็เห็นแต่ปัจจัยบวก การเลือกตั้งมีขึ้นแน่ อย่างราบรื่นในปลายปีหน้า หรือต้นปีโน้นก็ไม่เป็นไร เพราะยังไงก็ราบรื่น หมายถึงจะมีรัฐบาลนายกฯ คนนอก มาสืบทอดความเข้มแข็งและการดำเนินนโยบาย ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี
ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง
ระยะนี้นักวิเคราะห์เศรษฐกิจพูดเสียงเดียวกันว่า การเมืองนิ่ง เศรษฐกิจโลกดี EEC ดึงดูดนักลงทุน ญี่ปุ่นแห่มา 600 คน มองทางไหนก็เห็นแต่ปัจจัยบวก การเลือกตั้งมีขึ้นแน่ อย่างราบรื่นในปลายปีหน้า หรือต้นปีโน้นก็ไม่เป็นไร เพราะยังไงก็ราบรื่น หมายถึงจะมีรัฐบาลนายกฯ คนนอก มาสืบทอดความเข้มแข็งและการดำเนินนโยบาย ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี
ไม่มีตรงไหนผิดหรอก มองภาพกว้างเป็นเช่นนั้น เป็นภาพที่ล็อกมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญผ่านประชามติ เพียงแต่สังคมทั่วไปเพิ่งตระหนัก เพิ่งเห็นภาพชัดตอนยิ่งลักษณ์หนี ทำให้หุ้นพุ่งพรวดขึ้นทันที
ปัดโธ่ ยิ่งลักษณ์อยู่หรือไป ก็ทำอะไรโรดแมปนายกฯ คนนอก ส.ว.แต่งตั้ง กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ฯลฯ ไม่ได้หรอก พรรคเพื่อไทยแน่แค่ไหนก็ไม่มีทางชนะเลือกตั้ง ได้ถึง 200 เสียงยกให้เป็นเทวดา ทำได้แค่สร้างแรงกระเพื่อมเท่านั้น
ฉะนั้นที่ว่าการเมืองนิ่ง ก็แน่นิ่งมาตั้งแต่วันที่ 7 สิงหา 2559 เพียงแค่ใช้เวลา “นวด” ให้คนไทยค่อยๆ เห็นประจักษ์ ค่อยๆ ทำใจยอมรับ หรือปลงเสียเถอะว่า ประเทศนี้จะไม่มีวันกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ถึงมีเลือกตั้ง ก็ไม่ใช่การเลือกตั้งอย่างที่คุ้นเคยมา 20-30 ปี ที่พรรคการเมืองแข่งกันเป็นรัฐบาล
ครั้งนี้เลือกยังไง ก็รู้อยู่แล้วว่าใครจะเป็นรัฐบาล ใครจะกุมอำนาจ ใครจะกำหนดนโยบาย ใครจะแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ฯลฯ
ช่วงเวลาจากนี้จนถึงเลือกตั้ง ก็เพียงแต่ชักนำให้สังคมคล้อยตามว่า พรรคการเมืองควรเห็นแก่ประเทศชาติ อย่างพรรคชาติไทยพัฒนา อย่างประภัตร โพธสุธน ดื้อดึงไปก็ไร้ผล เพราะกลไกทุกอย่างวางไว้แล้ว ถ้าไม่หนุนนายกฯ คนนอก ประเทศจะปั่นป่วน
นี่ละครับ การเมืองนิ่งของนักวิเคราะห์ ซึ่งไม่เถียงว่านิ่งสนิท ที่นี่ประเทศไทย แม้มีคนไม่ชอบรัฐประหารหลายล้านคน แต่ก็มีลุงวิศวะ กฟผ.คนเดียววางระเบิดก่อกวน นักศึกษา นักวิชาการ ที่เรียกร้องเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ก็ทำได้แค่วิพากษ์วิจารณ์ ด้วยปัจจัยหลายประการ สังคมยุคนี้ไม่มีทางเกิด 14 ตุลา
อำนาจที่เป็นปึกแผ่น ในโครงสร้างระดับบน รัฐราชการ ทหาร ตำรวจ องค์กรอิสระ ควบคุมประเทศได้เบ็ดเสร็จ แม้ดูจากประชามติรัฐธรรมนูญที่มีคนโหวตสวนถึง 10 ล้านเสียง เทียบกับคนหยวนยอม 16 ล้านคน แต่คนไม่ชอบ ไม่พอใจ คัดค้าน ฯลฯ ก็มองไม่เห็นทางออก ไม่รู้จะต่อต้านอย่างไร ในขณะที่ตัวเองมีภาระต้องทำมาหากิน
ความได้เปรียบเบ็ดเสร็จเช่นนี้ ที่คุยได้ว่า ใครไล่ก็ไม่ไป แหงสิครับ คนอยากไล่ไม่มีปืนไม่มีกฎหมายในมือ
ภาวะอับจนมองไม่เห็นทางออก ทำให้คนไม่น้อยฝากความหวังกับ คสช. ว่า “การเมืองนิ่ง” อำนาจเข้มแข็ง จะสามารถนำประเทศฝ่าฟันปัญหาเศรษฐกิจ อย่างน้อยก็ดีกว่าเกิดวิกฤติ สมมติเช่นมีใครอยากเป็นวีรชนลุกฮือ “ล้มเผด็จการ” บ้านเมืองคงฉิบหายแหงๆ เพราะหุ้นตก ต่างชาติถอนทุน
ขณะที่ผู้มีอำนาจก็หวังว่าภาวะเช่นนี้ จะช่วยปลูกฝังความมั่นคงยืนยงอีก 20 ปี ทุ่มงบอัดฉีด ประคองเศรษฐกิจให้ดี ถึงมีคนไม่พอใจมากแค่ไหน ก็ไม่สามารถทำอะไรได้
นี่คือการเมืองนิ่ง อำนาจมั่นคง ทั้งที่ความขัดแย้งแตกแยกไม่ได้ลดลง แต่อยู่ในภาวะจำใจ เราอาจจะอยู่กันไปแบบนี้อีกปี สองปี สามปี ถ้าโชคดี ก็คงไม่เกิดเหตุผันผวนอะไร แต่ถ้าพลิกผัน ก็คาดเดายากเหมือนกันว่าออกหน้าไหน