TRUE กับความยืดหยุ่นทางการเงิน
พลันที่บอร์ดบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ลงมติให้ขายและโอนทรัพย์สินรายได้ จากทรัพย์สินและการให้สิทธิในการเช่าทรัพย์สินบางรายการของบริษัทย่อย 4 แห่ง (บริษัท เอเชีย ไวร์เลส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (AWC), บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC), บริษัท ทรู มูฟ จำกัด (TMV) และบริษัท ทรูอินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด (TICC) มูลค่ารวม 65,000-72,000 ล้านบาท เข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF)
พลวัตปี 2017 : สุภชัย ปกป้อง (แทน)
พลันที่บอร์ดบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ลงมติให้ขายและโอนทรัพย์สินรายได้ จากทรัพย์สินและการให้สิทธิในการเช่าทรัพย์สินบางรายการของบริษัทย่อย 4 แห่ง (บริษัท เอเชีย ไวร์เลส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (AWC), บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC), บริษัท ทรู มูฟ จำกัด (TMV) และบริษัท ทรูอินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด (TICC) มูลค่ารวม 65,000-72,000 ล้านบาท เข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF)
ประเด็นคำถามจึงตามมาทันทีว่า 1)TRUE จะได้หรือเสียอะไรไปมากน้อยเพียงใด เมื่อตัดขายสินทรัพย์ให้ DIF เพราะนั่นหมายถึง TRUE จะปรับเปลี่ยนสถานะจาก “เจ้าของ” มาเป็น “ผู้เช่า” แทน 2)TRUE จะบันทึกรายได้และกำไร จากการขายสินทรัพย์ดังกล่าว 3)TRUE จะนำเงินที่ได้ไปทำอะไรบ้าง 4)TRUE จะต้องเพิ่มทุนใน DIF หรือไม่
ในเชิงกลยุทธ์การขายสินทรัพย์ครั้งนี้ ถือเป็นการสร้าง “ความยืดหยุ่นทางการเงิน” ได้อย่างมีนัยสำคัญ จากอดีตถึงปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลประกอบการของ TRUE ถูกกดดันจากต้นทุนทางการเงิน โดยเฉพาะภาระดอกเบี้ยจ่ายแต่ละปี ตลอดจนการบันทึกค่าเสื่อมฯ จากสินทรัพย์ของ TRUE เอง
นั่นทำให้เป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้ลดทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของ TRUE แม้ว่าปัจจุบันปัญหานี้ถูกคลี่คลายไปบางส่วนแล้วก็ตาม..!
ดังนั้นการโอนสินทรัพย์จาก TRUE ไปสู่ DIF ด้วยมูลค่าสูงดังกล่าว ทำให้ภาระหนี้สินลดลง และช่วยลดแรงกดดันต่อการขยายการลงทุนของ TRUE เพราะรายได้จากการขายสินทรัพย์ครั้งนี้ ทำให้ TRUE มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งขึ้นจากการปรับลดงบดุลไปทันที
สำหรับเงินที่ได้จากการขายสินทรัพย์ครั้งนี้ TRUE มีแผนใช้เงิน 3 ส่วนด้วยกัน
1)นำไปชำระหนี้ ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) จะลดลงเหลือ 1.0-1.1 เท่า จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.7 เท่า
2)ลงทุนโครงการใหม่ อาทิเช่น คอนเทนต์ดิจิทัล และการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ ไม่ว่าจะเป็น 2600 MHz, 850 MHz และ 1800 GHz ที่กสทช.กำหนดประมูลช่วงต้นปีหน้า โดย TRUE มีคลื่นความถี่ที่เพียงพอช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จึงมีความจำเป็นต้องเน้นดำเนินกลยุทธ์การเติบโตใหม่ๆ เพื่อสร้างกระแสเงินสดให้มากขึ้น
3)การจองซื้อหน่วยลงทุน มีการประเมินกันว่าอยู่ในช่วงตั้งแต่ 11,200-24,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ดีบริษัทย่อยของ TRUE ดังกล่าว จะต้องมีการเช่าและเช่าช่วงทรัพย์สินจาก DIF มูลค่าประมาณ 94,300 ล้านบาท ระยะเวลา 16 ปี รวมทั้งขยายระยะเวลาการเช่าสินทรัพย์ 8 ปี มูลค่ารวม 55,200 ล้านบาท
นั่นจึงกลายเป็นตัวกดดัน EBITDA Margin ของ TRUE ลดลงเหลือ 11.5% จาก 15% แต่ผลกระทบต่อกำไรสุทธิ TRUE จะได้รับการชดเชยจากภาระดอกเบี้ยที่ลดลงและกำไรพิเศษจาการขายสินทรัพย์เข้า DIF ดังกล่าว