กล่อง+เงิน
งบการเงินงวดสิ้นงวดปี 2017 ของสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (แมนฯ ยู) เจ้าของฉายา ปีศาจแดง ที่ลือลั่นออกมาแล้ว มีรายได้เพิ่มมาก แต่กำไรลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
งบการเงินงวดสิ้นงวดปี 2017 ของสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (แมนฯ ยู) เจ้าของฉายา ปีศาจแดง ที่ลือลั่นออกมาแล้ว มีรายได้เพิ่มมาก แต่กำไรลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน
ตัวเลขที่ย้อนแย้ง มีผลลัพธ์ทำให้ราคาหุ้นย่อตัวลงมาจากจุดสูงสุดเหนือ 18 ดอลลาร์ต่อหุ้น มาปิดที่ล่าสุดต่ำกว่า 17.50 ดอลลาร์ต่อหุ้น ในเชิงรายได้ถือว่าเป็นปีทองของสโมสรฟุตบอลอาชีพที่เป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนใน 2 ตลาดหุ้นแห่งนี้ เพราะสามารถสร้างรายได้รวมเป็นสถิติใหม่ของบริษัทที่ระดับ 581 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง
รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาก สัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกจากความสำเร็จในสนามแข่งขันของทีม ซึ่งฤดูกาลที่ผ่านมาคว้าถ้วยใบเล็กมา 3 ใบ และฟอร์มโดยรวมของทีมเริ่มกลับมาน่าเกรงขามอีกครั้ง
รายได้หลักที่เพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษมาจากรายได้จากถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ที่รับส่วนแบ่งจากการเข้ารอบลึกๆ หลายรายการ จนได้รับมากถึง 194.1 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้นถึง 53.7 ล้านปอนด์จากปีก่อน หรือ 38.2% รายได้ที่โดดเด่นถัดมาได้แก่รายได้จากการขายของที่ระลึกในร้านค้า และอื่นๆ มากถึง 275.5 ล้านปอนด์ ในขณะที่รายได้จากการขายตั๋วเข้าชม ทรงตัวที่ระดับ 111.6 ล้านปอนด์
หลายคนอาจอ้างว่า การมาของผู้จัดการทีมที่มีค่าตัวแพงสุดในโลก ชาวโปรตุกีส โชเซ่ มูรินโญ่ แค่ปีเดียว สามารถทำให้ทีมยกระดับมูลค่ามาได้ถึงขนาดนี้ แต่นั่นถูกเพียงแค่ส่วนเดียว เพราะ หากทีมผู้บริหารชั้นบนที่สูงขึ้นกว่าตัวผู้จัดการทีม ไม่ยอมรับความยืดหยุ่นของการสร้างแบรนด์ที่เกิดจากการผสมผสานหลายปัจจัยเข้าด้วยกันแล้ว …ก็คงไม่มีวันนี้
สโมสรฟุตบอลอาชีพในปัจจุบัน มีรากฐานความสำเร็จทางการตลาดและการเงินจากบูรณาการถึง 5 ด้านของการบริหารที่ต้องมีดุลยภาพกัน ซึ่งเกิดจากองค์ประกอบ 1) การซื้อขายนักเตะ 2) รายได้จากค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขัน 3) รายได้จากผู้สนับสนุนทางการตลาด 4) รายได้จากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ หรือเน็ต (ที่นับวันจะยิ่งทำกำไรมากขึ้นเรื่อยๆ) หรือเครือข่ายโทรคมนาคมอื่นๆ และ 5) รายได้จากการขายสินค้าที่ระลึกจากแฟรนไชส์ร้านค้าทั่วโลกความสำเร็จจากรายได้ที่พุ่งกระฉูดเป็นอันดับหนึ่งของโลก ถูกหักล้างจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นแรงเช่นกัน
ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นแรงสุด ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายจากการซื้อนักเตะที่ค่าตัวเฟ้อจัดอย่างพอล ป็อกบา เพราะค่าใช้จ่ายนักเตะเพิ่ม 13% เป็น 263.5 ล้านปอนด์ จากเดิม 232.2 ล้านปอนด์ แต่มาจากค่าใช้จ่ายทางด้านการบริหารจัดการที่พุ่งกระฉูดแซงอัตราการเติบโตของรายได้ มากถึง 511.5 ล้านปอนด์ เพิ่มจากปีก่อนที่มีแค่ 74.7 ล้านปอนด์ หรือเพิ่มขึ้น 684%
เจาะลึกในรายละเอียด รายจ่ายที่เพิ่มแรง ส่วนหนึ่ง เกิดจากการเร่งใช้หนี้เร็วขึ้น จนกระทั่งล่าสุด ยอดหนี้ของบริษัทลดลงเหลือเพียงแค่ 213.1 ล้านปอนด์ ลดลงจากปีก่อนที่ระดับ 254.9 ล้านปอนด์ถึง 41.8%
ดังนั้น กำไรสุทธิที่ลดลงเหลือแค่ 39.2 ล้านปอนด์ จากปีก่อน 48.6 ล้านปอนด์ จึงไม่ได้บอกถึงสุขภาพที่ลดลงของสโมสรแต่อย่างใด หากสะท้อนถึงความสามารถทางการเงินของฝ่ายบริหารที่สร้างรากฐานเพื่ออนาคตได้อย่างดีเยี่ยม
โดยเฉพาะคนที่ถือหุ้นใหญ่อย่างตระกูลเกลเซอร์ ชาวอเมริกัน ที่กู้เงินเข้ามาลงทุนแบบ LBO และใช้วิศวกรรมการเงินหลายรูปแบบ และคัดเลือกกรรมการบริหารอย่างเหนือชั้น จนมูลค่าทีมในปัจจุบันเพิ่มขึ้นมากกว่า 3.2 เท่า หรือ 320% เมื่อเทียบกับ 12 ปีที่ผ่านมาด้วยเงินแค่ 880 ล้านปอนด์
ปีที่ผ่านมาแบรนด์ ไฟแนนซ์ บริษัทที่ปรึกษาการเงิน เผยผลสำรวจมูลค่าทีมสโมสร “แบรนด์ ฟุตบอล ไฟแนนซ์ เซอร์เวย์” ล่าสุด แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทวงบัลลังก์อันดับ 1 คืนมาแบบทบต้นทบดอก ด้วยมูลค่าแบรนด์ของทีมกว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 63% เหนือยักษ์ใหญ่แห่งสเปน เรอัลมาดริดและ บาร์เซโลน่า หรือ ยักษ์ใหญ่เยอรมนีอย่างบาเยิร์น มิวนิค
กุญแจความสำเร็จที่ แบรนด์ ไฟแนนซ์ ระบุถึงเบื้องหลังว่า มาจากการสร้างสรรค์จัดการของ เอ็ด วู้ดเวิร์ด เจ้าของฉายาใหม่ “คริสเตียโน โรนัลโด้ ในโลกการตลาดของฟุตบอล” สามารถใช้การสร้างฐานแฟนบอลทั่วโลก และสัญญากับผู้สนับสนุนในตัวเลข และมูลค่าที่ไร้คู่แข่ง
วู้ดเวิร์ด นำ “ปีศาจแดง” เซ็นสัญญากับสปอนเซอร์ระดับโลก อย่าง ค่ายรถยนต์ เชฟโรเล็ต เป็นสปอนเซอร์หน้าอกทีม ด้วยมูลค่าปีละ 47 ล้านปอนด์ (ราว 2,350 ล้านบาท) มากกว่าเดิม 2 เท่า นอกจากนี้ยังเซ็นสัญญากับ ADIDAS แทน ไนกี้ มูลค่า 750 ล้านปอนด์ (37,500 ล้านบาท) ระยะเวลา 10 ปี มากกว่าเดิม 3 เท่า
เช่นกัน นิตยสาร Forbes ของสหรัฐฯ ประกาศให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ขึ้นมาครองตำแหน่งสโมสรที่มีมูลค่าทางการตลาดมากที่สุดของโลก จำนวน 2,860 ล้านปอนด์ หรือราว 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.25 แสนล้านบาท) เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่กลับมาครองบัลลังก์นี้ กระโดดขึ้นมาจากระดับ 2,030 ล้านปอนด์ในฤดูกาลแข่งขัน 2015-2016 ที่ผ่านมา
ส่วนบริษัทบัญชีระดับโลก KPMG ก็บอกว่า แมนฯ ยู แซงขึ้นไปเป็นสโมสรฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก จากปัจจัยผลประกอบการทางด้านการเงินของ 39 ทีมฟุตบอลในยุโรป โดยดูจากความนิยมทางโซเชียลมีเดียด้วย จากราคาประเมินมูลค่ามากกว่า 3,100 ล้านยูโร หรือ 2,700 ล้านปอนด์ (เทียบกับที่ตระกูลเกลเซอร์ซื้อมาในราคาแค่ 880 ล้านปอนด์เมื่อ 12 ปีก่อน)
ส่วน Deloitte สำนักบัญชีอันดับสองของโลกประกาศเมื่อต้นปีนี้ว่าแมนฯ ยู กลับขึ้นสู่อันดับหนึ่งของโลกอีกครั้งในรอบ 13 ปี บนความสำเร็จเหล่านี้ของทีมที่กำลังประกาศศักดาใหม่ จะเห็นได้ว่าเป็นความสำเร็จในระดับ “ไต่เส้นลวด” เพราะในความหวือหวาของธุรกิจที่มีเงินสดเหลือเฟือ และมีสีสันเร้าใจประดุจ “ศาสนาใหม่ของทุนนิยม” มีความเปราะบางซ่อนอยู่มากมาย
ความสามารถทำกำไร คือจุดเปราะบางสุด เพราะสโมสร แมนฯ ยู มีกำไรเบื้องต้นจากการดำเนินงานแค่ 8.0% มีอัตรากำไรสุทธิแค่ 2.59% มี ROA แค่ 1.0% ส่วน ROE ต่ำมากแค่ 2.9%
ที่น่าสนใจคือ สัดส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น หรือ D/E ที่แม้จะลดลงมากในปีนี้ ก็ยังมากกว่า 1.06 เท่าอยู่ดีเส้นทางของสโมสรฟุตบอลที่มีแฟนคลับมากสุดในโลกอย่าง แมนฯ ยู ยังมีรายละเอียดให้ศึกษาเชิงธุรกิจอีกมากว่ากล่องและเงินจะไปด้วยกันมากน้อยแค่ไหน นอกเหนือจากสีสันในสนามฟุตบอล